อุ้มหนี้เกษตร1.8พันล้าน แบงก์พบบางรายกู้สูงถึง12ล้าน ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์

25 ส.ค. 2561 | 13:00 น.
สมาคมแบงก์ขอเวลา 30 วันให้คำตอบ “ข้อเสนอลดหนี้ 50% ของเกษตรกรรายใหญ่” อ้างวงเงินเกิน 2.5 ล้านบาทต่อราย มีเงินต้นรวม 1,779 ล้านบาท 244 ราย ยันพร้อมช่วยเหลือรายย่อย 573 ราย เตรียมเสนอบอร์ด กฟก.พิจารณารับซื้อหนี้ 119 รายมูลหนี้ 45 ล้านบาท ขณะที่สหกรณ์การเกษตรเล็งเสนอบอร์ดเคาะขายลูกหนี้ 1,369 ราย เงินต้น 500 ล้านบาทเศษ

ภายหลังจากลูกหนี้เกษตรกร ซึ่งเป็นสมาชิกของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.)รวมตัวเรียกร้องสมาคมธนาคารไทยให้พิจารณาปรับลดมูลหนี้เงินต้นลงในอัตรา 50% สำหรับมูลหนี้ที่เกินกว่า 2.5 ล้านบาทเช่นเดียวกับลูกหนี้รายย่อยที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาทนั้น

กอบศักดิ์ ดวงดี

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทยเปิดเผยว่า ผลการเจรจากับลูกหนี้เกษตรกรเบื้องต้น สมาคมขอเวลา 30 วันเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้หรือควรดำเนินการอย่างไร ขณะเดียวกันพยายามจะหารือกับธนาคารสมาชิกเพื่อสรุปผลการเจรจากับลูกหนี้รายย่อยมากขึ้น ส่วนรายใหญ่ที่มีมูลหนี้เกิน 2.5 ล้านบาทนั้น เนื่องจากมีเจ้าหนี้หลายกลุ่ม ซึ่งมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อยู่ด้วย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนหาแนวทางเช่นกัน

ส่วนลูกหนี้รายย่อยมูลหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันทุกธนาคารสมาชิกตกลงจะลดหนี้ลง 50% ของหนี้เงินต้นโดยทางกฟก.จะพิจารณารับซื้อออกไป ที่เหลือซึ่งเป็นลูกหนี้รายย่อยที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ของกฟก.ทางสมาคมก็จะหาทางช่วยเหลือต่อไป เพื่อให้เหลือประเด็นน้อยที่สุด

“กรณีข้อเรียกร้องให้ปรับลดหนี้ลง 50% ของมูลหนี้เงินต้นสำหรับมูลหนี้เกิน 2.5 ล้านบาทต่อรายนั้น เราจะนำข้อเรียกร้องหารือผู้บริหารธนาคารสมาชิกและบอร์ดของสมาคมว่าจะร่วมกันบริหารจัดการอย่างไร โดยขอเวลาเกษตรกร 30 วันว่าจะทำอะไรได้บ้าง”

MP24-3395-A

แหล่งข่าวระดับสูงให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรกฟก.นั้น เป็นความพยายามของรัฐบาลชุดนี้ที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ (บอร์ดกฟก.เฉพาะกิจ) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 โดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ใช้มาตรา 44 ตามคำสั่งที่ 26/2560 ซึ่งปัจจุบันมีนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขหนี้สินเกษตรกร สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) โดยที่ผ่านมาครม.ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการแก้ไขปัญหามูลหนี้ที่เกิดก่อนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2560 เป็นวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561

ซึ่งภายใต้คำสั่งของคสช.ทางสถาบันการเงินเจ้าหนี้ร่วมกับกฟก.สำรวจหนี้ทั้งหมดและเกษตรกร ผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนลูกหนี้และยืนยันสิทธิเพื่อรับการแก้ไขหนี้กับกฟก. ประกอบด้วย เจ้าหนี้เป็น 3 กลุ่มได้แก่ ธ.ก.ส. สหกรณ์การเกษตรฯ และสมาคมธนาคารไทย โดยมูลหนี้กับธ.ก.ส. ทั้งหมด 36,366 ราย ที่ผ่านมาบอร์ดกฟก.เห็นชอบให้บริหารจัดการ 2 แนวทางคือ 1. มูลหนี้จำนวน 107 ล้านบาท 239 ราย ที่มีมติให้ชำระหนี้ ส่วนลด 50% ของเงินต้น ที่เหลือธ.ก.ส. สามารถขอชดเชยจากภาครัฐ 2. หนี้ไม่มีหลักประกันราว 3,138 ล้านบาททางธ.ก.ส.ต้องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ 090861-1927-9-335x503-3

ส่วนมูลหนี้ของสหกรณ์การเกษตรฯนั้น รวมมูลหนี้เงินต้น 4,471 ล้านบาท เกษตรกรลูกหนี้ 37,490 รายจากสหกรณ์เจ้าหนี้ 1,442 แห่ง โดยการประชุมรอบหน้าจะเสนอบอร์ดกฟก. พิจารณามูลหนี้ประมาณ 500 ล้านบาทเศษมีลูกหนี้ราว 1,369 รายรวม 201 สหกรณ์เจ้าหนี้ ทั้งนี้เพื่อให้กฟก.รับซื้อหนี้ออกไปตามหลักเกณฑ์ ที่เหลือทางกรมส่งเสริมสหกรณ์การเกษตรจะเสนอปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป

สำหรับมูลหนี้กับสมาคมธนาคารไทยมีจำนวน 2,253 ล้านบาทมีลูกหนี้ 1,548 รายแบ่งเป็น มูลหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อราย มูลหนี้ 431 ล้านบาท 692 ราย ซึ่งมูลหนี้ประมาณ 45 ล้านบาท ลูกหนี้ 119 รายเข้าหลักเกณฑ์ที่กฟก.จะรับซื้อออกไป และที่เหลือนั้นไม่เข้าหลักเกณฑ์อีกกว่า 385 ล้านบาทมีลูกหนี้ 573 รายทางสมาคมธนาคารไทยอยู่ระหว่างประสานกับธนาคารสมาชิก นอกจากนี้ยังมีมูลหนี้ที่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อราย (ซึ่งถือเป็นรายใหญ่) มูลหนี้ 1,779 ล้านบาทลูกหนี้ 244 รายส่วนหนึ่งเป็นหนี้เอ็นพีแอล 216 ล้านบาทลูกหนี้ 44 ราย โดยแกนนำของกลุ่มนี้ที่ยื่นขอส่วนลด 50% ของหนี้เงินต้นจากสมาคมธนาคารไทย

a56kb5h5gkbaa95865ad9

“สมาคมแบงก์นั้น สนับสนุนโครงการของรัฐในการปรับลดหนี้มาตลอด ซึ่งมูลหนี้ยังมีไหลเข้ามาอีกในระยะต่อไป โดยเร็วๆนี้จะเสนอลูกหนี้ 119 รายมูลหนี้ 45 ล้านบาทต่อบอร์ดกฟก.เพื่อพิจารณาให้กฟก.รับซื้อหนี้ออกไป ส่วนรายที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์อีก 573 รายนั้นกำลังหาทางให้ความช่วยเหลือ ส่วนหลักเกณฑ์การรับซื้อหนี้ของกฟก.นั้นที่กำหนดไว้คือ มูลหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อราย, วัตถุประสงค์กู้เงินทำเกษตรเป็นต้น แต่พบว่าบางรายเป็นหนี้สูง 12 ล้านบาท หรือส่วนหนึ่งใช้เงินกู้เพื่อซื้อรถบ้าง เป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์อย่าง หมู ไก่ หรือแม้แต่ปั๊มนํ้ามัน”

แหล่งข่าวรายเดิมยังระบุว่า สาเหตุที่ นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล แกนนำเกษตรกรเดินทางมายื่นข้อเรียกร้องหน้าธนาคารกสิกรไทย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 นั้น เนื่องจากปัจจุบันนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย เป็นประธานสมาคมธนาคารไทย โดยจะเป็นการเรียกร้องกับธนาคารที่มีซีอีโอเป็นประธานสมาคมธนาคารไทย ซึ่งก่อนหน้าจะเห็นได้จากกลุ่มเกษตรกรเดินทางไปเรียกร้องกับ ธนาคารทหารไทย ในยุคที่นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ซีอีโอของทีเอ็มบีและนายชาติศิริ โสภณพนิช ซีอีโอธนาคารกรุงเทพเป็นประธานสมาคมตามลำดับ

 

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3395 ระหว่างวันที่ 26 - 29 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62-7