"วิษณุ"เปิด 6 กิจกรรมคลายล็อกพรรคการเมือง

23 ส.ค. 2561 | 07:58 น.
“วิษณุ” เปิดกิจกรรม ปลดล็อกพรรคการเมือง "จัดประชุมใหญ่-ให้ความเห็นแบ่งเขตเลือกตั้ง-ดำเนินการไพรมารีโหวต-ตั้งกก.สรรหาผู้สมัคร-ติดต่อประสานสมาชิก"

[caption id="attachment_308387" align="aligncenter" width="503"] นายวิษณุ เครืองาม นายวิษณุ เครืองาม[/caption]

วันนี้ (23 สิงหาคม 2561) ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเตรียมคลายล็อกให้พรรคการเมืองได้ดำเนินการเรื่องต่างๆว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้คุยกันมาระยะหนึ่งแล้วโดยต้องการให้

1.พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่เพื่อรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติมได้ 2.ให้ความเห็นเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ 3.สามารถดำเนินการเกี่ยวกับไพรมารีโหวตได้ 4.ตั้งกรรมการเพื่อสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ 5.ติดต่อประสานงานกับสมาชิกได้ ส่วนอีกประการหนึ่งนั้นจำไม่ได้แต่ไม่ใช่การหาเสียงเลือกตั้ง

นายวิษณุ ยังระบุด้วยว่า เรื่องนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปิดทางให้สามารถดำเนินการได้และการใช้ม.44 ก็ไม่เห็นจะเป็นประเด็นอะไรเพราะคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 นั้น เปรียบเหมือนกฎหมาย การจะปรับเปลี่ยนคำสั่งนี้ก็จะต้องออกกฎหมายโดยม.44 แต่ไม่ทราบว่า คสช.จะออกคำสั่งได้เมื่อใด

ส่วนการทำไพรมารีโหวตนั้นรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนด  เพราะกำหนดเพียงให้รับฟังความเห็นของสมาชิกพรรคในการเลือกผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีหลายวิธีการแต่ไม่ขอบอกว่า จะเสนอให้ คสช.เลือกรูปแบบใดแต่จะบอกถึงข้อดี ข้อเสีย ทุกรูปแบบ

090861-1927-9-335x503

“จะเสนอคสช.ได้เมื่อใดคงไม่ต้องพูดเพราะจะก่อให้เกิดการคาดการณ์ เกิดความสับสนอลหม่าน มีการขยายผล มีการวิจารณ์กันไปก่อนทำให้ทุกอย่างไขว้เขว ส่วนที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าพร้อมเซ็นเมื่อมีการเสนอมานั้น หมายถึง พร้อมเซ็นเมื่อมีการพิจารณาแล้วเสร็จ โดยต้องเข้ามาพิจารณาในที่ประชุม คสช.ก่อนจะมีการปรับปรุงและยื่นให้หัวหน้าคสช.เซ็น” นายวิษณุ ระบุ

ต่อข้อซักถามที่ว่า เมื่อทำไพรมารีโหวตเสร็จพรรคการเมืองจะสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้เลยหรือไม่นั้น นายวิษณุ ระบุว่า ยังไม่ได้เพราะการหาเสียงเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)กำหนดวันเลือกตั้ง ส่วนพรรคการเมืองจะลงพื้นที่พบปะประชาชนหลังทำไพรมารีโหวตได้หรือไม่นั้นคงต้องถามกกต.

ทั้งยังระบุเพิ่มเติมว่า ส่วนที่ กกต.กางปฏิทินเบื้องต้นว่า จะสามารถออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งในเดือนมกราคม 2562 แล้วจัดการเลือกตั้งได้ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 นั้น เป็นสมมติฐานของกกต.คิดว่าไม่มีปัญหาในเรื่องของระยะเวลาเพราะสมัยที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นมีเวลาเตรียมตัวเลือกตั้งแค่ 20 วัน จนทำให้พรรคกิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องขึ้นป้ายหาเสียงว่า คิดไม่ทันพี่น้องเอ๋ย เลือกกิจสังคม จึงไม่มีปัญหาเรื่องระยะเวลา

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว