ชิงท่าเรือก๊าซ3.5หมื่นล. ให้สิทธิ์เอกชนทำ30ปี บนพื้นที่ถมทะเลมาบตาพุดพันไร่

30 ส.ค. 2561 | 12:53 น.
ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 เปิดมาร์เก็ตซาวดิ้ง รอบ 3 ต้นก.ย.นี้ หลังได้รูปแบบลงทุน 2 แนวทาง โดยให้กนอ.ร่วมลงทุนกับเอกชนถมทะเล 1 พันไร่ เงินลงทุน 1.29 หมื่นล้านบาท และเปิดให้เอกชนประมูลก่อสร้างท่าเทียบเรือก๊าซ มูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท และท่าเรือสินค้าเหลว คาดออกทีโออาร์ได้ พ.ย.61

การพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ถือเป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วน ของการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งทางนํ้าสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว ให้บริการรูปแบบท่าเทียบเรือสาธารณะ ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าเป็นลำดับ

นางสาวกฤตยาพร ทัพภะทัต รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยกับ                “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ กนอ.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นนักลงทุน (มาร์เก็ต ซาวดิ้ง) ครั้งที่ 3 ของโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เพื่อรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนเป้าหมายในเรื่องเกี่ยวกับข้อกำหนดสำคัญ ในร่างเอกสารการคัดเลือกเอกชนและในร่างสัญญาร่วมลงทุนจากภาคเอกชนเป้าหมาย เพื่อนำมาประกอบการจัดทำร่างเอกสารการคัดเลือกเอกชนให้มีข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่มีมาตรฐานสากล

TP11-3395-A

โดยรูปแบบการลงทุนนั้น ทางคณะกรรมการบริหารหรือบอร์ด กนอ.ได้เห็นชอบแล้ว พร้อมกับได้รายงานให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้รับทราบและ พิจารณาเห็นชอบแล้ว โดยรูปแบบการลงทุนจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งส่วนแรกจะเป็นงานโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องนํ้าและแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ และท่าเทียบเรือบริการ ซึ่งกนอ.จะเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและหาเอกชนมาลงทุนท่าเทียบเรือจำแนกตามพื้นที่ ใช้เงินลงทุนในโครงการราว 12,900 ล้านบาท กนอ.และเอกชนจะลงทุนในสัดส่วนที่เท่ากัน

ขณะที่ส่วนที่ 2 จะเป็นการลงทุนก่อสร้างท่าเทียบเรือ (Superstructure) จะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน (PPP) ในลักษณะ Build-Transfer-Operate (BTO) ระยะเวลาของสัญญาประมาณ 30 ปี แบ่งตามพื้นที่สัมปทาน ได้แก่ ท่าเทียบเรือก๊าซ รองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ใช้เงินลงทุนราว 35,000 ล้านบาท และท่าเทียบเรือสินค้าเหลว รองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ใช้เงินลงทุนราว 4,300 ล้านบาท รวมถึงงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า ใช้เงินลงทุนราว 3,200 ล้านบาท รวมเงินลงทุนทั้ง 2 ส่วน ราว 55,400 ล้านบาท

“งานก่อสร้างท่าเทียบเรือ จะประกอบด้วยการก่อสร้างท่าเทียบเรือ 2 ส่วน และพื้นที่คลังสินค้าและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง พร้อมงานติดตั้งอุปกรณ์ และบริหารจัดการท่าเรือ ได้แก่ ท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าเหลว 2 ท่า ความยาวหน้าท่าประมาณ 800 เมตร พื้นที่ประกอบการ 200 ไร่ ท่าเทียบเรือก๊าซ 3 ท่า ความยาวหน้าท่าประมาณ 1,400 เมตร พื้นที่ประกอบการ 200 ไร่ คลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ พื้นที่ประกอบการ 150 ไร่”

บาร์ไลน์ฐาน

นางสาวกฤตยาพร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หลังจากรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนครั้งที่ 3 ไปแล้ว คาดว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้ จะสามารถออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ (ทีโออาร์) และให้เอกชนยื่นขอเสนอภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และเสนอขอความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนได้ในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งจากการเปิดรับฟังความเห็น 2 ครั้งที่ผ่านมา ต่างได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างท่าเทียบเรือก๊าซ มียักษ์ใหญ่วงการพลังงานให้ความสนใจ เช่น กลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัท กัลฟ์ฯ และบริษัท โตเกียวก๊าซฯจากญี่ปุ่น เป็นต้น

โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดของรายงานการศึกษาและการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการ เพื่อเสนอต่อบอร์ด กนอ. รวมถึงหารือกับคณะทำงานตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 (ประกาศ EEC Track) เพื่อพิจารณาให้คำปรึกษาการจัดทำรายงานการศึกษาและการวิเคราะห์โครงการ ให้เกิดความครบถ้วนและเพียงพอ

 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,395 วันที่ 26-29 ส.ค. 2561

e-book-1-503x62