'ชุติมา' งัด ธกส. !! ค้านเช่าโกดัง ชง นบข. ชี้ขาด

27 ส.ค. 2561 | 13:45 น.
270861-2041

'ชุติมา' ยัน! โมเดลฝากโรงสีเก็บข้าวจำนำยุ้งฉาง ไม่ใช่นโยบายรัฐ ระบุ ให้เฉพาะชาวนา-สหกรณ์ที่มีที่เก็บข้าวเอง ... วงในเผย นบข. เตรียมถกปมร้อน 24 ก.ย. นี้ วัดใจสั่งเบรกหรือไฟเขียว ... 'นิพนธ์' ลั่น! รอถล่ม หวั่นเปิดช่องทุจริตมโหฬาร ด้าน ธ.ก.ส. โต้ขั้นตอนโปร่งใส

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า จากโมเดลที่สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) จะจ้างโรงสีฝากเก็บข้าวโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (จำนำยุ้งฉาง) ปีการผลิต 2561/2562 ไม่ใช่นโยบายของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เนื่องจากโครงการกำหนดว่า สถาบันเกษตรกร (เช่น สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล) ที่เข้าร่วมโครงการต้องรับซื้อข้าวจากสมาชิกในราคาที่กำหนด เช่น ข้าวหอมมะลิ ตันละ 11,800 บาท จะได้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท เก็บอย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตันนี้ สถาบันเกษตรกรได้รับ 1,000 บาท และสถาบันต้องจ่ายให้สมาชิก 500 บาท ทั้งนี้ สหกรณ์ต้องมียุ้งฉางเก็บเป็นของตัวเอง


62107

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การดำเนินการเช่าคลังโรงสีเก็บข้าวของ สกต. หากเป็นการดำเนินธุรกิจของ สกต.ก็ทำได้ แต่อย่ามาใช้เงินในโครงการ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะส่งเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุม นบข. วันที่ 24 ก.ย. 2561 ซึ่งต้องจับตาที่ประชุมจะมีความเห็นอย่างไร

สอดคล้องกับ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย ต้องไม่ทำเลย เพราะแค่โรงสีเอาข้าวไปหมุนเวียนขาย ก็เท่ากับรัฐออกเงินให้โรงสีซื้อข้าว ใครได้กำไร หากถูกโกง เอาข้าวคุณภาพต่ำ หรือ เอาข้าวผิดชนิดมาใส่แทน เปิดช่องให้ทุจริตกันแบบมโหฬาร แล้วใครจะรับผิดชอบ ซึ่งหากสมาชิกผู้ถือหุ้น สกต. ขาดทุนมาก ๆ รัฐบาลก็ต้องเป็นคนรับผิดชอบอีก

"เรื่องนี้เข้าที่ประชุม นบข. เมื่อไหร่ จะไม่ปล่อยไปแน่ ธุรกิจสหกรณ์ไม่ควรจะเป็นธุรกิจเก็งกำไร แต่เป็นเครื่องมือของใครบางคน ไม่ใช่นโยบายรัฐที่ต้องการจะหาเงิน"


 

[caption id="attachment_309491" align="aligncenter" width="336"] เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย[/caption]

ด้าน นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า โรงสีอาจถูกมองภาพว่า ไปร่วมมือกับ สกต. เพื่อเอาค่าฝากเก็บ 1,500 บาทต่อตัน ของชาวนา มาเป็นค่าบริหารจัดการไม่ถูกต้อง ดังนั้น ธ.ก.ส. จะต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า 1.เป็นธุรกิจปกติของ ธ.ก.ส. หรือไม่ 2.รัฐบาลอนุมัติหรือไม่

ด้าน นายมรกต พิธรัตน์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า โครงการจำนำยุ้งฉาง กรณีที่สหกรณ์มีโกดังเป็นของตัวเองและมีเครื่องมือในการเก็บรักษาข้าว ธ.ก.ส. จะให้กู้วงเงินไม่เกิน 300 ล้านบาท หรือเก็บรักษาข้าวไม่เกิน 2 หมื่นตัน กรณีที่ไม่มีโกดังเป็นของตัวเอง ต้องไปทำสัญญากับโรงสีที่มีพื้นที่ในการเก็บรักษาและดูแลข้าว ธ.ก.ส. จะปล่อยกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท หรือปริมาณไม่เกิน 1 หมื่นตัน


S__2416650

ทั้งนี้ ในการว่าจ้างให้โรงสีทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลและเก็บรักษาข้าวนั้น จะมีสัญญาชัดเจน โดยจะมีบัญชีสมาชิกสหกรณ์ ว่า เป็นข้าวใครบ้าง มีเครื่องมือในการตรวจวัดคุณภาพข้าว ซึ่งขณะนี้ ใช้มาตรฐานกรัมข้าว 42% คือ ข้าวเปลือก 100 กิโลกรัม แปรเป็นข้าวสารได้ 42 กิโลกรัม ดังนั้น เมื่อข้าวที่เข้าไปฝากไว้กับโรงสีในฐานะผู้รับฝากรู้ว่าปริมาณเท่าไหร่ คุณภาพอย่างไร และมีสัญญาชัดเจน ดังนั้น เมื่อมีการไถ่ถอน ก็ต้องได้ตรงตามเงื่อนสัญญาที่ทำกัน

"เรายืนยันว่า ขั้นตอนที่เราทำโปร่งใส และเป็นไปตามการค้าเสรี และจำนวนที่เข้าโครงการ คือ ไม่เกิน 2 ล้านตันข้าวเปลือกเท่านั้น ไม่ได้รับจำนำทุกเมล็ด และจะมีการตรวจสอบร่วมกันทุก ๆ เดือน ระหว่าง ธ.ก.ส. สหกรณ์ และโรงสี และเราทำเป็นโมเดล ทั้งนครสวรรค์ ลพบุรี ร้อยเอ็ด และนครนายก ได้ผลสำเร็จที่ดี"


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,395 วันที่ 26-29 ส.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สกต. เช่าโกดัง "จำนำยุ้งฉาง" เปิดช่องทุจริต!!
ไอยราวาณิชย์รุกลงทุน โกดัง-รง.รับกระแสอีอีซี


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว