'เวเนซุเอลา' ประกาศมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ

24 ส.ค. 2561 | 10:11 น.
240861-1653

… สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 ส.ค. 2561) รัฐบาลเวเนซุเอลาภายใต้การบริหารของ ประธานาธิบดีนิโกลาส มาดูโร ได้ประกาศมาตรการเร่งด่วนหวังที่จะพยุงภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคม โดยรัฐบาลได้ประกาศลดค่าเงินโบลิวาร์ มีผลในวันจันทร์ (20 ส.ค.) และจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศในอัตรามากกว่า 3,000% ในการรับมือกับสภาวะเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) ที่กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้

ภาวะข้าวยากหมากแพงเกิดขึ้นแล้วในเวเนซุเอลา ประเทศที่ได้ชื่อว่า มีปริมาณน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก แต่ในวันนี้ มีประชาชนชาวเวเนซุเอลาอพยพหนีออกนอกประเทศแล้วมากกว่า 500,000 คน เพื่อหนีภาวะสินค้าพื้นฐาน อาหาร ยารักษาโรค ฯลฯ ขาดแคลนเข้าขั้นวิกฤต เช่นเดียวกับปัญหาอาชญากรรมที่พุ่งสูงขึ้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า ในปี 2561 นี้ เงินเฟ้อของเวเนซุเอลาอาจจะไต่ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1,000,000% (เดือน ก.ค. ปีนี้ อยู่ที่กว่า 60,000%)


S__3317763

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีมาดูโร วัย 55 ปี เผยมาตรการต่อสู้กับสิ่งที่เขาเรียกว่า "สงครามเศรษฐกิจ" ที่ก่อขึ้นโดยศัตรูต่างชาติที่เป็นพวกนิยมลัทธิล่าอาณานิคม ซึ่งเขาไม่ได้ระบุออกมาว่าเป็นประเทศใด มาดูโรเองนั้น ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเวเนซุเอลาต่อจาก นายฮิวโก ชาเวซ ที่ถึงแก่อนิจกรรม ในปี 2556

สำหรับพิมพ์เขียวแผนการนำประเทศออกจากภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ประธานาธิบดีมาดูโร เรียกว่า "โปรแกรมเพื่อการฟื้นฟู เติบโต และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ" มีการเปิดเผยครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยผู้นำเวเนซุเอลากล่าวผ่านการเฟซบุ๊กไลฟ์ ว่า นี่คือ จุดเปลี่ยนที่จะเริ่มขึ้นในเร็ววันนี้ เพื่อนำประเทศชาติกลับสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ "มันเป็นสูตรที่จะนำมาซึ่งการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลง อย่างที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใครในโลก" มาดูโร กล่าว


V3

เมื่อดูในรายละเอียด มาตรการฟื้นเศรษฐกิจของมาดูโร ประกอบด้วย มาตรการขึ้นภาษี ขึ้นราคาเชื้อเพลิงรถยนต์ และเปิดตัวสกุลเงินใหม่ ที่เรียกว่า Sovereign Bolivar ที่มีค่าลดลง 1 แสนเท่า (เลขศูนย์ลดลง 5 ตัว) เมื่อเทียบกับเงินโบลิวาร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ปฏิกิริยาตอบรับต่อแผนดังกล่าวไม่ดีนัก นักเศรษฐศาสตร์และฝ่ายค้านกลุ่มหนึ่งเรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงทั่วประเทศในวันอังคารที่ผ่านมา เพราะไม่เชื่อว่านั่นคือ หนทางที่จะแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น และจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่า ชาวเวเนซุเอลาประมาณ 90% มีรายได้อยู่ในข่าย "คนยากจน" และมากกว่า 60% ยอมรับว่า ตื่นขึ้นมาในแต่ละวันด้วยความหิวโหย เนื่องจากไม่สามารถซื้อหาอาหารในท้องตลาดได้อย่างเพียงพอ

 

[caption id="attachment_308849" align="aligncenter" width="503"] ©DavidRockDesign ©DavidRockDesign[/caption]

นายเอ็นริเก้ คาปริเลส หนึ่งในผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญ กล่าวว่า มาตรการของนายมาดูโรจะนำพาประเทศเข้าสู่ยุคที่มืดมนที่สุด และนี่จะเป็นโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ "รัฐบาลได้ตัดสินใจที่จะผลักพวกเราลงสู่หายนะขั้นสุดท้าย" คาปริเลส กล่าว สอดคล้องกับทรรศนะของ นายอังเดร เวลาซเควส ผู้นำฝ่ายค้านอีกคนหนึ่ง ที่เห็นว่า มาตรการที่รัฐบาลประกาศออกมาไม่ใช่แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่เป็นมาตรการที่จะทำให้ประชาชนหิวโหยมากขึ้น จนขึ้น ทุกข์ยากลำบากมากขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น และเศรษฐกิจมีแต่จะเสื่อมถอยลง

แต่นั่นก็ย้อนแย้งกับวิสัยทัศน์ของผู้นำเวเนซุเอลา เขากล่าวว่า ประเทศจำเป็นต้องเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น แต่ก็เห็นได้ว่า มีความพยายามจากฝ่ายตรงข้ามที่จะสกัดกั้นไม่ให้รัฐบาลนำประเทศสู่รุ่งอรุณของเศรษฐกิจโฉมใหม่ โดยล่าสุด มีความพยายามที่จะสังหารเขาด้วยโดรนที่บรรทุกระเบิดมาเต็มพิกัด แต่ดีที่แผนดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ

 

[caption id="attachment_308851" align="aligncenter" width="503"] ©alexandersr ©alexandersr[/caption]

การอพยพออกจากประเทศอย่างต่อเนื่องของชาวเวเนซุเอลา ซึ่งนับจากปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีแล้วกว่า 2.3 ล้านคน โดยส่วนใหญ่มุ่งหน้าสู่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ บราซิล ชิลี โคลอมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู เป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลวาดภาพให้เห็นถึงอนาคตที่ดีขึ้น และเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวนั้น ยังมีประชากรจำนวนมากที่ไม่เชื่อ ผู้อพยพหลายคนก็ยังไม่เช่ือว่า ตนเองจะมีวันนี้ คือ วันที่ต้องอพยพหนีออกจากประเทศบ้านเกิดเมืองนอน เพราะสภาพความยากแค้น สินค้าราคาแพง ขาดตลาด และไร้ซึ่งสวัสดิการทางสุขภาพและสังคม บางคนให้สัมภาษณ์ว่า รายได้จากการทำงานตลอดทั้งเดือนนั้น เพียงพอที่จะซื้ออาหารเลี้ยงปากท้องได้เพียง 2 วันเท่านั้น ยกตัวอย่าง ไก่ 1 ตัว ราคา 14.6 ล้านโบลิวาร์ (นั่นหมายถึงธนบัตร 1,000 โบลิวาร์ ที่มัดเป็นตั้ง จำนวน 2 ตั้ง ความสูง 73 เซนติเมตร น้ำหนักของธนบัตรเทียบเท่าถุงน้ำตาลทราย บรรจุถุงละ 1 กิโลกรัม จำนวน 14.6 ถุง) สะท้อนภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงและการไร้ค่าของสกุลเงินโบลิวาร์ที่ผู้คนในประเทศอื่น ๆ ยากจะนึกภาพออก

อย่างไรก็ตาม สภาวะผู้อพยพทะลักเข้าสู่ชายแดน ทำให้หลายประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ชิลี โคลอมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู เริ่มออกมาตรการสกัดกั้นผู้อพยพแล้ว และบางพื้นที่ก็เกิดการก่อความรุนแรง โดยกลุ่มต่อต้านผู้อพยพทำให้มีการผลักดันผู้อพยพกลับสู่ประเทศเวเนซุเอลา

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า สถานการณ์เช่นนี้ทำให้น่าหวั่นเกรงว่า เวเนซุเอลาอาจต้องเจอกับรัฐประหาร หรือ การปฏิวัติโค่นอำนาจทางการเมืองในเร็ววัน


……………….
รายงานพิเศษ โดย โต๊ะข่าวต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สาวปมวิกฤติเศรษฐกิจ-การเมือง ชนวนลอบสังหาร "ผู้นำเวเนซุเอลา"
ตลาดกังวลส่งออกเวเนซุเอลาลดต่อเนื่อง หนุนราคาน้ำมันดิบขึ้น


e-book-1-503x62-7