‘บีซีพีจี’ลุยโซลาร์ ขายไฟราคาตํ่า15%

25 ส.ค. 2561 | 08:29 น.
บีซีพีจี ตั้งรับนโยบายโซลาร์ภาคประชาชนปลายปีนี้ ลุยทันทีหากกระทรวงพลังงาน รับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน ขณะที่ความร่วมมือกับแสนสิริตั้งเป้าปี 2563 เป็น 2 เมกะวัตต์ ส่วนดีลขายโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่น 2 โครงการสรุปภายในไตรมาส 3-4 ปีนี้

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ภาคประชาชนที่คาดว่าจะมีข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งบีซีพีจีมีความพร้อมทันที หากมีความชัดเจนด้านนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว

แสนสิริ copy

 

โดยประชาชนสามารถขายไฟฟ้ากลับไปยังภาครัฐในราคาที่สมเหตุสมผล แต่หากการขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐราคาไม่จูงใจ บริษัทก็สามารถนำไฟฟ้ามาเก็บไว้ในแบตเตอรี่เก็บพลังงาน (Energy Storage) เพื่อใช้เองหรือจำหน่ายให้กับผู้ใช้ในราคาตํ่ากว่าซื้อจากระบบประมาณ 15%

โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาโครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปให้กับผู้ประกอบการหลายราย อาทิ บ้านที่พักอาศัย มหาวิทยาลัย และโรงงานอุตสาหกรรม คาดว่าในปีนี้ประมาณ 20-30 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกว่า 12 เมกะวัตต์ จากการเป็นผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) 12 เมกะวัตต์ และโครงการนำร่องพื้นที่ T77 ย่านสุขุมวิท 77 ของบริษัท แสนสิริฯ 635 กิโลวัตต์

090861-1927-9-335x503

สำหรับโครงการ T77 ที่บีซีพีจีร่วมกับทางแสนสิริ จะมีผู้ที่เกี่ยวข้องรวม 4 ราย โดยเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน 3 ราย ได้แก่ คอมมิวนิตีมอลล์, โรงเรียน และคอนโดมิเนียม ส่วนอีก 1 รายจะเป็นผู้ซื้อ คือ โรงพยาบาลฟัน และมีบริษัทเป็นผู้บริหารโครงการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งจะนับเป็นโครงการแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะมีการนำเทคโนโลยี Blockchain สื่อกลางในการทำธุรกรรมบนช่องทางดิจิตอล มาใช้นำร่องแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ระหว่างผู้บริโภคภายในชุมชนอย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่สามารถบริหารจัดการการซื้อขายไฟฟ้าให้มีราคาตํ่ากว่าราคาขายปลีกไฟฟ้า 15%

นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งเป้าขยายโครงการความร่วมมือกับทางแสนสิริอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2563 จะเพิ่มเป็น 2 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันบีซีพีจียังมองโอกาสการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่เป็นเกาะ ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าจากนํ้ามันดีเซลจึงมีต้นทุนค่าไฟสูง ดังนั้นเทคโนโลยี Blockchain จึงมีโอกาสเข้าไปได้

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,395 วันที่ 26-29 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62