2 กูรูออกโรงติง โมเดลข้าวธ.ก.ส. "ปลุกผีทุจริตรอบใหม่"

30 ส.ค. 2561 | 10:55 น.
เมื่อธนาคารเพื่อการ เกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดโมเดลข้าว ในโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก หรือ “จำนำยุ้งฉาง” ปีการผลิต 2561/2562 ที่จะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนนี้ ปริมาณเป้าหมาย 2 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อกว่า 22,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งให้สหกรณ์-สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) เข้าร่วมโครงการรวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิกแล้วนำไปเก็บหรือฝากไว้ที่ยุ้งฉางที่เป็นคลัง/โกดังเช่าจากเอกชนได้นั้น

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ 2 กูรูที่มีความรู้เรื่องข้าว และปัจจุบันยังนั่งในตำแหน่งสำคัญในการบริหารข้าวครบวงจรของรัฐบาล ได้แก่ “รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร” นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) และ “รศ.สมพร อิศวิลานนท์” นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติว่า มีมุมมองต่อโครงการนี้อย่างไร
เบื้องหลังมีกลิ่นตุ

รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้ข่าวว่ามีเบื้องหลังไม่ค่อยดีเท่าไรนัก ธุรกิจสหกรณ์ไม่ควรเป็นธุรกิจเก็งกำไร ไม่มีเหตุผลจะทำ เพราะถ้าโกดังน้อยก็ซื้อข้าวจากเฉพาะสมาชิกของตัวเองก็เพียงพอแล้ว นโยบายนี้ไม่ใช่แก้มลิง แล้วลิงกลืนเข้าไปท้องใคร ใครกิน ใครอิ่ม ลิงตัวไหน เหลวไหล ใช้ “สหกรณ์” และ “เกษตรกร” เป็นข้ออ้าง ในการทำมาหากิน สหกรณ์จึงไม่เติบโต ไม่มีวันพัฒนา ไม่มีวันเข้มแข็ง หากจะอาศัยช่องทางแบบนี้เป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ส่วนตัว

[caption id="attachment_309546" align="aligncenter" width="213"] รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร[/caption]

"สกต.นำเงินที่ไหนมาเก็งกำไร ก็ใช้เงินกู้ดอกเบี้ยถูกจากประชาชน/เงินสมาชิกเกษตรกร ดังนั้นต้องถามสมาชิกก่อนว่าจะให้นำเงินมาใช้ตรงนี้หรือไม่ ไม่ใช่คุยกันแค่กรรมการแล้วลงมติกัน แต่ทางที่ดีอย่ายุ่งเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้น 1.  จะกลายเป็นว่าสนับสนุนให้เกิดการทุจริต 2. ถ้าไม่มีการทุจริต กรรมการ/ผู้บริหารไม่เก่งก็ขาดทุน เป็นหลักร้อยล้าน ใครจะรับผิดชอบ ท้ายที่สุดรัฐบาลก็ต้องนำเข้ากระบวนการพักชำระหนี้ ดังนั้น สกต.ควรซื้อมาขายไป ถ้ามีลานข้าวเอง ก็เป็นจุดให้พ่อค้ามาเช่าเพื่อรวบรวมข้าว มีให้เช่าเครื่องตวงวัด  ได้กำไรนิดหน่อยอย่าไปคิดว่าจะรวย แต่ถ้าใครเสนออย่างนี้ถือว่าเป็นการทำบาปกับเกษตรกร"

62107

รศ.ดร.นิพนธ์  กล่าวอีกว่า การที่จะให้ สกต.ไปเช่าคลังโรงสีฝากเก็บข้าวจะต้องเช่าขาด และจะต้องดูแลข้าวเอง แต่ถ้าไม่เช่าขาด จะทำให้เกิดการทุจริตอย่างมโหฬาร เพราะโรงสีเจ้าของคลังสามารถเปิด-ปิดคลังได้ ไม่รู้เป็นข้าวของใคร เพราะข้าวไม่ได้ติดยี่ห้อไว้ จะทําให้เกิดการทุจริตซํ้ารอยจำนำข้าว ต้องไล่ฟ้องเรียกค่าเสียหายเสียเวลามากกว่าจะได้เงินคืน เพราะฉะนั้น สกต.จะต้องไม่ทำ หากอยากจะทำจะต้องเช่าขาดแล้วมีปัญญาดูแลเอง ไม่สนับสนุนให้ไปทำธุรกิจที่เก็งกำไร

ผวาปลุกผีจำนำข้าวรอบใหม่

เช่นเดียวกับ รศ.สมพร  ที่กล่าวว่า จำนำยุ้งฉาง ควรจะยืนพื้นรูปแบบเดิม โมเดลนี้ ธ.ก.ส.คิดเชิงธุรกิจเกินไป เพราะการไปเช่าคลังเอกชนเก็บ เหมือนกลับไปสู่วังวนจำนำข้าวในอดีตจะซํ้ารอยเดิมข้าวหาย ข้าวผิดชนิด คุณภาพข้าวไม่ได้มาตรฐานจากโรงสีเจ้าของคลังนำเข้าไปเวียนเทียนขาย ดังนั้นมองว่าไม่ควรไปเน้นปริมาณข้าวให้เข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น เพราะจะส่งผลทำให้การจัดการบริหารข้าวได้ยากขึ้น มองว่าไม่ตอบโจทย์ ที่สำคัญเรื่องนี้ควรจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ว่าโมเดลนี้ทำได้หรือไม่ ต้องชัดเจน

[caption id="attachment_309549" align="aligncenter" width="216"] รศ.สมพร อิศวิลานนท์ รศ.สมพร อิศวิลานนท์[/caption]

“ถึงแม้ว่า ทางผู้บริหาร ธ.ก.ส. จะอ้างว่าปีที่แล้วประสบความสำเร็จ สามารถขายข้าวได้ราคาสูง นั่นเป็นเพราะความบังเอิญมากกว่า ที่คนเข้าร่วมจำนำยุ้งฉางได้กำไร เพราะราคาข้าวเปลือกหอมมะลิปรับราคาจาก 1 หมื่นบาท ทะยานพุ่งไปที่ 2 หมื่นบาท แต่ปีนี้ยังไม่แน่ใจว่าราคาจะสูงไปกว่าปีที่แล้ว หรือใกล้เคียงกันหรือไม่ แต่ถ้าหากฝืนจะทำในรอบนี้จะกลายเป็นว่านำโครงการรัฐมาเล่นแร่แปรธาตุ หน่วยงานรัฐไม่มีหน้าที่จะต้องไปทำอย่างนี้ต้องให้เอกชนทำหน้าที่นี้”

รศ.สมพร กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ผิดปกติ ซ่อนเล่ห์กลอะไรบางอย่าง หากโครงการนี้เกิดขึ้นแล้วจะส่งผลทำให้อนาคตแก้ปัญหาลำบาก หากขาดทุนแล้วใครจะมาดูแลรับผิดชอบ ปัจจุบันตนนั่งในคณะอนุกรรมการระบายข้าวฯ ได้เห็นปัญหาการเก็บข้าวแล้วข้าวเสื่อมคุณภาพ ต้องระบายข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในราคาตํ่า ไม่อยากให้เกิดขึ้นซํ้ารอยเดิม ดังนั้นมองว่าไม่ควรทำ ควรจะเป็นหน้าที่ของเอกชน โดย ธ.ก.ส.แค่ปล่อยสินเชื่อให้เอกชนแย่งกันซื้อข้าวให้แต่ละรายดูแลสินค้าของตัวเอง ไม่ใช่ในฐานะผู้รับฝากข้าว

S__2416650

“บทบาทตรงนี้ ธ.ก.ส.ทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์ข้าว ตำแหน่งผิดเพี้ยนไป ดังนั้นคงต้องยึดหลักการก่อน ว่าต้องการให้เกษตรกร/สหกรณ์ที่มียุ้งฉางตัวเองเก็บข้าว แล้วไม่ใช่นำเงินค่าฝากเก็บข้าวที่รัฐให้ 1,500 บาทต่อตัน มากระจายเป็นค่าบริหารไม่ถูกต้อง ต้องแยกให้เด่นชัด อย่านำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเข้าผสมกับธุรกิจที่มีผลกำไรขาดทุน อย่าเข้ามายุ่ง รัฐจัดการเมื่อไร “เจ๊ง”  การค้าจะผิดเพี้ยน ต้องใช้กลไกตลาดปกติเพียงพอแล้ว ไม่เช่นนั้นจะเข้าสู่วังวนเดิมที่แก้ปัญหาไม่รู้จบ

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,396 วันที่ 30 ส.ค.-1 ก.ย. 2561

e-book-1-503x62-7