เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์ : รถไฟทางคู่ เส้นทางชุมพร-ระนอง ส่งเสริมการเดินทางเชื่อม 2 ฝั่งทะเล

28 ส.ค. 2561 | 10:41 น.
69598595 001 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) สัญจรในภาคใต้ช่วงวันที่ 20-21 สิงหาคมนี้โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางชุมพร-ระนอง ได้รับการยกระดับความสำคัญให้เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้รับการบรรจุไว้ในแผนดำเนินการด้านการพัฒนาระบบรางในโซนพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งรถไฟทางคู่เส้นทางนี้ปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นแล้วเสร็จ จะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่จะช่วยส่งเสริมการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างฐานการผลิตในโซนพื้นที่ภาคใต้ของไทยออกไปสู่ประตูการค้าของประเทศที่เกิดจากการเชื่อมโยงการเดินทางระหว่าง 2 ฝั่งทะเล คือฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยในรูปแบบการเดินทางด้วยรถไฟ

รถไฟทางคู่เส้นทางชุมพร-ระนองมีระยะทางรวม 109 กิโลเมตร จำนวน 9 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 4 อำเภอ 15 ตำบล โดยตามแนวเส้นทางจะมีทั้งทางยกระดับและทางลอดอุโมงค์ โดยมีจุดก่อสร้างอุโมงค์จำนวนมากถึง แห่ง ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร อุโมงค์ระยะสั้นที่สุดมีความยาว 370 เมตร ส่วนอุโมงค์ที่ยาวที่สุดมีความยาว 1,815 เมตร ใช้ความเร็ว 80-160 กม./ชม. วงเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท
9659859 โดยตามผลการศึกษาของสนข.ได้มีการประเมินราคาเบื้องต้น และความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและการเงิน จะมีการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างทางรถไฟและสถานีคิดเป็นพื้นที่รวม  3,840 ไร่ โดยพบว่ารวมราคาประมาณการเวนคืนที่ดิน 1,033 ล้านบาท สิ่งปลูกสร้าง 254 อาคาร รวมใช้งบเวนคืนทั้งสิ้น 1,640 ล้านบาท มูลค่าการก่อสร้างงานโยธากว่า 2.9 หมื่นล้านบาท งบลงทุนในระหว่างเปิดให้บริการ  1.6 หมื่นล้านบาท รวมเป็นงบประมาณการลงทุนทั้งสิ้นกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท

พบว่ามีผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์(EIRR) 8.55% อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน B/C Ratio 0.68 ผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านการเงิน ที่มีผลตอบแทนทางด้านการเงิน(FIRR) 2.01%  อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน B/C Ratio 0.39
002 ทั้งนี้สนข.ได้เริ่มกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการจัดปฐมนิเทศโครงการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 การประชุมสัมมนารับฟังความเห็น (Focus Group) ช่วงเดือนพฤศจิกายน- ธันวาคม 2560 การนำเสนอผลการศึกษาและรายงานฉบับสุดท้ายไปเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา

จุดเด่นของรถไฟทางคู่เส้นทางนี้ในด้านวิศวกรรมจะมีการออกแบบสถาปัตยกรรมของอาคารสถานีให้เป็นจุดสังเกตใหม่ในพื้นที่โดยนำสถาปัตยกรรมท้องถิ่นมาร่วมออกแบบเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและให้เป็นตามหลักมาตรฐานสากล รวมทั้งการจัดระบบการจราจรโดยรอบสถานี การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยหลังจากครม.สัญจรรับทราบตามผลการศึกษาเรียบร้อยแล้วคงต้องตามลุ้นกันต่อไปว่ารถไฟทางคู่เส้นทางนี้จะได้รับการผลักดันให้เข้าสู่กระบวนการนำเสนอครม.เห็นชอบให้เปิดประมูลก่อสร้างในปีไหนเพื่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของโซนพื้นที่ภาคใต้กันต่อไป
033
|เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์: เซกชั่น เศรษฐกิจมหภาค
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 12 ฉบับ 3395 ระหว่างวันที่ 26-29 ส.ค2561