เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์ : รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เตรียมพร้อมเชื่อมความสุข จากพระนครสู่ฝั่งธนบุรี

23 ส.ค. 2561 | 12:06 น.
 

23+ เมื่อวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมานายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ที่ปัจจุบันมีความคืบหน้างานโยธาแล้วเกือบ 100%

ปัจจุบันรฟม.อยู่ระหว่างเร่งรัดงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ในภาพรวมมีความคืบหน้าแล้ว 53.58% โดยช่วงสถานีบางซื่อกับสถานีเตาปูนเปิดให้บริการแล้ว ส่วนช่วงสถานีหัวลำโพง-สถานีหลักสอง มีความคืบหน้า 55.29% และช่วงสถานีเตาปูน-ท่าพระ มีความคืบหน้า 48.54% โดยตามแผนนั้นจะเปิดให้บริการเดินรถช่วงหัวลำโพง-บางแค ภายในเดือนกันยายน 2562 (คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ก่อน) ส่วนช่วงเตาปูน-ท่าพระ ภายในเดือนมีนาคม 2563(ยังมีลุ้นกันอีกครั้ง)

โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินส่วนต่อขยายนี้ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 13 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับทั้งหมด มี 8 สถานี เริ่มต้นจากสถานีบางซื่อ ผ่านแยกเตาปูน ผ่านสี่แยกบางโพ ข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยา เข้าสู่ถนนจรัญสนิทวงศ์ ผ่านแยกบางพลัด แยกบรมราชชนนี แยกไฟฉายแล้วไปบรรจบกับเส้นทางช่วงหัวลำโพง-บางแคที่แยกท่าพระ โดยช่วงนี้มีจุดเชื่อมต่อกับสายสีม่วงที่เตาปูน
MRT03 ส่วนช่วงหัวลำโพง-บางแค มีระยะทาง 14 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร รูปแบบทางวิ่งอุโมงค์คู่ทางเดี่ยว มีสถานีใต้ดินจำนวน 4 สถานี แล้วยังมีโครงสร้างทางวิ่งยกระดับในช่วงท่าพระ-หลักสอง ระยะทาง 9 กิโลเมตร มีสถานียกระดับ 7 สถานี แนวเส้นทางเริ่มต้นจากเส้นทางเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพงของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล(MRT) เป็นเส้นทางใต้ดินตามแนวถนนพระราม 4 ผ่านถนนเจริญกรุง ผ่านวัดมังกรกมลาวาส(เล่งเน่ยยี่) ผ่านวังบูรพา เลี้ยวเข้าสู่ถนนสนามไชยลอดใต้แม่นํ้า เจ้าพระยาที่ปากคลองตลาด ลอดใต้คลองบางกอกใหญ่ เข้าสู่ถนนอิสรภาพ

แล้วปรับเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ เข้าสู่สี่แยกท่าพระ ซึ่ง ณ จุดนี้จะเป็นสถานีร่วมกับเส้นทางช่วงบางซื่อ-ท่าพระ จากนั้นวิ่งไปตามถนนเพชรเกษม ผ่านบางไผ่  บางหว้า ภาษีเจริญ บางแค ไปสิ้นสุดที่ถนนกาญจนาภิเษก ในย่านหลักสอง โดยเส้นทางนี้จะเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่บางหว้า เชื่อมสายสีแดงและสายสีส้มที่บางขุนนนท์ สายสีม่วงใต้ที่สถานีสามยอด สายสีแดงเข้มที่สถานีหัวลำโพง สายสีแดงเข้มช่วงบางซื่อ-รังสิต สายสีแดงอ่อนมิสซิ่งลิงก์ และรถไฟเชื่อม 3 สนามบินที่สถานีบางซื่อ
MRT02 สำหรับระบบรถไฟฟ้านั้นจะใช้ระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail Transit System) ที่มีความจุสูงสามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากกว่า 5 หมื่นคนต่อชั่วโมงต่อทิศทางเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าMRTที่ให้บริการในปัจจุบัน มีศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบนพื้นที่ 90 ไร่ใกล้กับซอยเพชรเกษม 48 มีอาคารจอดรถในแนวเส้นทางที่สถานีหลักสอง 2 อาคารทั้งอาคาร 10 ชั้น จอดรถได้ 650 คันและอาคาร 8 ชั้นจอดรถได้ 350 คัน

เมื่อเปิดให้บริการจะทำให้เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินครบรอบเส้นทางมากขึ้นพร้อมกับช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดและช่วยลดการใช้พลังงานจากนํ้ามันของรถยนต์ส่วนบุคคล อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณรถยนต์ที่วิ่งจากชานเมืองเข้ามาในเขตกรุงเทพมหานครได้อย่างมาก นอกเหนือจากจะช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินเส้นทางนี้ยังมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นอีกด้วย
MRT01 |คอลัมน์ : เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์
| เซกชั่น : เศรษฐกิจมหภาค
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 12 ฉบับ 3392 ระหว่างวันที่ 16-18 ส.ค 2561