‘แอลพีจี’ท่วมตลาด ผู้ค้ารวมหัวนำเข้าคาดหวังราคาถูกกว่าปตท.

11 ก.พ. 2559 | 02:00 น.
ผู้ค้าก๊าซแอลพีจี เตรียมรวมหัวนำเข้าแอลพีจีล็อตใหญ่ หลังภาครัฐเปิดเสรีนำเข้าเพิม่ ทางเลอื กในการทำธุรกจิ จากทีป่ ตท.ผูกขาดเพียงเจ้าเดียว แถมราคาต่ำกว่า หวังชิงส่วนแบ่งการตลาดที่ ปตท.ครองอยู่ 35% ด้าน “สยามแก๊ส” เผยมีความพร้อมนำเข้าแล้ว 2.2-4.4 หมื่นตัน ขณะที่กรมธุรกิจพลังงานไฟเขียวให้ “พีเออี” นำเข้าแอลพีจี 2 พันตัน ใน ก.พ.นี้ ส่วน ปตท.พร้อมรับมือแข่งขัน

[caption id="attachment_30889" align="aligncenter" width="503"] ปริมาณความต้องการใช้และนำเข้า LPG ไตรมาส 4 ปี 2558 ปริมาณความต้องการใช้และนำเข้า LPG ไตรมาส 4 ปี 2558[/caption]

จากที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ได้มีมติเห็นชอบให้เปิดเสรีนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือแอลพีจี เมื่อวันที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา พร้อมมีโรดแมป ที่จะเปิดให้การค้าก๊าซแอลพีจีทั้งระบบเป็นไปอย่างเสรี ส่งผลให้บรรดาผู้ค้าก๊าซฯต่างตื่นตัวกันมาก เนื่องจากถือเป็นการยกเลิกการผู้ขาดการจำหน่ายก๊าซแอลพีจี ที่บรรดาผู้ค้าก๊าซต้องไปรับจากคลังบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่มีทางเลือกในการทำธุรกิจมากนัก

 ผู้ค้ารวมหัวนำเข้าแอลพีจี

ล่าสุดแหล่งข่าวจากวงการผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ภายหลังที่กบง.มีมติให้นำเข้าก๊าซแอลพีจีอย่างเสรี ทำให้ผู้ค้าก๊าซหลายรายมีความสนใจที่จะนำเข้าก๊าซแอลพีจีเอง เพื่อเพิ่มทางเลือกจากการซื้อก๊าซแอลพีจีจากปตท.เพียงรายเดียว โดยรูปแบบการดำเนินงานนั้น จะมีทั้งบริษัทที่มีศักยภาพหรือดำเนินธุรกิจค้าก๊าซแอลพีจีในต่างประเทศอยู่แล้ว ก็จะนำเข้ามาเพื่อป้อนให้กับธุรกิจของตัวเอง ในขณะที่ผู้ค้าก๊าซรายเล็กๆ ที่ยังไม่มีศักยภาพพอ จะอาศัยผู้ค้ารายใหญ่เป็นแกนนำ เพื่อรวบรวมปริมาณความต้องการก๊าซแอลพีจีของแต่ละราย และนำเข้ามาเป็นเรือลำใหญ่ เพื่อมาแบ่งตามโควตาที่ได้แจ้งไว้ เป็นการประหยัดค่าขนส่ง และเพิ่มทางเลือกแทนที่จะรับก๊าซฯจากปตท.เพียงรายเดียว

นอกจากนี้ การนำเข้าก๊าซแอลพีจีดังกล่าว ผู้ประกอบการหวังว่า นำเข้ามาแล้วจะได้ราคาถูกกว่าที่ซื้อจากปตท. ซึ่งเมื่อนำมาจำหน่ายในราคาขายปลีกแล้ว จะช่วยให้ราคาลดต่ำลงด้วย ถือเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่จะช่วยชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากปตท.ที่ปัจจุบันมีส่วนแบ่งประมาณ 35 %

"ที่ผ่านมาผู้ค้าแอลพีจีรายดังกล่าว ได้มีการซื้อขายแอลพีจีเพื่อส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีความพร้อมทางการเงิน ท่าเรือ และคลังเก็บแอลพีจี แต่ที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจนจากทางภาครัฐ จึงไม่สามารถนำเข้าได้ เมื่อกบง. มีมติยกเปิดเสรีนำเข้าก๊าซแอลพีจีได้ จึงทำให้ผู้ประกอบการหลายรายหันไปนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศแทน เพื่อเพิ่มช่องทางการแข่งขันจากที่ต้องรับซื้อภายในประเทศ และจากที่ปตท.นำเข้ามาเพียงรายเดียวที่ประมาณ 5-6 หมื่นตันต่อเดือน"

 สยามแก๊สโดดร่วมวง

นางจินตนา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทสนใจนำเข้าแอลพีจีหลังจากกระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมนำเข้าแอลพีจีเสรี แต่คงต้องรอให้ปลดล็อคปัญหา โดยเฉพาะการกำกับราคานำเข้าแอลพีจีปัจจุบันที่ CP+85 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ให้เป็นราคา CP+X ก่อน ที่จะทำให้ราคานำเข้าถูกลง นอกจากนี้จะต้องหารือกับกรมธุรกิจพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก่อน เพื่อจัดสรรโควตาให้กับบริษัท เพราะปัจจุบันบริษัทซื้อแอลพีจีจาก ปตท. ประมาณ 70% ของยอดขายในประเทศทั้งหมดที่ 1.2-1.3 ล้านตันต่อปี

ส่วนการนำเข้าร่วมกับผู้ค้าแอลพีจีรายเล็กนั้น หากเป็นไปได้บริษัทก็สนใจ ซึ่งจะต้องมีการหารือกันต่อไป เนื่องจากมีความพร้อมด้านการนำเข้าและปัจจุบันบริษัทก็ดำเนินธุรกิจแอลพีจีด้วยอยู่แล้ว แต่ส่งขายไปยังประเทศเพื่อนบ้านประมาณ 2 ล้านตันต่อปี ขณะที่การนำเข้าแอลพีจีจากตะวันออกกลางเพื่อจำหน่ายในประเทศ คาดว่าจะอยู่ที่ครั้งละ 2.2-4.4 หมื่นตันต่อเดือน แต่คงต้องหารือกับกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) ให้ชัดเจนก่อน

ด้านนางสาวชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง กรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอยี่ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้รับการติดต่อจากผู้ค้าก๊าซที่จะรวบรวมการนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศ อีกทั้ง ต้องรอนโยบายของภาครัฐเป็นที่ชัดเจนก่อน แต่ที่ผ่านมายอมรับว่าเคยทำการศึกษาที่จะนำเข้าก๊าซแอลพีจีเข้ามาจำหน่ายในประเทศ แต่เมื่อไม่มีความชัดเจนด้านนโยบายจึงเป็นแค่เพียงผลศึกษาไว้เท่านั้น ซึ่งหากผู้ค้ารายอื่นๆ มีแนวคิดที่จะรวบรวมการนำเข้าแอลพีจีจริง บริษัทก็ต้องมาพิจารณาดูว่ามีความเหมาะสมหรือเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

 ปตท.พร้อมแข่งขันสู้

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายนำเข้าก๊าซแอลพีจีแบบเสรี ทาง ปตท. เห็นด้วยและพร้อมแข่งขันกับรายอื่น และหากทางเอกชนรายอื่นต้องการใช้บริการท่าเรือและคลังเก็บแอลพีจี ก็พร้อมให้บริการ ปัจจุบันการขยายคลังเก็บแอลพีจีที่เขาบ่อยา จะเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ สามารถรองรับจากปัจจุบัน 1.3 แสนตัน เป็น 2.5 แสนตันต่อเดือน

นอกจากนี้ ทางกระทรวงพลังงานจะเป็นผู้จัดสรรโควตาแอลพีจีให้กับเอกชนและ ปตท. เพื่อนำเข้าแอลพีจี ซึ่งเอกชนที่ทำสัญญาซื้อขายแอลพีจีกับทาง ปตท.ไว้ สามารถแจ้งล่วงหน้า 2 เดือน อย่างไรก็ตามหากเกิดกรณีที่เอกชนไม่สามารถนำเข้าแอลพีจีได้ตามแผน และต้องให้ทาง ปตท.เป็นผู้ป้อนแอลพีจีแทน ซึ่งจะต้องหารือด้านราคาเพราะเป็นการนำเข้ากรณีพิเศษดังนั้นราคาจะเป็นไปตามตลาดโลก(CP) ไม่ใช่สูตรราคา CP+85 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

"การนำเข้าแอลพีจีเสรี เอกชนที่เคยซื้อแอลพีจีจาก ปตท. ต้องแจ้งล่วงหน้า 2 เดือน ซึ่งในส่วนของการจัดสรรโควตาทางกรมธุรกิจพลังงานจะเป็นผู้ดำเนินการว่าให้เอกชนแต่ละรายเท่าไร ที่เหลือก็ให้ทาง ปตท.นำเข้า แต่หากเกิดกรณีฉุกเฉิน เช่น เอกชนที่นำเข้าแอลพีจีเกิดปัญหาแอลพีจีไม่มาตามกำหนด ต้องให้ ปตท. นำเข้าพิเศษ ก็ควรเป็นราคาต้นทุน ยืนยันว่าปตท.ไม่ได้เอากำไร"นายอรรถพล กล่าว

 รัฐไฟเขียวนำเข้าแล้ว 2 พันตัน

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า นับจากกบง.มีมติให้นำเข้าแอลพีจีได้อย่างเสรีแล้ว ล่าสุด กรมฯ ได้อนุมัติให้บริษัท พีเอพี แก๊ส แอนด์ ออยล์ จำกัด นำเข้าก๊าซแอลพีจีล็อตแรก 2 พันตัน ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ นับว่าเป็นผู้นำเข้าเพื่อจำหน่ายในประเทศรายที่ 2 จากก่อนหน้านี้ ปตท.นำเข้าเพียงรายเดียว คาดว่าภายหลังจากกระทรวงพลังงานปลดล็อคมาตรการที่ไม่เอื้อต่อการนำเข้าของผู้ค้ารายอื่น จะทำให้มีผู้นำเข้าแอลพีจีรายใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ค้าแอลพีจีมาตรา 7 รายใหญ่ ประมาณ 4-5 ราย เข้ามาหารือกับทางกรมฯ เพื่อสอบถามการนำเข้าแอลพีจีเสรี คาดว่าภายหลังจากปลดล็อคอุปสรรคต่างๆเรียบร้อยแล้ว จะมีผู้นำเข้าแอลพีจีรายใหม่ๆทยอยเพิ่มขึ้น อาทิ บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ,เวิล์ดแก๊ส และสยามแก๊ส ที่มีศักยภาพนำเข้าแอลพีจี

ส่วนการยกเลิกชดเชยค่าขนส่งแอลพีจีไปยังคลังภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา สามารถลดภาระที่รัฐต้องจ่ายชดเชยให้กับ ปตท. 70-80 ล้านบาทต่อเดือน และนับว่าเป็นโรดแมปขั้นที่ 1 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมของต้นทุนก๊าซจากการขนส่งไปยังส่วนภูมิภาค เนื่องจากต้องการสนับสนุนแข่งขันนำเข้าแอลพีจีแบบเสรี ขณะที่ขั้นตอนจากนี้จะออกกฎระเบียบด้านการเปิดใช้โครงสร้างพื้นฐานทั้งท่าเรือและคลังแอลพีจีของ ปตท. เพื่อเพิ่มศักยภาพการนำเข้าต่อไป

ส่วนโรดแมปขั้นตอนที่ต้องใช้วิธีการประมูลแข่งขัน(บิดดิ้ง) ราคานำเข้าแอลพีจีนั้น ยังไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการในขณะนี้ เนื่องจากต้องรอให้มีผู้นำเข้ารายใหม่เข้ามาในระบบเพิ่มขึ้น และปริมาณนำเข้าต้องเกินความต้องการใช้ในประเทศ

โดยปัจจุบันยอดใช้แอลพีจีแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ แอลพีจีภาคครัวเรือน เฉลี่ยอยู่ที่ 5.8 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ,ภาคอุตสาหกรรม เฉลี่ยอยู่ที่ 1.7 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ,ภาคขนส่ง เฉลี่ยอยู่ที่ 4.8 ล้านกิโลกรัมต่อวัน และภาคปิโตรเคมี เฉลี่ยอยู่ที่ 5.9 ล้านกิโลกรัมต่อวัน โดยปัจจุบัน ปตท.มีส่วนแบ่งการตลาดแอลพีจีอยู่ที่ 35% ส่วนที่เหลือเป็นของผู้ค้ารายอื่น

 ปล่อยลอยตัวเดินตามโรดแมป

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า หลังจาก กบง.มีมติปรับลดราคาขายปลีกแอลพีจีลง 2 บาทต่อกิโลกรัม หรือถังแอลพีจีขนาด 15 กิโลกรัมลดลง 30 บาทต่อถัง เนื่องจากราคาแอลพีจีในตลาดโลกที่ปรับลดลง 66 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จากเดือนมกราคมที่ผ่านมา อยู่ที่ 363 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือลดลง 1.22 บาทต่อกิโลกรัม ประกอบกับลดเงินจัดเก็บเงินเข้ากองทุนแอลพีจีอีก 64 สตางค์ต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาขายปลีกแอลพีจีอยู่ที่ 20.29 บาทต่อกิโลกรัม

อย่างไรก็ตามราคาแอลพีจีที่ปรับลดลง อาจทำให้ความต้องการใช้แอลพีจีในภาคครัวเรือนไม่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากแอลพีจีนับว่าเป็นสินค้าจำเป็นที่ราคาแพงหรือไม่แพงก็ต้องใช้ ส่วนในภาคขนส่งมีโอกาสเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากแอลพีจีราคาต่ำลงมาเมื่อเทียบกับการใช้ราคาน้ำมันในขณะนี้

ส่วนโรดแมปการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจีนั้น ขณะนี้ได้ดำเนินการะระยะแรกไปแล้วใน 4 ระยะ ได้แก่ 1.ยกเลิกมาตรการที่ไม่เอื้อให้ผู้ประกอบการรายอื่นนำเข้าแอลพีจี จากปัจจุบันที่มี ปตท. เป็นผู้นำเข้าเพียงรายเดียว และให้ ปตท.เปิดให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทั้งท่าเรือและคลังก๊าซ รวมทั้งยกเลิกการชดเชยค่าขนส่งแอลพีจีไปยังคลังภูมิภาค 2.เปิดส่วนแบ่งการนำเข้าก๊าซ แต่ยังกำกับราคานำเข้าแอลพีจีไว้ไม่เกิน CP+85 ดอลลาร์สหรัฐตัน โดยแบ่งปริมาณนำเข้าก๊าซบางส่วนให้ผู้ประกอบการรายอื่น หากไม่มีผู้ค้ารายอื่นนำเข้า แสดงว่าราคานำเข้าในระดับดังกล่าวถือเป็นราคาต่ำสุดและให้ ปตท.เป็นผู้นำเข้า 3.เปิดส่วนแบ่งปริมาณนำเข้า ด้วยราคาที่ CP+X ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน โดยให้มีการทบทวนสูตรราคานำเข้าจาก CP+85 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เป็น CP+X เพื่อสะท้อนค่าขนส่ง และ4.เปิดประมูลนำเข้าแอลพีจีเมื่อปริมาณโควตาของ ผู้ประกอบการรวมกันมากกว่าปริมาณที่ต้องนำเข้าให้ใช้วิธีประมูล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559