ข้อควรพิจารณา ก่อนไทยเข้าเป็นสมาชิกCPTPP

25 ส.ค. 2561 | 04:45 น.
ในช่วงนี้ประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดจากประชาคมโลกรวมไปถึงประเทศไทยคงจะหนีไม่พ้นเรื่องของ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) หรือที่เรียกว่า “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นแปซิฟิก” ในปัจจุบันความตกลงนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้แต่อย่างใดจนกว่าจะมีประเทศสมาชิกจะให้สัตยาบันครบ 6 ประเทศ มีความเป็นไปได้ว่าความตกลงนี้น่าจะมีผลใช้บังคับในช่วงต้นปีหน้า (ปี 2562)

สาเหตุที่ทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจในไทย เนื่องจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต่อท่าทีที่รัฐบาลไทยควรมีต่อความตกลงฉบับนี้ ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นคงมีหลายประเด็นที่ท่านผู้อ่านและผู้ที่เกี่ยวข้องควรทราบเพื่อที่จะได้ใช้ในการพิจารณาประเด็นดังกล่าว ดังนั้นในบทความฉบับนี้จึงขอหยิบยกประเด็นสำคัญๆ ขึ้นมาพิจารณา ดังต่อไปนี้

ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกของความตกลงนี้แล้วกี่ประเทศ ประเทศอะไรบ้าง ขนาดของตลาดที่จะเปิดเสรีตามความตกลงฉบับนี้มีขนาดใหญ่แค่ไหน ประเทศไทยมีความตกลงเสรีทางการค้า (Free Trade Area: FTA) กับประเทศที่เป็นสมาชิกของ CPTPP อยู่บ้างแล้วหรือไม่ ประโยชน์ของการที่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของ CPTPP คืออะไร ถ้าเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้วประเทศไทยมีภาระผูกพันและส่งผลกระทบกับไทยในประเด็นใดบ้าง และสุดท้าย ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจในการเข้าเป็นสมาชิกของ CPTPP มีปัจจัยสำคัญอะไรอีกบ้างที่จำเป็นต้องใช้ประกอบการพิจารณา

TPP-CP

ในประเด็นแรก ก่อนที่จะมาเป็นความตกลง CPTPP นี้ ความตกลงฉบับเดิมคือ TPP (Trans-Pacific
Partnership) หรือ “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ ประกอบไปด้วย บรูไน สิงคโปร์ ชิลี นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย มาเลเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น เม็กซิโก เปรู แคนาดา และสหรัฐอเมริกา โดยมีผลตั้งแต่ตุลาคม 2558 แต่ต่อมาหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ก็ได้มีการประกาศว่าสหรัฐอเมริกาขอถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของความตกลง TPP ยังผลให้เหลือสมาชิกเพียง 11 ประเทศ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นความตกลง CPTPP แทน ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือ TPP-11 นั่นเอง

โดยก่อนหน้าที่สหรัฐฯจะประกาศถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของความตกลง TPP หลายประเทศสนใจที่จะเข้าเป็นสมาชิกด้วย เนื่องจากเมื่อรวม GDP ของ 12 ประเทศสมาชิกของ TPP เข้าด้วยกันแล้วจะสูงถึง 40% ของ GDP โลก แต่เมื่อสหรัฐฯได้ถอนตัวออกไปจึงทำให้ GDP รวมของประเทศสมาชิกของความตกลง CPTPP ร่วงลงเหลือเพียง 14% เท่านั้น ซึ่งดูเหมือนจะทำให้ความน่าสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกในความตกลงนี้ลดลง

นอกจากนี้หากพิจารณาถึงประโยชน์ที่จะเกิดจากความตกลงเสรีทางการค้าของกลุ่ม CPTPP นี้แล้ว ประเทศไทยเองก็ได้มีการทำความตกลงเสรีทางการค้า (FTA) กับ 9 ใน 11 ประเทศสมาชิกของ CPTPP อยู่แล้ว เหลือเพียงแค่ประเทศเม็กซิโกและแคนาดาเท่านั้นที่ไทยยังไม่มี FTA ด้วย ดังนั้นถึงแม้ในปี 2560 มูลค่าการค้าของไทยที่มีต่อประเทศสมาชิกในกลุ่ม CPTPP จะสูงถึง 4.5 ล้านล้านบาท แต่ก็เป็นการส่งออกเพียง 2.3 ล้านล้านบาท และแม้ไทยจะเกินดุลการค้ากับประเทศสมาชิกของ CPTPP อยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่ก็เป็นการดำเนินการกับประเทศที่ไทยได้มีความตกลง FTA ด้วยแล้วเป็นส่วนใหญ่ ในส่วนนี้ทำให้เห็นได้ว่าจำนวนสมาชิกที่ไทยยังไม่ได้มีความตกลงการค้าเสรีด้วย กับจำนวนของรายได้ที่จะเกิดขึ้นสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกนั้นจะคุ้มค่ากับสิ่งที่ไทยต้องแลกมาหรือไม่

ในการเข้าเป็นสมาชิกของ CPTPP นี้ ไทยต้องเปิดเสรีภาคการค้าบริการ เสรีในอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่เป็นปัจจัยหลักสำหรับเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับการนำเข้าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีการตัดแต่งพันธุกรรม ประกอบกับ CPTPP มีนโยบายการคุ้มครองการลงทุนที่เข้มงวด ผู้ลงทุนสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำของรัฐในการดำเนินนโยบายสาธารณะ

ดังนั้น ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจว่าควรที่จะเข้าเป็นสมาชิก CPTPP หรือไม่ ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ควรนำมาใช้ประกอบการพิจารณา เช่น การตัดสินใจที่ไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกจะทำให้ประเทศไทยเสียพื้นที่ในฐานะประเทศคู่ค้าเดิมกับประเทศในกลุ่มสมาชิก CPTPP (ที่มี FTA อยู่ก่อนแล้ว) ให้กับประเทศอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนามหรือไม่ เพราะประเทศที่เป็นสมาชิกของ CPTPP จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเลิกภาษีศุลกากรถึง 98% จึงอาจเปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากประเทศสมาชิกด้วยกันเอง ดังนั้นการที่มี FTA กับ 9 ใน 11 ประเทศก็อาจไม่สามารถช่วยการันตีได้ว่าไทยจะไม่เสียฐานลูกค้าให้กับประเทศคู่แข่งที่เป็นสมาชิกด้วยกันไป

ในขณะเดียวกันรัฐก็ต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงผลได้ผลเสียโดยเทียบจากความเสี่ยงของการสูญเสียรายได้ของไทยหากไม่เข้าเป็นสมาชิก กับความเสี่ยงต่อการสูญเสียของไทยอันเป็นผลจากการเปิดเสรีในเรื่องต่างๆ ที่เป็นพันธกรณีที่ไทยจำต้องปฏิบัติตามหากตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิก ทั้งเสรีทางการค้า การบริการ อุตสาหกรรมเกษตร ที่ทำให้ประเทศที่เป็นสมาชิกด้วยกันมีสิทธิที่จะเข้ามาแข่งขันมากขึ้น เช่น สินค้าเกษตรที่มียักษ์ใหญ่อย่างแคนาดา ที่คงต้องเข้ามาเป็นคู่แข่งสำคัญกับสินค้าเกษตรภายในของไทยอย่างแน่นอน

นอกจากนี้จำนวนของสมาชิกของความตกลงนี้ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญซึ่งควรต้องนำมาพิจารณาประกอบ ในตอนนี้มีหลายประเทศที่อยากเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ CPTPP ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โคลัมเบีย หรือแม้แต่อังกฤษ แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีบางประเทศ เช่น มาเลเซีย ได้มีการเสนอให้ทบทวนสถานะความเป็นสมาชิกของ CPTPP ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการติดตามความเคลื่อนไหวของประเทศเหล่านี้ย่อมเป็นประโยชน์อย่างมากกับการตัดสินใจของรัฐบาล

องค์ประกอบและปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่รัฐบาลจำต้องหยิบยกขึ้นพิจารณา เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถกำหนดท่าทีต่อความตกลงนี้เพื่อที่จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุด และก่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดด้วยเช่นกัน

ตอนนี้น่าจะเหลือเวลาอีกไม่ถึงครึ่งปีแล้วที่ CPTPP จะมีผลบังคับใช้ ดังนั้นประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นคงต้องได้รับการพิจารณาที่ไม่ได้เป็นเพียงการดำเนินการในเชิงรูปแบบในลักษณะของการรับฟังความคิดเห็น แต่เป็นการวิเคราะห์ในข้อมูลเชิงลึกเพื่อแสดงให้เห็นถึงผลดีและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นอย่างชัดเจนก่อนที่ไทยจะตัดสินใจในประเด็นสำคัญเรื่องนี้ ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าการตัดสินใจดังกล่าวย่อมกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งระดับมหภาคและจุลภาคของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

.........................................................................

| รู้เท่าทันสารพันกฎหมาย |โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปัจจุบันศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom) สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ

| หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3395 ระหว่างวันที่ 26 - 29 สิงหาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว