ทางออกนอกตำรา : ‘นกแอร์’จนตรอก หนี้สินล้นพ้นตัว-บินไทยชิ่ง

24 ส.ค. 2561 | 11:44 น.
ทางออกนอกตำรา โดย..บากบั่น บุญเลิศ

หูดับกันทั้งตลาดหุ้น เมื่อผลประกอบการไตรมาส 2/2561ประกาศออกมาพบว่า กลุ่มธุรกิจสายการบินทั้ง 4สายการบินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีผลประกอบการขาดทุนทั้งหมด

ทั้งๆ ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า รายได้เที่ยวเมืองรอง 5เดือน ทะลุ 1แสนล้านบาท สูงสุดประวัติการณ์ ขณะที่รายได้ท่องเที่ยวไทยในปี 2561รับประกันทะลุ 1ล้านล้านบาท
จำนวนนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาเมืองรองทั้งหมด 6.78ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.24%สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยถึงเดือนพฤษภาคมมีจำนวน 13.72ล้านคน (ครั้ง) เพิ่มขึ้น 3.03%

แต่เกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจสายการบินของไทย ทำไมขาดทุนย่อยยับ?

ไม่เชื่อดูนี่ รายได้และกำไรของไตรมาส2/2561บริษัท การบินไทยฯ (THAI) รายได้ 46,861ล้านบาท ขาดทุน 3,099ล้านบาท ราคาหุ้นตอนนี้ 13-13.30บาท จากต้นปี 17.30บาท ลดลง 23%

บริษัท แอร์เอเชีย (AAV)รายได้ 9,303ล้านบาท ขาดทุน 306ล้านบาท ราคาหุ้น 4-4.24บาท จากต้นปี 6.15บาท ลดลง 31%บริษัท บางกอกแอร์เวย์ส (BA)รายได้ 6,342ล้านบาท ขาดทุน 83ล้านบาท ราคาหุ้นตอนนี้ 11.50-11.80บาท จากต้นปีที่ 17.10บาท ลดลง 31%
                 

ที่น่าตกใจคือ บริษัท นกแอร์ฯ (NOK)รายได้ 4,841ล้านบาท ขาดทุนไป 830ล้านบาท ราคาหุ้น NOKตอนนี้ราคา 2.10- 2.26บาท จากต้นปีที่ราคา 3.40บาท ลดลง 34%

MP22-3395-A
NOK มีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 9,600ราย ในจำนวนนี้มีผู้ถือหุ้นรายย่อย9,246ราย ตอนที่นกแอร์ขายหุ้น IPO เมื่อ 5ปีก่อนหน้านี้ราคาหุ้นละ 26บาท มาวันนี้หุ้นนกแอร์เหลือ 2.26-2.28บาท จะเหลืออะไรระครับนอกจาก “กุงเกงใน”

กราฟหุ้นนกแอร์
นอกจากนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯยังได้ขึ้นเครื่องหมาย “C” หรือCaution ให้กับหุ้นนกแอร์ ซึ่งหมายถึง บริษัทที่มีความเสี่ยงด้านฐานะการเงิน และงบการเงิน โดยถึงขณะนี้ส่วนผู้ถือหุ้นของนกแอร์เหลืออยู่แค่ 458.40ล้านบาท น้อยกว่า 50%ของทุนชำระ 2,271ล้านบาทแล้ว
เมื่อไปตรวจสอบค่าหนี้สินต่อทุนหรือ ดี/อี เรโชพบว่า มีมากกว่า 12เท่า และอัตราส่วนสภาพคล่องที่ 0.61เท่า แปลง่ายๆ ว่า NOKอยู่ในสภาพ“ชักหน้าไม่ถึงหลัง”

ชักหน้าไม่ถึงหลังจนเกิดปรากฏกรณีพิเศษ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการ NOK ต้องไปกู้เงินระยะสั้นมา 1,000ล้านบาทโดยในเบื้องต้นขอใช้ไป 500ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยปีละ 6%จากผู้ถือหุ้นใหญ่ “หทัยรัตน์ จุฬางกูร” ในรูปของตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยไม่มีหลักประกัน กู้ 500ล้านบาท ปีหนึ่งจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ถือหุ้น 30ล้านบาท ถ้าใช้ไป 1,000ล้านบาท ต้องจ่าย 60ล้านบาท

นกแอร์-นิวฯ

ดอกเบี้ยในอัตรานี้ใกล้เคียงกับดอกเบี้ยMLR-MRR ของระบบธนาคารพาณิชย์ที่คิดอยู่จากลูกค้า6.025-6.87%ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 1%
คำถามคือทำไมต้องกู้จากผู้ถือหุ้นใหญ่ คำตอบมิได้ลอยอยู่ในสายลม หากแต่เป็นการบ่งบอกว่า “เพราะกู้เงินกับสถาบันการเงินไม่ได้” นะสิขอรับนายท่าน

การตัดสินใจกู้เงินจากกลุ่มพี่น้องจุฬางกูรครั้งนี้บ่งบอกได้ว่า คนในตระกูลจุฬางกูร 3คนพี่น้อง กลายสภาพเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเจ้าหนี้ของ NOKไปโดยปริยาย ชนิดที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยอาจหมดหนทาง “ฎีกาในมติใดๆในอนาคต” และสะท้อนถึงความฝืดเคือง การจนตรอกของ NOK ได้โดยไม่ต้องให้นักการเงินหรือผู้เชี่ยวชาญคนใดมาอรรถาธิบาย
ผู้ถือหุ้นนกแอร์

ผมพยายามไปดูว่าแล้วอะไรทำให้ NOKเข้าสู่ภาวะจนตรอก ก็ยังงงๆ เพราะบริษัทมีรายได้ 7,671.53ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในไตรมาสที่ 2สายการบิน Nok Scoot ทำรายได้ 1,460ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.9%จากไตรมาสก่อน 1,300ล้านบาท มีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นถึง 35.1%จากปีก่อน มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 20.3%น่าจะเติบโตได้ดี
แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ไส้ในงบรวมของบริษัทอยู่ในสภาวะที่บรรดาผู้ถือหุ้นต้องร้อง “ไอ้หยา ชิหาย   แว้ววว” ผมทำนายเอาไว้ที่นี่ได้ว่า ในท้ายที่สุดคณะกรรมการของบริษัทนกแอร์ฯจะเลี่ยงไม่พ้นที่ต้องประกาศพาบริษัท NOKเข้า สู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพราะถึงตอนนี้ ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบแล้ว 406ล้านบาท มีผลขาดทุนสะสมถึง 6,196ล้านบาท

สถานะขณะนี้ “NOK”ตกอยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว มีหนี้สิน 6,623ล้านบาท มีสินทรัพย์แค่ 6,217ล้านบาท มีเจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้หมุนเวียนอื่นอีก 4,866ล้านบาท มีเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินเต็มเพดานแล้ว 700ล้านบาท
       

ทำไมผมถึงทำนายแบบไม่กลัวหน้าแตก ก็เพราะเงินเพิ่มทุนจากปีก่อนได้ใช้ไปทั้งหมดเกลี้ยงแล้วนะสิครับ ครั้นจะขอเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกรอบ ตามที่ “ปิยะ ยอดมณี” ซีอีโอ ที่มาแทน"พาที สารสิน"พยายามตั้งความหวังไว้ก็คงยากถึงยากที่สุด
MRTO1872

เพราะในปี 2560 NOK เพิ่งขอรบกวนผู้ถือหุ้นไป2ครั้ง ได้รับเงินมารวมทั้งสิ้น 2,919ล้านบาท จากเดิมที่มีทุนเรียกชำระ 625ล้านบาทครั้งแรก วันที่ 29พฤษภาคม 2560บริษัทรับเงินสดไป 1,224ล้านบาท จากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในราคา 2.50บาท โดยแถมใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นหรือวอร์แรนต์ (NOK-W1) แถมให้กับผู้ถือหุ้น
ถ้ายังจำกันได้ ครั้งนั้นบริษัท การบินไทยฯกับธนาคารไทยพาณิชย์ ตัดสินใจไม่ใส่เงินเพิ่มทุนตามสิทธิ จนทำให้สัดส่วนการถือหุ้นลดลงฮวบจาก 39.20%เหลือ 21.57%ส่วนไทยพาณิชย์ขายเกลี้ยงพอร์ต

ขณะที่กลุ่มจุฬางกูรกลับเพิ่มทุนมากกว่าสิทธิ จนผงาดขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 49%ของทุนเรียกชำระแล้ว
ครั้งที่ 2 NOK เพิ่มทุนอีก โดยปรับลดราคาขายหุ้นเหลือหุ้นละ 1.50บาท รอบนี้ในเบื้องต้นบริษัทการบินไทยฯปฎิเสธ แต่มี"มือที่มองไม่เห็น"สั่งให้เพิ่มทุนจึงใส่เงินไป 380ล้านบาท เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้น 21.57%

090861-1927-9-335x503
มาถึงตอนนี้ถ้าจะขอมติเพิ่มทุนอีก คณะกรรมการ และซีอีโอ"ปิยะ"จะตอบคำถามได้อย่างไรว่า เงินเพิ่มทุนที่ได้มากว่า 3,000ล้านบาทหายไปไหนหมดในเวลาปีเศษ แถมยังขาดทุนกว่า 500ล้านบาท และถ้าเพิ่มทุนด้วยการขายผู้ถือหุ้นเดิมจะมีใครใส่ทุนไป จุฬางกูร อาจใส่ได้ เพราะราคาที่ซื้อมา 2รอบ ตกประมาณ 2.25บาทนั้นยังพอถูไถเมื่อเทียบกับราคาหุ้นปัจจุบัน
แต่ตัวแปรสำคัญคือ"การบินไทย"จะยินดีเพิ่มทุนใส่เงินให้อีกหรือไม่ เป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมจะรุมถล่มสายการบินแห่งชาติยับแน่นอน

ผมมีโอกาสสอบถามคณะกรรมการการบินไทย และกรรมการ NOK มา ท่านบอกว่า นกแอร์กำลังตกอยู่ในภาวะจนตรอก ทางออกคือหาพันธมิตรมาใหม่ หรือไม่ก็ขอฟื้นฟูกิจการเท่านั้น เพราะการบินไทยส่งสัญญาณชัด ไม่ใส่เงินเพิ่มทุนแน่นอน เพราะลำพังตัวเองก็ยังเลี้ยงไม่รอด...

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3395 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 26-29 ส.ค.2561

e-book-1-503x62-7