'กฤษฎา' มอบนโยบายปลัดใหม่ 6 เรื่อง เร่งภารกิจขับเคลื่อนทันที!!

27 ส.ค. 2561 | 04:35 น.
รัฐมนตรีเกษตรฯ เรียก "อนันต์" ว่าที่ปลัดคนใหม่ เข้ามามอบนโยบาย ขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงรับแนวทางปฏิบัติต่อเนื่องทันทีหลังรับตำแหน่ง ชูนโยบายกำกับเน้นโปร่งใส่ ตรวจสอบได้ สั่งเร่งบูรณาการปฏิรูปเกษตร รุกแก้ปัญหาเกษตรกร

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" 
ว่า วันที่ 27 ส.ค. 61 นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ว่าที่ปลัดเกษตรและสหกรณ์คนใหม่ ได้เดินทางเข้าพบ เพื่อขอรับทราบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงาน ซึ่งได้มอบหมายให้ว่าที่ปลัดคนใหม่ไปเตรียมการปฏิบัติงานให้ต่อเนื่องในทันที่ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่โดยมีสาระสำคัญ ก็คือ 1.ให้ปฏิบัติราชการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ให้ทุกหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งองค์การมหาชนในสังกัดทุกหน่วย ต้องมีการปฏิบัติงานตามที่กฎหมายหรือระเบียบแผนของทางราชการกำหนดไว้ตามขั้นตอนต่าง ๆ โดยเคร่งครัดและต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน หากหน่วยใดปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต ให้พิจารณาโทษอย่างเฉียบขาดทุกกรณี รวมทั้งให้ดูแลอำนวยการและกำกับติดตามการบริหารบุคคลงานของทุกหน่วยในสังกัดให้เป็นไปด้วยระบบคุณธรรม ไม่ให้มีการวิ่งเต้นหรือเรียกร้อง รับผลประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อแลกกับการบรรจุ แต่งตั้งหรือเลื่อนตำแหน่งหรือเลื่อนระดับอย่างเด็ดขาด

2.การแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำหรือการผลิตล้นตลาด (Over Supply) ที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในแต่ละปีมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการช่วยเหลือเกษตรกร ตามมาตรการต่าง ๆ เช่น การรับจำนำผลผลิต การประกันราคาผลผลิต การจ่ายเงินชดเชยต้นทุนการผลิต ฯลฯ ทำให้เป็นภาระงบประมาณของประเทศ จึงให้เร่งรัดขับเคลื่อนงานสำคัญที่เป็นนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงอย่างต่อเนื่องจากปี 2561 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไว้แล้วให้เห็นผลของการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้ โดยให้เร่งรัดแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรกรรมตาม "แผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศ" ซึ่งผ่านการจัดทำและตรวจสอบความเหมาะสมจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

เช่น กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมทั้งภาคเอกชนมาแล้ว ซึ่งจะทำให้การผลิตสินค้าเกษตรเป็นไปตามความต้องของตลาดไม่ล้นตลาด ทั้งนี้ ให้กำหนดมาตรการจูงใจหรือหาแนวทางให้แก่เกษตรกร ทำเกษตรกรรมตามแผนการผลิตดังกล่าวด้วย เช่น การรับรองรายได้ขั้นต่ำของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ / การประกันภัยพืชผล / การจัดหาตลาดล่วงหน้า หรือ การรับรองคู่ค้าที่ซื้อสินค้าล่วงหน้าจากเกษตรกร หรือ กลุ่มเกษตรกรตามสัญญาที่เป็นธรรม เป็นต้น และให้ใช้มาตรการจูงใจดังกล่าวมาส่งเสริมสนับสนุนขยายงานของกระทรวงตามนโยบาย / โครงการสำคัญ ๆ ด้วย เช่น การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามพระราชดำริ / การทำเกษตรปลอดภัยที่ไม่ใช้สารเคมีทุกประเภทและเกษตรอินทรีย์ หรือ การรวมกลุ่มทำการเกษตรแปลงใหญ่ หรือ การรวมกลุ่มทำการเกษตรในรูปสหกรณ์การเกษตร เหล่านี้ก็จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับสิทธิพิเศษตามมาตรการจูงใจมากขึ้นด้วย

3.ขอให้ติดตามและเร่งรัดขับเคลื่อนงานตามโครงการสำคัญนโยบาย 15-16 โครงการ เช่น โครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ โครงการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmers) หรือ เกษตรกรวัยหนุ่มสาว (Young Smart Farmers) โครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ โครงการพัฒนาสหกรณ์เข้มแข็ง โครงการบริหารจัดการเกษตรตามแผนที่เกษตรกรรมเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) ฯลฯ ให้มีความก้าวหน้าเห็นผลงานเป็นรูปธรรมด้วย สำหรับงานการพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร โดยได้รับงบประมาณมาดำเนินการแล้ว เป็นจำนวนมากแล้ว

เช่น งานวางระบบชลประทาน / งานทำการเกษตรตามความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมและคุณภาพดิน (Zoning by Agri-Map) / งานรับรองมาตรฐานสินค้า ฯลฯ เหล่านี้ขอให้หารือกับอธิบดีผู้รับผิดชอบงานของแต่ละกรมให้มีการพัฒนาและปรับปรุงงานพัฒนา / แก้ไขปัญหาและปรับปรุงการให้บริการแก่เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปให้เป็นระบบ รวดเร็วและมีประสิทธิภาพคุ้มค่าของงบประมาณที่แต่ละหน่วยได้รับด้วย เช่น ระบบเตือนภัยน้ำท่วม น้ำแล้ง การบริหารจัดการน้ำในฤดูทำการเกษตรหรือฤดูแล้งหรือในภาวะอุทกภัยหรือจัดรูปแบบขั้นตอนการบริการประชาชนให้ได้รับบริการได้สะดวกและรวดเร็ว เช่น การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านต่าง ๆ ในการส่งออกหรือนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นต้น

4.ในการบริหารงานส่วนกลางนั้น เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ มีการจัดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ ทั้ง 14 กรม ให้มีภารกิจหน้าที่ (Job Description) ครบถ้วนตามกระบวนการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่แล้ว นับว่าเป็นจุดแข็งที่ได้เปรียบหน่วยงานอื่น ๆ เช่น สำนักงาน สปก. ทำหน้าที่จัดที่ดินให้แก่เกษตรกร โดยมีกรมชลประทานจัดหาน้ำและกรมวิชาการจัดหาพันธืพืช กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมงทำหน้าที่ให้บริการด้านอาชีพเกษตรกรรมแก่เกษตรกร

โดยมีหน่วยสนับสนุนการผลิตทางการเกษตร คือ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มก.อช.) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลการจำหน่ายหรือแปรรูปผลผลิตหรือการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรก่อนออกจำหน่ายหรือบริโภค ในขณะที่มีรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนในสังกัดเป็นหน่วยสนับสนุนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนั้น จึงต้องกำกับการบริหารของหน่วยงานส่วนกลางทั้ง 14 หน่วย และงานส่วนภูมิภาคให้เกิดประสานงานกันให้ต่อเนื่อง ตามภารกิจงานของแต่ละกรม (Job Description) และประการสำคัญการทำงานระหว่างระหว่างกรมที่เป็นหน่วยปฏิบัติในพื้นที่กับกรมที่ทำหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติต้องเอื้ออำนวยต่องานตามภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย ไม่ใช่ต่างหน่วยต่างทำงานโดยไม่ประสานกัน

เช่น เมื่อ สำนักงาน ส.ป.ก. จัดที่ดินให้เกษตรกรแล้ว กรมพัฒนาที่ดินต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ/ตำบล (กรมส่งเสริมการเกษตร) ว่าที่ดินดังกล่าวมีธาตุอาหาร/ความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรประเภทไหน กรมวิชาการเกษตร สนับสนุนหรือแนะนำพันธุ์พืชที่เหมาะสมให้แก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ด้วย ในขณะที่ กรมชลประทานควรจัดทำระบบน้ำให้แก่เกษตรกรที่ได้รับที่ดิน ส.ป.ก. ไปด้วย หากไม่สามารถทำการเกษตรได้จะไปทำการปศุสัตว์หรือการเลี้ยงสัตว์น้ำได้หรือไม่โดยกรมที่เกี่ยวข้องต้องมีคำตอบให้แก่เกษตรกร และหากจะทำเกษตรอินทรีย์พร้อมให้การรับรองกรมวิชาการและสำนักงาน มกอช. ต้องลงไปสนับสนุนดำเนินการร่วมด้วย

โดยมีข้อมูลประเภทสินค้า/ราคาสินค้าจาก สศก. ไปสนับสนุนการตัดสินใจการเลือกทำการเกษตรของเกษตรที่จะไม่ทำให้มีการผลิตล้นตลาดด้วยเป็นต้น จึงขอให้หารือกับผู้บริหารในกระทรวงเพื่อพิจารณาดำเนินการให้เกิดการทำงานในลักษณะดังกล่าว โดยให้พิจารณามอบหมาย รองปลัดกระทรวงทั้ง 4 ด้านเป็นผู้รับผิดชอบกำกับและติดตามงานแต่ละกลุ่มภารกิจ โดยมี ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้ง 12 คน ลงไปดูแลติดตามการทำงานในพื้นที่ให้เรียบร้อยเป็นไปตามแนวทางดังกล่าวด้วย

5.ในการบริหารงานส่วนภูมิภาคหรือในพื้นที่ปฏิบัติงานนั้น เพื่อให้มีหน่วยงานเจ้าภาพและผู้รับผิดชอบงานการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรที่อาจเกิดในพื้นที่ไม่ว่าในกรณีใดจะต้องมีผู้รับชอบจากหน่วยงาน เข้าไปดูแลรับผิดชอบแก้ไขปัญหาตั้งแต่ระดับพื้นที่เข้ามาถึงส่วนกลางโดยมอบหมายให้ สป.กษ. เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับและติดตามงานว่าแต่ละกรมได้เข้าไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่หน่วยงานในพื้นที่รับผิดชอบ หรือ อ.พ.ก.จังหวัด มอบหมายแล้วหรือไม่ โดยให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดรายงานมายังส่วนกลาง ทั้งให้เน้นการทำงานที่เชื่อมโยงกันระหว่างกรมส่วนกลางทั้ง 14 กรม กับงานในพื้นที่ที่มีหน่วยงานตัวแทนของแต่ละกรมไปทำงานในพื้นที่ให้มีการทำงานที่สอดประสานกันไม่ใช่ต่างหน่วยต่างทำกันโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน

ในกรณีที่มีหน่วยงานสัดกัดกระทรวงส่วนกลางที่มีสำนักงานในส่วนภูมิภาคและรับผิดชอบงานในจังหวัด แต่ยังไม่มีสถานะเป็นหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคนั้น ให้หารือสำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อพิจารณาจัดตั้งเป็นหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินต่อไป ดังนั้น ในระหว่างนี้จึงให้หน่วยงานตัวแทนทุกกรมในพื้นที่ต้องทำงานร่วมกันในรูปคณะอนุกรรมการพัฒนาเกษตรและสหกรณ์จังหวัด (อ.พ.ก.) ที่มี ผวจ. เป็นประธาน และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นเลขานุการ โดยให้มีตัวแทนหน่วยงานในพื้นที่ทุกหน่วยเป็นกรรมการด้วย และกำหนดให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง หรือตามสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ โดย อ.ก.พ. จะรับผิดชอบประสานงานและติดตามงานของเกษตรทุกเรื่องในพื้นที่ ทั้งงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาในพื้นที่หรืองานริเริ่มของหน่วยงานในพื้นที่ได้ดำเนินการภายใต้งบประมาณพัฒนาจังหวัดหรืองบประมาณบูรณาการกลุ่มจังหวัดหรืองานประชารัฐที่ร่วมกับภาคเอกชน เป็นต้น ในกรณีที่ไม่มีหน่วยงาน กษ. รับผิดชอบในพื้นที่โดยตรงให้มอบหมายสำนักงานเกษตรอำเภอ/จังหวัดแล้วแต่กรณีเป็นผู้รับผิดชอบ ถือว่าทำงานในนามกระทรวงเกษตรฯ จึงให้สำนักปลัดเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรให้การสนับสนุนปัจจัยทางการบริหารด้วย

สำหรับโครงสร้างการทำงานของ อ.พ.ก. ในฐานะกลไกฝ่ายอำนวยการ กษ. ในพื้นที่จึงให้กำหนดโครงสร้างของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ประกอบด้วย 1.กลุ่ม/ฝ่ายยุทธศาสตร์ 2.กลุ่ม/ฝ่ายแผนงานโครงการและงบประมาณ 3.กลุ่ม/ฝ่ายประสานงานและติดตามการรายงานผลการปฏิบัติ

"โครงสร้างปัจจุบันของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด 1.กลุ่มยุทธศาสตร์พัฒนาการเกษตร 2.กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและโครงการพิเศษ 3.กลุ่มสารสนเทศการเกษตร 4.ฝ่ายบริหารทั่วไป ดังนั้นในการรสรุปผลงานของหน่วยที่ปฏิบัติงานในพื้นที่หรือจังหวัดต่าง ๆ ให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดรวบรวมผ่าน อ.พ.ก. เพื่อรายงานส่วนกลางโดยให้แยกเป็นผลงานตามภารกิจหน้าที่ (Function)/งานนโยบายสำคัญของรัฐบาลและ กษ. (Agenda)/งานแก้ไขปัญหาสำคัญของพื้นที่ รวมทั้ง งานริเริ่มของหน่วยงานในพื้นที่ที่เป็นผลดีต่อประชาชนและทางราชการ (Area Based & Creative Jobs)"

6.สำหรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน ทั้ง 7 แห่ง ขอให้ดูแลกำกับให้หน่วยงานเหล่านั้น ทำหน้าที่เป็นหน่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนงานด้วย เช่น มอบหมายองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ให้ทำหน้าที่เป็นหน้าที่เป็นหน่วยธุรกิจพาณิชย์ของกระทรวงเกษตรฯเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดการเพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตร หรือมอบหมายให้องค์การสะพานปลา สนับสนุนการพัฒนาอาชีพแก่ชาวประมงหรือมอบหมายสำนักงานพัฒนาวิจัยการเกษตรทำหน้าที่เป็นหน่วยวิจัยทางการเกษตรให้ส่วนราชการและเกษตรกรหรือมอบหมายการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรกิจหรือแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าสินค้าเกษตร เป็นต้น


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“กฤษฎา”อัดโปรจูงใจเกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แจก 2พันพักหนี้ 3 ปี
สั่งการด่วน! “กฤษฎา” ห่วงเกษตรกร สั่งกระชับพื้นที่แก้ไขปัญหา


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว