ซีอาร์อาร์ซีฯ จับมือภาครัฐ พัฒนาบุคลากรไทยรองรับรถไฟความเร็วสูง

23 ส.ค. 2561 | 08:40 น.
ผู้ผลิตรถไฟจีนจับมือ"วท." สร้างบุคลากรรองรับ"รถไฟความเร็วสูง"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันนี้( 23 สิงหาคม 2561 )ณ โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพฯ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)โดยศูนย์ทดสอบระบบขนส่งทางราง (ศรท.) ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซื่อฟาง จำกัด (CRRC Qingdao Sifang Co., Ltd. หรือ CRRC Sifang ) ผู้ผลิตรถไฟและรถไฟความเร็วสูงรายใหญ่จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อเรื่อง High Speed Rail: The Latest Technology and Opportunity for Local Manufacturing เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีน และรับฟังแผนการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงและโครงข่ายระบบรางในประเทศไทย พร้อมทั้งเป็นการระดมข้อคิดเห็นจากภาครัฐและเอกชนในการกำหนดทิศทางและโอกาสของภาคอุตสาหกรรมด้านระบบรางของไทยในตลาดรถไฟความเร็วสูงทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับสากล รวมถึงบทบาทในการก้าวต่อไปของหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพทางการแข่งขันในระดับสากล

ww3 ในโอกาสดังกล่าวนี้ วว. และบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ซื่อฟาง ได้ทำพิธีลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent หรือ LOI) เรื่อง High Speed Train Teaching Program Establishment ซึ่งเป็นการร่วมมือด้านการศึกษาและการฝึกอบรมบุคลากรของไทยให้มีความพร้อมสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงต่อไปในอนาคต โดยหนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือครั้งนี้มีอายุ 3 ปีนับจากปี 2561 นี้เป็นต้นไป มีวัตถุประสงค์เพื่อการถ้ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงผ่านการจัดทำหลักสูตร HSR (High Speed Rail) และการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ซึ่งในครั้งนี้ มีมหาวิทยาลัยในไทยและจีนที่มีความพร้อมร่วมลงนามจำนวน 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เจียวตง (Beijing Jiaotong University) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

ww1 นายวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการร่วมกันจัดทำร่างหลักสูตรระหว่างสถาบันการศึกษาไทย-จีนที่ร่วมลงนามใน LOI โดยทางวว.จะเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการฝึกภาคปฏิบัติ ขั้นแรกจะมีมหาวิทยาลัยไทยเข้าร่วม 5 แห่ง จีน 1 แห่ง จากนั้นก็อาจจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในขั้นที่สองและสามต่อไป ทั้งนี้ วว. และฝ่ายซีอาร์อาร์ซีฯ มีความร่วมมือคู่ขนานกันอยู่ทั้งในแง่ของการศึกษา และในส่วนของการทดสอบในห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงในแง่มุมต่างๆ เช่น การทดสอบระบบอุปกรณ์รางทั้งหมด ขณะเดียวกันวว. ยังให้ความสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมการขนส่งระบบราง ให้สามารถพัฒนายกระดับการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆในระบบรถไฟความเร็วสูงภายในประเทศเราเองให้ได้ และลดการพึ่งพาการซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

ww2

ด้านนางเจียงอิ่ง เหลียง รองประธานและหัวหน้าทีมวิศวกร บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ซื่อฟาง ให้ความเห็นว่า จีนให้ความสำคัญกับการเข้ามาร่วมพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยรวมทั้งประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียด้วย นอกเหนือจากการผลิตรถไฟความเร็วสูงป้อนให้กับเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคายแล้ว บริษัทยังให้ความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในอีกหลายโครงการพัฒนาระบบรถไฟของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบิน (อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ ดอนเมือง) ที่กำลังอยู่ในกระบวนการเตรียมยื่นซองเสนอราคาประมูล ซึ่งบริษัทนั้นมีการเตรียมยื่นเสนอเป็นแพ็คเกจครอบคลุมทุกด้านทั้งการลงทุน การก่อสร้าง และอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ “ต้องขอบอกว่าเราสนใจทุกโครงการลงทุนที่เกี่ยวกับเรื่องรถไฟในประเทศไทย แต่ตอนนี้เรากำลังโฟกัสที่โครงการรถไฟความเร็วสูงที่เรามั่นใจว่ามีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อมในทุกๆด้าน” ผู้บริหารของ ซีอาร์อาร์ซี ซื่อฟาง กล่าว ขณะเดียวกันบนเวทีการสัมมนา ผู้แทนของบริษัทยักษ์ ใหญ่ด้านรถไฟความเร็วสูงของจีนรายนี้ ยังให้ทรรศนะว่า การเดินทางขนส่งในอนาคตนั้นควรมุ่งเน้นไปที่ระบบรางให้มากยิ่งขึ้นแทนการขนส่งทางรถยนต์ เพราะสามารถขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าได้ครั้งละมากๆ และประหยัดเวลามากกว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทย จำเป็นต้องมีการพัฒนาซัพพลายเชน หรือเครือข่ายซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวเนื่องกับรถไฟความเร็วสูงให้มีความครบสมบูรณ์และแข็งแกร่ง เหมือนกับที่ไทยมีเครือข่ายซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว