"เทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ" ... 'ดวงฤทธิ์' ลั่น! ออกแบบเอง 100%

29 ส.ค. 2561 | 05:57 น.
290861-1256

กลายเป็นเรื่องดราม่าในโลกโซเชียล เมื่อบอร์ดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้ไฟเขียวกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก เป็นผู้ชนะการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยค่าจ้างออกแบบ 329.5 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้ง ๆ ที่ได้คะแนนอันดับ 2 ห่างจากกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเอสเอ ที่ได้อันดับ 1 อยู่ที่ 2.5 คะแนน


BE1CE565-A0FF-4DE6-AE2D-412F6A95D8C7

เนื่องจากกลุ่มที่ปรึกษาเอสเอ ไม่ได้ยื่นใบเสนอด้านราคาตามที่กำหนดไว้ใน TOR ทำให้แพ้ไป ลามไปถึงการวิจารณ์เรื่องการก๊อปปี้แบบของผู้ชนะด้วย ... เจ้าของแบบคิดเห็นอย่างไร? อ่านได้จากสัมภาษณ์ นายดวงฤทธิ์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด (ดีบีเอแอลพี)


uf29p1KA

ผมออกแบบเอง 100%
การประกวดแบบจริง ๆ เริ่มตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ในการเปิดครั้งแรก ก็ได้ข่าวว่า บริษัทใหญ่ ๆ ไม่มีใครสนใจมายื่น เนื่องจากค่าจ้างออกแบบค่อนข้างต่ำ แต่ในสเกลของบริษัทขนาดเรา ก็คิดว่าพอทำไหว พอเปิดครั้งที่ 2 เรา เลยไปยื่นประกวดแบบ และก็มีเจ้าอื่น ๆ ตามมา การที่เราร่วมมือกับ NikkenSekkei (นิเคนเซกเก) ซึ่งเป็นบริษัทสถาปนิกที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ในญี่ปุ่น และอันดับ 2 โลก ทำคอนซอร์เตียมเพื่อยื่นประกวดแบบในครั้งนี้ แต่ด้วยค่าออกแบบที่น้อยมาก เขาก็เลยส่งแค่แอร์พอร์ตทีมเข้ามาทำงานร่วม แล้วถามว่า ผมดีไซน์ไหวไหม เรามีประสบการณ์อยู่แล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร แบบที่ออกมา ผมออกแบบเอง 100% และเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้แสดงฝีมือในการออกแบบสนามบิน ทีมนิเคนจากญี่ปุ่นไม่ได้แตะแบบเลย แอร์พอร์ตทีมของเขามาช่วยเราดูเรื่องโอเปอเรชันให้เท่านั้น ว่าแบบที่ผมดีไซน์สอดคล้องกับการปฏิบัติการในสนามบินและได้สแตนดาร์ดระดับโลกเท่านั้น


V9lz6AdQ

ยัน! ได้งานเป็นไปตาม TOR
ผมได้งานนี้ ยืนยันว่า ไม่ได้จ่ายอะไรสักบาท ผมซื่อมาก ไม่ล็อบบี้ใครเลย ถามว่ามีคนรู้จักใน ทอท. ไหม บอกเลยว่า ผมก็รู้จักผู้บริหาร แต่ผมก็บอกเขาเลยว่า ถ้าแบบผมไม่ดี ก็อย่าเลือก ทอท. ก็มีแนวคิดไม่อยากให้เกิดคอร์รัปชัน เลยทำให้เราสะดวกใจในการทำงานนี้ เพราะปัญหาที่ผ่านมาของงานราชการ คือ มักมีการวางตัวไว้ก่อนแล้ว

แบบของเราได้ที่ 2 ก็ถอดใจไปแล้วด้วยซ้ำ แต่ตอนเปิดซอง เอกสารของทีมที่ได้อันดับ 1 เอกสารเขาผิดไปจาก TOR ก็ทำให้ขาดคุณสมบัติ ก็เลยมีการเรียกทีมผมเข้าไปต่อรองราคา

ผมก็เสียใจกับเขา แต่อยากให้มองในอีกมุมหนึ่ง ก็จะเห็นว่า งานภาครัฐเรื่องการดูแลเอกสารให้เป็นไปตาม TOR เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะโครงการระดับชาติจะผิดพลาดไม่ได้


03 COURT+LA

คอนเซ็ปต์นิเวศป่า
การทำงานของผมยึดถือตาม TOR ทุกอย่าง ตั้งแต่การออกแบบที่ ทอท. กำหนดไว้ว่าจะต้องออกแบบ โดยคำนึงถึงวิธีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ได้อย่างรวดเร็ว มีฟังก์ชันการใช้งานต่าง ๆ ตามที่กำหนด ดีไซน์ของผมก็เป็นการตีความเป็นไทยในอีกแง่มุมหนึ่ง คนอาจจะคิดว่า ความเป็นไทยต้องมีเสาหรือลวดลายไทย แต่ผมมองว่า ควรเป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งเป็นกระแสปัจจุบันและไม่เอาต์ จึงมีแนวคิดออกแบบอาคารให้สอดรับกับความเป็นไทยในมุมมองใหม่ ไม่ใช่แค่วัฒนธรรม

ทำให้การออกแบบของผม จึงอยู่ในคอนเซ็ปต์ Forest Airport Terminal มีการจัดพื้นที่บางส่วนสร้างระบบนิเวศป่า สร้างความร่มรื่น นำระบบนิเวศมาเป็นองค์ประกอบ โดยทางเชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสารกับอาคารคอมเมอร์เชียล จะมีการสร้างระบบนิเวศ Tropical Forest มีป่าจริง แม่น้ำ น้ำตก เป็นแลนด์สเคปบนพื้นที่ 1.6 หมื่น ตร.ม. มีผีเสื้อ แต่ไม่มีนก ซึ่งจะเป็นระบบนิเวศแบบปิด (ไม่ให้เข้า) แค่สร้างความรู้สึกร่มรื่น ใกล้ชิดธรรมชาติ ให้แก่ผู้เดินทางและผู้ทำงานในสนามบิน ส่วนงานเสา นำไม้มาซ้อนเป็นชั้น เปรียบเสมือนต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านสาขา เหมือนเป็นร่มเงา รู้สึกเหมือนเดินเข้าป่า

ทั้งนี้ ตัวเสาก็จะเป็นคอนกรีต-เหล็ก แต่มีการใช้ไม้มากรุไว้ด้านนอก แล้วไม่ที่นำมาใช้ก็เป็นไม้เซดาร์ที่ราคาไม่แพง และเป็นไม้จากป่าปลูกที่หาได้ทั่วโลก ส่วนที่มีการกังวลเรื่องมด ปลวก และการดูแลรักษา ผมบอกได้เลยว่า ไม่ต้องกังวล เพราะด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด ทั้งเสาจริงก็จะโค้งเบา ไม่ได้ดูหนาเหมือนในแบบเบื้องต้นที่เห็นด้วย

ส่วนช่วงของเสากว่า 200 เมตร ข้อดีคือ ก่อสร้างได้เร็ว ตามที่ TOR ระบุไว้ เพราะโครงสร้างทำเป็นชิ้นแล้วมาประกอบ จะทำให้ก่อสร้างได้เร็ว การทำซ้ำก็ทำได้มาก และค่าจ้างถูกกว่า นอกจากนี้ แบบของเรายังมีช่องว่างใต้อาคารสำหรับการบำรุงรักษาระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ หรือ APM ได้ด้วย


"ซ้อนไม้" ผมมีผลงานอยู่แล้ว
ใครที่เคยติดตามผลงานของผมก็จะเข้าใจ เพราะงานไม้ที่ซ้อนเป็นชั้น ๆ ผมก็ใช้ในการออกแบบอยู่แล้ว และเป็นคนหมกมุ่นเรื่องงานไม้มาก และหลายผลงานที่ใช้งานไม้ซ้อนเป็นชั้น ๆ ก็มีงานที่ผมได้รางวัลมากมาย อาทิ ล็อบบี้โรงแรมเดอะนาคา ภูเก็ต หรือแม้แต่โรงแรมที่ศรีลังกา ก็จะมีอิลิเมนต์นี้พอควร การที่มีกระแสออกว่า ผมก๊อบปี้แบบคนอื่น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะพิพิธภัณฑ์สะพานไม้ในญี่ปุ่นที่มีการแชร์กัน ผมก็เห็นพร้อมกับที่มีการแชร์กัน

ด้วยความที่ผมมีเวลาในการเข้าประกวดแบบเพียง 2 เดือน และเริ่มต้นจากศูนย์ ดังนั้น ตอนผมสเกตซ์แบบก็ต้องนึกถึงงานไม้ที่ผมหมกมุ่นและเคยทำมาแล้ว มาใช้ในการดีไซน์ครั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่ได้ไปลอกแบบใครมา ผมก็อยู่ในแวดวงการออกแบบมากว่า 30 ปี มีผลงานระดับโลกมาแล้ว


เน้นฟังก์ชันใช้งาน
แบบของผมสวยหรือไม่สวย ก็เป็นเรื่องแล้วแต่มุมมองของคน ก็ไม่ว่ากัน ขึ้นกับความชอบ แต่ความสำคัญของการออกแบบนี้ คือ การทำให้เกิดฟังก์ชันการปฏิบัติการในสนามบินที่ดี สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้งานเป็นสำคัญ ดังนั้น การออกแบบของผม จึงเน้นเรื่องของ Flow ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของผู้โดยสารให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การนำเทคโนโลยีที่มีระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวของคน เพื่อช่วยในการบริหารจัดการสนามบิน

การออกแบบ Gate ประตูขึ้นเครื่องบิน ก็จะสามารถโหลดผู้โดยสารพร้อมกันได้ 2 คน คือ แยกจุดตรวจบัตรโดยสารระหว่างผู้โดยสารชั้นธุรกิจและประหยัดออกเป็น 2 ประตูไขว้กัน ต่างจากปัจจุบันที่จะตรวจผู้โดยสารได้ทีละคน โดยตรวจผู้โดยสารชั้นธุรกิจก่อน ทั้งการออกแบบก็จะเป็นไปในลักษณะสวิงเกต โดยมีการยืดหยุ่นให้สามารถรองรับเครื่องบินได้ทุกประเภท (มัลติพัล แอร์คราฟต์) ไม่ใช่เครื่องเอ 380 จะต้องไปเทียบที่เกตที่กำหนดไว้เท่านั้น เพื่อให้การออกแบบที่เกิดขึ้นแน่ใจว่าจะเป็นสนามบินทันสมัยที่สุด โดยการออกแบบ Flow ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ยังต้องทำให้ผู้โดยสารเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่หลงทาง เราประเมินว่าหลังจากเปิดให้ขึ้นเครื่อง ก็จะใช้เวลาราว 7 นาที ในการโหลดคน จากปัจจุบันใช้เวลาราว 20 นาที


MCMhefVg

ส่วนการออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบิน ผมก็ออกแบบพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะผมเคยออกแบบศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์มาก่อน รู้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นอย่างไร การออกแบบพื้นที่ในส่วนนี้ก็จะไม่แออัดเหมือนปัจจุบัน และตอบโจทย์กับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ

ขั้นตอนต่อไป รอจดหมายยืนยันอย่างเป็นทางการจาก ทอท. จากนั้นผมมีเวลา 300 วัน ในการเขียนแบบก่อสร้าง เนื่องจากวันนี้เป็นเพียงแบบร่างขั้นต้น ต้องมีการพัฒนาแบบ จนถึงเขียนแบบก่อสร้างประมูลงานได้ ซึ่ง ทอท. ตั้งเป้าหมายว่าจะก่อสร้างอาคารใหม่นี้ปลายปี 2562 ให้แล้วเสร็จในปลายปี 2564


……………….
สัมภาษณ์พิเศษ โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,396 วันที่ 30 ส.ค. ถึง 1 ก.ย. 2561 หน้า 22

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทอท. แจง 5 ประเด็น เคลียร์ปม S.A. แพ้ฟลาว์เทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ
เปิด 4 แบบเทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ ทอท. แจงยิบไฟเขียว “ดวงฤทธิ์” คว้างาน


e-book-1-503x62-7