เทนเซ็นต์กางแผนรุกไทย วางโครงสร้างพื้นฐานรับบริการวีแชตเพย์

25 ส.ค. 2561 | 11:19 น.
"เทนเซ็นต์"ซุ่มวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขยายธุรกิจในไทย ประเดิมให้บริการคลาวด์เซอร์วิส องค์กรธุรกิจในไทย เริ่มวางเครือข่ายร้านค้าพันธมิตรรองรับบริการวีแชตเพย์คนไทยในอนาคต พร้อมเปิดช่องเข้าลงทุนธุรกิจดั้งเดิมที่เกื้อหนุน

นายกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทเทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าที่ผ่านมาบริษัทมุ่งการขยายการบริการในไทยต่อเนื่อง และพร้อมนำบริการ หรือธุรกิจใหม่ๆ จากบริษัทแม่เข้ามาให้บริการในไทย โดยโครงสร้างธุรกิจของเทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) กับบริษัทแม่ในจีน ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ 1.นิวส์ และพอร์ทัล บริการข้อมูลข่าวสารผ่านสนุกดอทคอม และ NoozUp (นิวส์อัพ) โมบายแอพพลิเคชันเกาะกระแส ข้อมูล ข่าวสาร สำหรับกลุ่มคนเมือง คนรุ่นใหม่ คนที่เชื่อมต่อกับสังคมอยู่ตลอด

2.กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ และมัลติมีเดีย ที่ประกอบด้วย บริการเพลงออนไลน์ Joox ที่รวบรวมเพลงลิขสิทธิ์จากค่ายเพลงหลักทั่วโลก และค่ายเพลงของไทย โดยในปี 2560 มียอดสตรีมมิ่งสูงสุดตลอดทั้งปีกว่า 2,000 ล้านสตรีม มียอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชันอยู่ที่ 50 ล้านครั้ง และเกม โดยมีเกม Ultimate Legends ติดอันดับ 1 ในหมวดรวมบนแอพสโตร์ และติดท็อป 100 ในหมวดเกม

090861-1927-9-335x503-3

3. กลุ่มธุรกิจบริการ ที่มีบริการด้านดิจิตอล เซอร์วิส เอเยนซีแบบครบวงจร โดยบริษัทท็อปสเปซ ซึ่งที่ผ่านมาท็อปสเปซ ขยายบริการให้ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์และบริการของเทนเซ็นต์ เช่น ลูกค้าของท็อปสเปช สามารถสร้างบัญชีอย่างเป็นทางการขึ้นมา วีแชต (WeChat Official Account) และซื้อสื่อในวีแชต สำหรับธุรกิจที่จะขยายไปประเทศจีน และต้องการสื่อสารกับผู้บริโภคชาวจีน หรือคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศจีน

ขณะเดียวกันยังได้เริ่มให้บริการคลาวด์กับกลุ่มลูกค้าองค์กร อาทิ เวิร์คพอยท์ การีน่า อุ๊คบี เมื่อเดือนมีนาคม 2561 และอยู่ระหว่างหารือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพหลายราย ส่วนการให้บริการอี-วอลเลตนั้นผ่านวีแชต เพย์ ในไทยนั้นขณะนี้ยังไม่มีแผนให้บริการ โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการขยายพันมิตรร้านค้า เพื่อรองรับให้บริการวีแชตเพย์ กับนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาในไทยเท่านั้น ส่วนในไทยคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรร้านค้า การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค และสร้างแบรนด์วีแชตเพย์

นอกจากนี้ยังได้เข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัพ โดยก่อนหน้านี้เข้าไปลงทุนในอุ๊คบี ซึ่งในการลงทุนของบริษัทนั้นไม่ได้มอง
เฉพาะสตาร์ตอัพเพียงอย่างเดียว แต่มองธุรกิจดั้งเดิม ที่เข้ามาเกื้อหนุนบริการของบริษัท โดยเม็ดเงินการลงทุนนั้นไม่ได้กำหนดไว้ขึ้นอยู่กับโอกาสทางธุรกิจ

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,395 ระหว่างวันที่ 26-29 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62-7