SMEsภาคเหนือตอนบน"ตื่นตัวค้าออนไลน์" ชักแถวปรับตัวสู่อุตสาหกรรม4.0

25 ส.ค. 2561 | 08:18 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ช่วง 2-3 ปีมานี้จะเห็นว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างให้นํ้าหนักกับการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งอี-มาร์เก็ตเพลส, เว็บไซต์ และโซเซียลมีเดีย มากขึ้น สินค้าหลายตัวมีการตัดตอนโดยผลิตแล้วขาย ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือไม่ต้องเปิดหน้าร้านขายแบบเดิมๆ อีกต่อไป แต่ลูกค้าสามารถสั่งสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย หรือออนไลน์ได้แบบรวดเร็วทันใจ ทำให้หน่วยงานรัฐต่างเดินสายจัดสัมมนางาน e-Commerce กันชนิดถี่ยิบ และเกือบทุกเวทีที่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีในพื้นที่ต่างจังหวัดต่างให้ความสนใจ เพราะต้องการยกระดับให้ธุรกิจของตัวเองมีช่องทางการค้าขายกว้างขึ้นและสามารถต่อยอดไปยังอี-คอมเมิร์ซแบบข้ามพรมแดนได้เร็วขึ้น
344 “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ นายบุญชู กมุทมาโนชญ์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ภาคเหนือตอนบน 2 ถึงการขับเคลื่อนของผู้ประกอบการในพื้นที่เพื่อก้าวไปสู่การค้ายุคใหม่ โดยประธานสมาพันธ์ เอสเอ็มอี ไทย ภาคเหนือตอนบน 2 กล่าวว่า พื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่รับผิดชอบจะครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด คือ เชียงราย พะเยา แพร่และจังหวัดน่าน ซึ่งปัจจุบันได้รับนโยบายมาจากสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ส่วนกลาง ที่กำชับให้ดูแลสมาชิกในพื้นที่ให้ดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีประชากรในพื้นที่ 4 จังหวัด ราว 2.5 แสนคน ยังไม่รวมประชากรแฝงอีก 5 แสนคน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรมากกว่า 50% ที่เหลือเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรับราชการ
ต้อน3แสนรายเข้าระบบ

ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบในพื้นที่ 4 จังหวัดดังกล่าว มีทั้งสิ้น 1.5 แสนราย และเป็นเอสเอ็มอีที่มีข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการอีกราว 3 แสนรายที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ หรือเข้าสู่การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล, การมาเป็นสมาชิกขององค์กรภาคเอกชน อย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , หอการค้าฯ หรือสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

“กว่า 3 แสนรายนี้ยังเข้าไม่ถึงการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารของภาครัฐที่ส่งไปถึงเอสเอ็มอี ทำให้รับรู้ข่าวสารล่าช้า ล่าสุดทางสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยส่วนกลาง จึงมีนโยบายให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เข้ามาเป็นสมาชิกของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย โดยมองว่าภาคเหนือตอนบน2 น่าจะพร้อมเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็มีผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มโอท็อปและยังเข้าไม่ถึงโซเชียลมีเดีย หรือค้าขายทางอี-คอมเมิร์ซ อีกจำนวนมาก”

[caption id="attachment_308831" align="aligncenter" width="503"] Female hands using smart phone for internet shopping Female hands using smart phone for internet shopping[/caption]

ชูความได้เปรียบค้าข้ามแดน

นายบุญชูกล่าวว่า ความจริงแล้วภาคเหนือตอนบนมีความได้เปรียบและมีโอกาสในการค้าข้ามแดน หรือเชื่อมโยงการค้าไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้ง่าย เพราะจะมีอยู่ 3 จังหวัดที่มีด่านชายแดนติดเพื่อนบ้านโดยเฉพาะจีน คือ เชียงราย น่าน พะเยา ตรงนี้สามารถขายสินค้าผ่านโซเชียลเพื่อค้าขายข้ามแดนได้ โดยเฉพาะค้าขายทางออนไลน์ ทั้งนี้ล่าสุดมีนักธุรกิจจีนสนใจสินค้าไทย ใน 2 รูปแบบคือ ต้องการสั่งสินค้าไทยเข้าไปขายในจีน และต้องการเข้ามาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทย ซึ่งตรงนี้ยังไม่พร้อมเปิดเผยตัวแต่มีหลายรายที่เจรจาร่วมกันอยู่

สำหรับภาคเหนือตอนบน 2 ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และน่านนั้น จากการสำรวจจะพบว่า มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่ 3 กลุ่มหลัก คือ ผู้ประกอบการที่ทำอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร , อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น โฮมสเตย์ รีสอร์ต และอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป โดยทั้ง 3 กลุ่มนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงมาต่อเนื่องในแง่ของการพัฒนาด้านนวัตกรรม หรือการปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

อย่างไรก็ตามนโยบายจากสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจากส่วนกลางจะมอบหมายหรือให้นโยบายที่เน้นภาพรวมของการพัฒนาเอสเอ็มอี ซึ่งสมาชิกเอสเอ็มอีที่อยู่ในภาคเหนือตอนบนก็ขานรับ โดยเฉพาะในเรื่องการเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนการตลาด ก่อนการผลิตสินค้า รวมถึงการให้องค์ความรู้ต่อเอสเอ็มอีในการเข้าถึงระบบทุนของรัฐ โดยสามารถเขียนแผนธุรกิจเสนอขอสินเชื่อได้เอง

090861-1927-9-335x503-3
4จังหวัดตื่นตัวค้าออนไลน์

สำหรับปฏิกิริยาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่และน่านนั้น ในขณะนี้มีการตื่นตัวมากที่จะยกระดับตัวเองในการเปิดกว้างด้านการค้า การขาย นับตั้งแต่การขานรับทุกครั้งที่มีงานฝึกอบรม หรือสัมมนาเกี่ยวกับการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อทำการค้าขายทางออนไลน์ หรือแม้แต่สมาชิกที่เกษียณไปแล้ว มีการขายสินค้าโดยรีวิวสินค้าออกมาเป็นระยะ เช่น กล้วยที่ปลูกไว้พร้อมตัด หากลูกค้าหรือผู้ที่สนใจรายใดต้องการสามารถสั่งจองได้ทางไลน์หรือทางเฟซบุ๊ก เช่นเดียวกับการขายมะนาวที่ลงประกาศขายทางไลน์หรือเฟซบุ๊กกันเป็นแถว

“มีรายหนึ่งตอนต้นไม้ขาย ประกาศผ่านโซเชียลว่าอีก 2 สัปดาห์รากต้นไม้จะงอก โดยนำเสนอภาพผ่านยูทูบ แล้วเชิญชวนให้สั่งซื้อทางออนไลน์ได้”

ประธานสมาพันธ์ เอสเอ็มอี ไทย ภาคเหนือตอนบน 2 ตั้งข้อสังเกตอีกว่า สมัยก่อนจะซื้อวัตถุดิบผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่ปัจจุบันพ่อค้าคนกลางหายไปแล้ว เพราะคนซื้อสามารถเข้าถึงคนผลิตได้เลย เดิมทีเวลาจะขายเครื่องสำอางก็ต้องไปดูอาคารพาณิชย์ ดูทำเลในห้างเพื่อวางสินค้า หรือผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่ปัจจุบันมีออร์เดอร์สั่งตรงถึงโรงงาน และโรงงานจะเป็นผู้ส่งมอบไปยังปลายทาง

“ผมมองว่าภายใน 3-5 ปีจากนี้ไปค้าขายผ่านออนไลน์จะมีบทบาทมากขึ้น ใครไม่ปรับตัวก็ตายสถานเดียว และจะเห็นปรากฏการณ์ใหม่ด้านการค้าขายในพื้นที่มากขึ้น สังเกตได้ว่าขณะนี้ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 2 กลุ่มผู้ประกอบการที่มีหน้าร้านอยู่แล้ว ถูกแย่งโดยการซื้อขายผ่านออนไลน์ไปแล้ว 20-30% ผู้ประกอบการบางรายก็ให้เด็กรุ่นใหม่ทำการขายผ่านออนไลน์คู่ขนานไปกับการค้าแบบเดิมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ได้สนใจขายหน้าร้านเกิดมากขึ้นด้วย”
เรื่อง : งามตา สืบเชื้อวงค์

ฐานเศรษฐกิจ หน้า 13 ฉบับที่ 3395 วันที่ 26-29 สิงหาคม 2561

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6