กู้1พันล้านฝ่าวิกฤติ เพิ่มทุนอีกทางเลือก‘นกแอร์’

25 ส.ค. 2561 | 08:26 น.
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขึ้นเครื่อง หมาย C บมจ. สายการบินนกแอร์ (NOK)  เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 เตือนนักลงทุนให้ใช้ความระมัดระวัง

หน้า22

หลังพบบริษัทมีส่วนผู้ถือหุ้นตํ่ากว่า 50% ของทุนที่ชำระแล้ว สำหรับงบการเงินครึ่งแรกของปี 2561 ผู้บริหารสายการบินนกแอร์ นำโดย ปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จึงจัดเวทีชี้แจงแก่นักลงทุนและผู้เกี่ยวข้อง ตามกฎเกณฑ์ใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ

MRTO1872

โดยยอมรับว่าปัญหาหนักๆ ที่ทำให้นกแอร์ขาดทุนหนักมาจากเรื่องราคานํ้ามันที่พุ่งสูงขึ้นช่วงไตรมาส 2 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 86.77 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจาก 60.47 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือขยับขึ้น 31% เทียบกับปีที่แล้ว  ส่งผลให้ต้นทุนค่านํ้ามันของบริษัทเพิ่มขึ้น 28.12% แม้ว่าจะมีการทำเฮจจิ้งนํ้ามัน(ประกันความเสี่ยง) ร่วมกับการบินไทยไว้แล้ว

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงคือ การแข่งขันทางด้านราคา ของสายการบินต้นทุนตํ่า ที่รุนแรง  แม้ว่าฝ่ายบริหารจะปรับโมเดลการขายและหารายได้เพิ่ม  อีกทั้งจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ สกุลดอลลาร์สหรัฐฯที่ส่งผลต่อการดำเนินการของนกแอร์โดยตรง

090861-1927-9-335x503-3
นํ้ามัน-ค่าเงิน ปัจจัยลบ

ปิยะ ระบุว่าผลประ กอบการไตรมาส 2 ขาดทุน 774 ล้านบาท แต่ถือว่าลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 14.78% เป็นผลมาจากแผนฟื้นฟูธุรกิจ “เทิร์น อะราวด์” ที่ทำมาร่วม 11 เดือน ทั้งที่มีการปลดระวางเครื่องบินไป 4 ลำ  แต่พบว่าปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 13.22%  รายได้เพิ่ม 2.6% อัตราผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้น 7.27%  เที่ยวบินเพิ่ม  3.16% เส้นทางบินจีนอัตราผู้โดยสารเพิ่ม 161% เคบินแฟกเตอร์เฉลี่ยเพิ่ม 84.81% จากปีที่แล้วเป็น 91.22% ถือว่าสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทุกอย่างถือว่าเดินตามแผน เพิ่มรายได้ลดค่าใช้จ่าย แต่ที่แก้ไม่ได้คือ เรื่องราคานํ้ามัน และอัตราแลกเปลี่ยน

ขณะที่แผนการ Average  Aircraft  Utilization การหมุนเวียนใช้เครื่องบินต่อวัน ยังไม่เข้าเป้า โดย สามารถเพิ่มจาก 7.89 ชม. บินต่อวัน เป็น 9.76 ชม.บินต่อวันในปีนี้ ซึ่งตํ่ากว่าเป้าที่ตั้งไว้ 11.2 ชม.บินต่อวัน แต่ฝ่ายบริหารมีแผนที่จะนำเครื่องบินที่ยังว่างอยู่ 7-8 ลำไปให้บริการในช่วงกลางคืนบินระยะไกล เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง เพราะจุดอ่อนนกแอร์ที่ผ่านมาคือการเป็นสายการบินที่บินเส้นทางในประเทศ 100% เท่านั้น

 

ร่วมมือใกล้ชิดไทยกรุ๊ป

แผนการเปิดเส้นทางบินต่างประเทศจึงมุ่งเป้าไปยังตลาดจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ แต่ทำได้เพียงตลาดจีนที่สามารถเปิดเส้นทางบินประจำได้ 10 เส้นทาง และอีก 2 เส้นทางเป็นการบินแบบเช่าเหมาลำ ซึ่งช่วงเกิดปัญหาเรือล่มภูเก็ต ทำให้นักท่องเที่ยวจีนชะลอตัวไปบ้าง แต่สำหรับอินเดีย ถือว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าในวันที่ 15 ตุลาคมนี้น่าจะเปิดบินเข้าอินเดีย 3 เส้นทางบินใหม่ หลังจากที่ล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้

ส่วนแผนรายได้ หลังจากปรับเปลี่ยนนกแอร์จากสายการบินต้นทุนตํ่ามาเป็นไลฟ์สไตล์แอร์ไลน์ มีการออกโปรดักต์
ใหม่ให้ผู้โดยสารมีทางเลือกมากขึ้นและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตั๋วโดยสารอย่าง “นกเลือกได้” เป็นการออกบัตรโดยสาร นกแม็กซ์   รวมนํ้าหนัก อาหารร้อนบนเครื่อง และรับไมล์สะสมของ รอยัล ออร์คิด พลัส การบินไทยได้ 250 ไมล์ นกเอ็กซ์ตร้า เป็นบัตรโดยสารที่รวมนํ้าหนัก สะสมไมล์รอยัล ออร์คิด พลัส 150 ไมล์

“การขายตั๋วราคาถูกแต่แยกจากบริการอื่นให้นักท่องเที่ยวเลือก เช่น โหลดกระเป๋า อาหารร้อน หรือมีโปรแกรมให้ผู้โดยสารเลือกการเดินทางเอง ซึ่งสอดรับกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีน ที่ผ่านมาพบว่ามีรายได้จากการโหลดกระเป๋าเพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านบาท และยังมีกลยุทธ์ โค-แบรนด์ หารายได้เสริมจากธุรกิจแอร์คาร์โก ซึ่งอยู่ระหว่างการเปิด
ทีโออาร์ ขณะนี้มีผู้สนใจ 3 ราย ในเส้นทางบินต่างประเทศ”

ด้านความร่วมมือกับไทยกรุ๊ป โดยมีการบินไทยเป็นพี่ใหญ่ ซึ่งมีอยู่หลายด้าน นอกเหนือจากโปรแกรมสะสมไมล์ เฮจจิ้งนํ้ามัน กำลังหารือถึงความร่วมมือด้านอินเตอร์ไลน์ โค้ดแชร์ ในบางเส้นทางเพื่อความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารในการซื้อตั๋ว การประกันความเสี่ยงจากค่าเงินที่ผันผวน   ซึ่งบอร์ดนกแอร์ให้นโยบายที่จะทำประกันค่าเงินถึง 50% ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และกำลังศึกษากับทีมงานการบินไทย

MP22-3395-A
ปัญหาไฟลต์ดีเลย์แก้ไม่ง่าย

แต่ปัญหาหนึ่งที่ฝ่ายบริหารนกแอร์ ยอมรับว่าแก้ยากและต้องการใช้เวลาคือ การตรงต่อเวลา ที่ผ่านมานกแอร์มีปัญหาเรื่องเที่ยวบินล่าช้ามากและเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็เพิ่งเจอปัญหาหนักมากและสถิติหล่นมาอยู่ที่ 67.36% แต่หลังจากมีการ แก้ไขในเดือนเมษายนเริ่มดีขึ้น และเพิ่มเป็น 87.89% ในเดือนมิถุนายน

“การบินตรงต่อเวลาเดือนมีนาคมที่ดีเลย์มาก ส่งผลกระทบต่อคนแยะ ต้องใช้เวลาในการสร้างความมั่นใจ สิ่งที่เราทำคือค่อยๆ สื่อสารให้คนลองว่าค่อยๆ ดี แต่อาจจะช้าไปนิด”

อย่างไรก็ดีสิ่งที่นักลงทุนตั้งข้อสงสัยคือ การกู้เงินจากผู้ถือหุ้น นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร โดยบอร์ดอนุมัติกรอบเงินกู้ 1 พันล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 6% โดยกู้มาก้อนแรก 500 ล้านบาท ที่นักลงทุนตั้งคำถามว่าดูเหมือนเป็นการซํ้าเติมธุรกิจทั้งที่ตัวเองมีหุ้นอยู่ด้วย มากกว่าการเข้ามาให้ความช่วยเหลือ

ต่อเรื่องนี้ฝ่ายบริหารชี้แจงว่าอัตราเงินกู้ดังกล่าว เป็นการกู้แบบไม่มีหลักทรัพย์คํ้าประกัน เป็นการกู้ยืมระยะเวลาสั้นๆ 180 วัน เป็นการช่วยเหลือ อัตราดอกเบี้ยตามราคาตลาด เป็นไปตามเกณฑ์ เพื่อให้ผ่านช่วงนี้ไปถึงฤดูกาลท่องเที่ยว ที่ผ่านมานกแอร์ไม่มีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินใด ๆ แต่เป็นการใช้กระแสเงินสดที่มีอยู่ ทั้งยังมีการตั้งสำรองค่าซ่อมบำรุงไว้ถึง 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร่วม 5 พันล้านบาท

ถึงตรงนี้! ดูเหมือนว่านกแอร์ได้มาถึงจุดไม่มีทางเลือก และได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ยิ่งหากราคานํ้ามันครึ่งปีหลังยังซํ้าเติม เป้าสุดท้ายหากไม่สามารถฝ่าวิกฤติได้ ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเพิ่มทุนอีกรอบ?

รายงาน โดย ภาณี สิงห์แดง

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3395 ระหว่างวันที่ 26 - 29 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62-7