Management Tools : เลือกหมวกให้ถูกใบ

25 ส.ค. 2561 | 11:28 น.
262665 วัฒนธรรมของสังคมไทยไม่ใช่วัฒนธรรมใส่หมวก จนผู้นำประเทศยุคหนึ่งในอดีตต้องรณรงค์ให้คนไทยใส่หมวก มีคำขวัญที่ว่า “มาลานำชาติเจริญ” โดยคิดว่าการใส่หมวกจะแสดงความศิวิไลซ์เยี่ยงอารยประเทศ

วันนี้แม้ทุกคนจะมีหมวก แต่เราอาจจะมีกันไม่มาก มีคนละไม่กี่ใบ และบางคนก็ชอบที่จะใส่หมวก “ใบเก่ง”  ใส่ใบไหนดี ตรงกับบุคลิก ดูมีเสน่ห์ ก็จะหลงใหลใส่หมวกใบดังกล่าวไม่ยอมเปลี่ยน

เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน (Edward De Bono) ปรมาจารย์ยอดนักคิดที่มีผลงานเกี่ยวกับการเสนอวิธีการพัฒนาความคิดหลากรูปแบบ เช่น การคิดสร้างสรรค์ (creative thinking) การคิดแนวข้าง (lateral thinking) ให้ความเห็นว่า หากจะทำงานให้สำเร็จ อย่าได้ใส่หมวกใบเดียว จงรู้จักหมวกทุกใบและเลือกใช้หมวกให้เหมาะสม

5265955 แนวคิดเกี่ยวกับหมวก 6 ใบ (six thinking hats) เป็นการให้ความหมายของหมวกแต่ละใบที่สมมติให้มีสีที่แตกต่างกัน แต่ละสีสะท้อนถึงวิธีการคิดแต่ละแบบ ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ของการคิดที่ไม่เหมือนกัน ต้องรู้จักหมวกแต่ละสี รู้ถึงประโยชน์ของหมวกแต่ละใบและรู้จักเลือกใช้ อย่าหลง อย่าติดยึดกับหมวกใบใดใบหนึ่งเพียงใบเดียว

หมวกใบแรกสีขาว (white hat)  เป็นหมวกของการคิดวิเคราะห์บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง (facts) ให้ความสำคัญแก่สถิติ ตัวเลข ข้อมูลเชิงประจักษ์ในอดีตเพื่อนำมาวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต คนที่ใส่หมวกสีขาวจะมีบุคลิกเอาจริงเอาจัง ละเอียดกับตัวเลข ชอบการประมวลข้อมูล เอาตัวเลขที่มีมาวิเคราะห์ในมุมต่างๆ จะไม่คิดไม่ตัดสินใจหากไม่มีข้อเท็จจริงที่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น จะลงทุนอะไรสักอย่าง ก็เอาตัวเลขผลประกอบการในอดีต ยอดขายในปัจจุบัน ส่วนแบ่งตลาดของเรากับคู่แข่ง ค่าใช้จ่ายในการลงทุนทั้ง fix cost , variable cost มาคิดแล้วคิดอีก ทุกอย่างของการตัดสินใจขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง

หมวกสีแดง (red hat) เป็นหมวกของอารมณ์ความรู้สึก (feeling/emotion) เป็นสัญชาตญาณที่ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล เป็น sense ของนักบริหารที่บางทีก็อธิบายไม่ได้ แต่รู้สึกว่าใช่ รู้สึกว่าดี อาจเป็นเรื่องของความเห็นอกเห็นใจ เรื่องของมนุษยธรรม เรื่องของการแคร์ความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งบางทีการใช้อารมณ์เหล่านี้อยู่เหนือเหตุผลเหนือข้อเท็จจริง อาจเป็นสิ่งที่สร้างมุมมองใหม่ๆ และผลดีที่ตามมาอย่างไม่คาดคิดก็ได้

หมวกสีเหลือง (yellow hat) เป็นหมวกของการคิดเชิงบวก (positive thinking) มองโลกในแง่ดี มองเห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในสถานการณ์ทุกๆ สถานการณ์ไม่ว่า จะดีหรือจะเลวร้ายเพียงไร คนที่คิดเชิงบวกจะไม่ย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรค มีกำลังใจกับสถานการณ์ที่ยากลำบากและยังส่งเสริมให้กำลังใจผู้อื่นให้มองเห็นทางออกในอนาคต หมวกสีเหลืองจึงสร้างกำลังใจให้เดินหน้าต่อสู้แม้จะมีปัญหาอุปสรรคหรือความยากลำบาก

หมวกสีเขียว (green hat) เป็นหมวกของความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ที่เปิดวิธีการคิดใหม่ๆ ซึ่งไม่เคยดำเนินการมาก่อน เป็นการคิดนอกกรอบ กล้าที่จะทดลองในสิ่งใหม่ พลิกแพลงแตกต่างไปจากเส้นทางที่เคยทำในอดีต คนที่ใส่หมวกสีเขียว จึงเป็นคนที่ชอบมีความคิดแปลกๆ ใหม่ๆ เวลาที่เราสนทนาแล้วจะรู้สึกว่าคนพวกนี้ช่างมีจินตนาการมากมาย มีข้อเสนอโครงการใหม่ๆ สารพัด บางทีก็ฝัน บางทีก็ดูท้าทายให้ลอง แต่ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็น่ารับฟัง

หมวกสีดำ (black hat) เป็นหมวกของการคิดใคร่ครวญ (awareness) เป็นหมวกที่เมื่อสวมแล้วจะยั้งคิด ไม่กล้าบุ่มบ่ามในการตัดสินใจ เตือนเราให้รู้จักคิดให้รอบคอบ ทบทวนแล้วทบทวนอีก พยายามหาผลเสียของการตัดสินใจที่เกิดขึ้น อย่างรอบด้าน คนที่ใส่หมวกสีดำมักจะเป็นคนที่ชอบทักท้วงผู้อื่น เห็นปัญหามากกว่าโอกาส มีมุมมองในด้านลบต่อสถานการณ์ อาจไม่เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริหารที่ต้องการเดินไปข้างหน้า แต่จะเป็นคนที่ช่วยให้องค์กรคิดให้รอบคอบและช่วยลดความเสียหายให้แก่หน่วยงานได้

หมวกใบที่ 6 ซึ่งเป็นหมวกใบสุดท้าย คือหมวกสีฟ้า (blue hat) เป็นหมวกที่ควบคุม (control) หมวกใบอื่น คือเป็นหมวกที่ช่วยเราในการวิเคราะห์ตัวเราเองว่า ขณะนี้เราก็กำลังสวมหมวกสีใดอยู่และสมควรลองเปลี่ยนหมวกหรือเปลี่ยนวิธีการคิดใหม่หรือไม่ ในขณะเดียวกันก็ช่วยเราในการวิเคราะห์ว่าคนอื่นๆ ที่กำลังคุยกับเรานั้น เขากำลังใส่หมวกสีอะไรจึงได้มีความคิดหรือข้อเสนอเช่นนั้น และสามารถเสนอแนะให้เขารู้จักทดลองเปลี่ยนใส่หมวกใบอื่นเพื่อให้มีมุมมองที่แตกต่างไปบ้าง
the-six-thinking-hats
คนที่สวมหมวกสีฟ้า จึงเป็นคนที่รู้จัก เข้าใจ หมวกทั้ง 5 ใบข้างต้นและรู้จักเลือกใช้หมวกที่เหมาะสมกับตัวเองในแต่ละสถานการณ์ และสามารถ “อ่านออก” ว่า คนที่เกี่ยวข้องกับเรากำลังใส่หมวกสีอะไร พร้อมทั้งสามารถแนะนำให้เขาใส่หมวกใบที่เหมาะสม

คนมีหมวกใบเดียว อ่านบทความนี้ ให้รีบไปหาซื้อหมวกใบใหม่มาทดลองใส่ดู บุคลิกอาจเปลี่ยนไปกลายเป็นคนน่าสนใจมีเสน่ห์ได้

คนที่มีหมวกหลายใบแล้ว ก็คงต้องรู้ใจเลือกใช้หมวกแต่ละใบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เมื่อดินฟ้าอากาศเปลี่ยน ฝนตก แดดออกคงต้องปรับเปลี่ยนหมวกให้เหมาะสม

ใครเคยมีหมวกอะไรก็อย่าติดยึด วันหนึ่งก็ต้องถอดหมวก เปลี่ยนหมวกครับ เป็นสัจธรรม

|คอลัมน์ : Management Tools
|โดย : รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับ 3393 ระหว่างวันที่ 19-22 ส.ค.2561
e-book-1-503x62