ปลุกกระแสต้านร่างร่างรัฐธรรมนูญเกมดึงรัฐบาลคสช.ติดหล่มการเมือง

12 ก.พ. 2559 | 02:00 น.
ไฟพะเนียงแตกพรูกันเลยทีเดียว เมื่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) แถลงส่งมอบร่างรธน.เบื้องต้นเมื่อวันศุกร์ที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา

ปฏิกิริยาต่อร่างเบื้องต้นเป็นไปอย่างดุเดือดเลือดพล่าน และขยายวงกว้าง ยิ่งภาครัฐตอบโต้ยิ่งยกระดับการเมืองร้อนและยิ่งดึงรัฐบาลคสช.ให้ติดหล่มรธน.ลึกลงไปเรื่อยๆแล้ว

 ปลุกกระแสคว่ำรธน.

ทันทีที่แถลงร่างเบื้องต้น ในวันเดียวกันนั้นพรรคเพื่อไทยก็ออกแถลงการณ์ชี้ ร่างรธน.นี้ไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งในแบบไทยหรือมาตรฐานสากล 6 ประเด็นคือ 1.สร้างระบบเลือกตั้งที่ทำให้ได้รัฐบาลอ่อนแอแก้ปัญหาชาติไม่ได้ 2.ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เปิดช่องคนนอกเป็นนายกฯ สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร 3.ศาลรธน.มีอำนาจล้นเหลือเป็นชนวนสู่วิกฤติ 4.องค์กรอิสระมีอำนาจเหนือรัฐบาลและรัฐสภา5.ส.ว.สรรหาจากคนกลุ่มเดียวถดถอยจากเดิมที่ประชาชนมีสิทธิเลือก และ6.วางกลไกให้แก้รธน.ไม่ได้เลย และเรียกร้องให้แก้ไขให้ทุกฝ่ายรับได้ และไม่เป็นต้นตอวิกฤติในอนาคต

ขณะที่ท่าทีในนามส่วนตัวหรือองค์กรมวลชนของพรรคยิ่งร้อนแรงกว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ประธานนปช.ยํ้า ร่างรธน.ฉบับมีชัย“ไม่เป็นประชาธิปไตยแม้แต่มาตราเดียว” และปลุกให้ควํ่าร่างรธน.ในการออกเสียงประชามติที่จะมีขึ้นในอนาคตเลยทีเดียว

โดยมีเสียงตอบโต้กลับจากพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. ว่า การที่บางคนแสดงความเห็นชี้นำประชาชนให้ควํ่าร่างรธน. โดยยังไม่ได้ศึกษาเนื้อหาในรายละเอียด อาจทำให้สังคมมองได้ว่า พยายามยัดเยียดความคิดความต้องการของตนเองหรือกลุ่ม“และร้อนหนักยิ่งขึ้นเมื่อทหารเรียก”“จตุพร” เข้าปรับทัศนคติอีกรอบ โดยยํ้าว่าไม่ใช่ห้ามการแสดงความคิดเห็นแต่อย่าใช้วาทกรรมสร้างความขัดแย้ง

จากนั้นแกนนำเพื่อไทยทยอยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรธน.นี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ว่า “วางกลไกให้อำนาจอธิปไตยไม่เป็นของปวงชนชาวไทย แต่ไปอยู่กับองค์กรและคณะบุคคลที่ไม่ได้มาจากประชาชน ไม่เชื่อมโยงประชาชน”นายชูศักดิ์ ศิรินิล ชี้เป็นร่างรธน.เผด็จการซ่อนรูปถอยหลังเข้าคลองหรือนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่เชื่อว่าร่างสุดท้ายจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากนี้มากนัก คือเอื้อประโยชน์ให้คนในเครือข่ายคสช.

ต่อเนื่องกันนักวิชาการกลุ่มคัดค้านรัฐบาลทหารก็ทยอยออกโรงวิจารณ์ร่างรธน.เบื้องต้นเป็นระลอก ทั้งกลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่ระบุเป็นรธน.ฉบับ"อภิชนเป็นใหญ่" ที่วิพากษ์วิจารณ์ในทำนองเดียวกันว่า สิทธิเสรีภาพถดถอย ระบบการเมืองยึดโยงประชาชนน้อยลง และอำนาจศาลรธน.และองค์กรอิสระล้นเกิน

เช่นเดียวกับนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์กลุ่มกลุ่มนิติราษฎร์ นายคณิน บุญสุวรรณ หรือกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่แถลงไม่ยอมรับและจะต่อต้าน โดยข้อตอบโต้ของกลุ่มนำทางความคิดเหล่านี้ ถูกนำไปจัดทำเป็นแบนเนอร์หรืออินโฟกราฟิก แล้วส่งเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียในเครือข่ายผู้สนับสนุนเพื่อไทยและคนเสื้อแดงอย่างกว้างขวาง

และยิ่งคึกคักเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อนายทักษิณ ชินวัตร กลับเข้าสู่กระแสการเมืองไทยอีกครั้ง ทั้งการส่งการ์ดอวยพรวันตรุษจีน และโทรศัพท์เข้ามาคุยกลางวงทีมกทม.ของพรรค ขณะนัดรวมพลอยู่ที่บ้านนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ โดยทักษิณโจมตีร่างรธน.ฉบับนี้อย่างรุนแรงว่าห่วยแตก และปลุกใจว่าจะมีการเลือกตั้งเร็ว ๆ นี้

ยิ่งดึงแกนนำ คสช.ให้ออกมาตอบโต้กลับรุนแรงว่า เป็นความเห็นของนักโทษหนีคดี อย่าให้น้ำหนัก

 รัฐบาลตื่นสั่งทหารเคลียร์ทาง

ความพยายามรุกทางการเมืองของเพื่อไทยครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะได้พยายามเปิดประเด็นกดดันรัฐบาลคสช.ให้เร่งเดินหน้าสู่การเลือกตั้งโดยเร็วมาตลอดทุกครั้งที่มีโอกาส แต่การลุกขึ้นมาเขย่าร่างรธน.ฉบับนายมีชัย ซึ่งต้องไปชี้ชะตาในการออกเสียงประชามติครั้งนี้ รัฐบาลกลับมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างร้อนรน

ไม่ว่าจะเป็นการเรียกนายจตุพร พรหมพันธุ์ เข้าพบทหารปรับทัศนคติรอบล่าสุดแล้ว ยังสั่งการให้กองทัพบกจัดทหารลงพื้นที่ชี้แจงประชาชน พร้อมทั้งจัดอาสารด.ที่จะส่งไปประจำหน้าหน่วยลงคะแนนลงประชามติ

โดยพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์สื่อหลังเดินทางเข้าพบหารือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า "เราส่งทหารเข้าไปในแต่ละพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ร่างรธน.และประโยชน์ของรธน.เป็นอย่างไร ทั้งจะช่วยแก้ไขการทุจริตได้อย่างไร เพื่อให้ประชาชนรับรู้และฟังเสียงของรัฐบาลเป็นหลัก เพราะรัฐบาลมีความตั้งใจในการปฏิรูปประเทศ" บอกกลาย ๆ ว่า ส่งทหารไปประชาสัมพันธ์ให้รับร่างรธน.

เมื่อถูกทักท้วงภายหลังจึงแก้เกี้ยวว่า ไม่ใช่เข้าไปชี้นำเพียงแต่กระตุ้นให้ประชาชนสนใจและศึกษาร่างรธน. ส่วนจะลงประชามติรับหรือไม่เป็นสิทธิของประชาชน และไม่เกี่ยวกับรัฐบาล

แต่ในทางการเมืองแล้วรัฐบาลคสช.ปัดไม่พ้นตัว โดยที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์เองออกโรงสวนฝ่ายการเมือง ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรธน.ว่า ไม่ยอมลดราวาศอกให้กันเลย เอาแต่จะสร้างความขัดแย้งไม่สิ้นสุด และหากต้องเลื่อนโรดแมปคสช.ออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า ก็จะยิ่งกลายเป็นปัญหาที่ย้อนกลับมาสู่รัฐบาลเอง ว่าตั้งใจจริงที่จะคืนสู่การเลือกตั้งจริงหรือ

 เอ็นจีโอเคลื่อนท้วงสิทธิชุมชนหด

นอกจากเสียงของนักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายต่อต้าน ที่ต้องออกโรงค้านตามคาดอยู่แล้ว ร่างรธน.เบื้องต้นของนายมีชัยครั้งนี้ ยังชักนำกลุ่มองค์กรภาคประชาชนเครือข่ายต่าง ๆ รวมถึงนักวิชาการด้านสิทธิชุมชน การปกครองส่วนท้องถิ่น ทยอยออกมาแสดงความเห็นท้วงติงเป็นระลอกคลื่น

จากเดิมที่กลุ่มนี้มีจุดยืนสนับสนุนร่างรธน.ฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ชูประเด็น"พลเมืองเป็นใหญ่" แต่ถูกสนช.สายทหาร-ข้าราชการ เดินหน้าคว่ำกลางสภาเสียก่อน

ในครั้งนี้ความเคลื่อนไหวก่อหวอดทันทีในวันรุ่งขึ้นหลังนายมีชัยแถลง โดยเครือข่ายสิทธิสตรี ได้เปิดเวทีที่อาคารรัฐสภา และชี้ประเด็นสิทธิชุมชนที่จะปกป้องทรัพยากร สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตวัฒนธรรม ที่เคยได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญที่ผ่านๆ มา ถูกตัดทิ้งหายไปในร่างรธน.ใหม่ จนเกิดกระแสตื่นตัวไปทั่ว

จากนั้นองค์กรพัฒนาชุมชนเครือข่ายต่าง ๆ ก็ออกโรงตามมา ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายสุขภาวะ กลุ่มพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ โดยย้ำว่า การย้ายจากหมวดสิทธิเสรีภาพไปไว้หมวดหน้าที่ของรัฐ ทำให้ประชาชนขาดหลักประกันที่จะได้รับการคุ้มครอง เป็นการเพิ่มอำนาจรัฐลิดรอนสิทธิประชาชน

ประเด็นนี้นายมีชัยพยายามชี้แจงว่า เป็นหลักคิดใหม่ในการเขียนรธน. โดยสิทธิเสรีภาพที่ติดตัวมาแต่เกิดไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ รัฐมีหน้าที่ต้องจัดหาให้อยู่แล้ว จะเขียนเฉพาะที่เป็นข้อจำกัด ดังนั้น ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเต็มทุกอย่าง รวมทั้งไปเขียนในหมวดหน้าที่ของรัฐ เท่ากับบังคับให้รัฐต้องทำ ถ้าไม่ทำให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องป.ป.ช.ให้ถอดถอนจากตำแหน่งด้วย

อย่างไรก็ตามวงการนักพัฒนาเอกชนเห็นว่า ที่ผ่านมาแม้มีการบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ แต่ภาครัฐก็พยายามหาช่องบิดพลิ้วไม่ดำเนินการให้มาตลอด จึงยังหวั่นใจว่ายิ่งไม่มีการเขียนรับรองสิทธิไว้ให้ชัดเจนจะยิ่งถูกเพิกเฉย และการฟ้องรัฐโดยไม่มีหลักการเขียนกำกับไว้ก็มีโอกาสแพ้สูง หรือโดยสรุปคือไม่ไว้วางใจภาครัฐและกลไกราชการนั่นเอง

ประเด็นสิทธิเสรีภาพที่หดหายนี้กระทั่งนายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการนิติศาสตร์ ที่ต่อต้านระบอบทักษิณอย่างแข็งขันต่อเนื่อง ก็ชี้ว่า การบอกว่าให้ประชาชนไปฟ้องหากรัฐไม่ดำเนินการให้นั้น เท่ากับเปลี่ยนพลเมืองที่มีสิทธิในสมบัติส่วนรวมร่วมกัน ให้กลายเป็นเพียงผู้รับบริการจากรัฐ และย้ำว่าหากไม่แก้ไขจะโหวตไม่รับร่างรธน.นี้

ยิ่งเกิดกรณีคณาจารย์กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ เตรียมจัดสัมมนาหัวข้อ"ร่างรธน.ฉบับกรธ. ปฏิรูปได้จริงหรือ" ที่นิด้าก่อนถึงวันงานก็ถูกทหารสั่งระงับการจัดกิจกรรมดังกล่าว เพราะหัวขบวนกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์อย่าง"บรรเจิด สิงคะเนติ" หรือศ.ดร.อุดม ทุมโฆสิต สนใจเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น และแนวทางเปิดพื้นที่ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการตนเองเพิ่มขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ก็เลือนหายในร่างรธน.ใหม่

เป็นโจทย์ใหญ่ของ"บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้กำกับโรดแมปคสช. ที่ยังคงประกาศต้องมีเลือกตั้งกรกฎาคม 2560 นี้แน่นอน และคำยืนยันนี้ยิ่งวันยิ่งผูกมัดพล.อ.ประยุทธ์แน่นขึ้นเรื่อยๆ เป็นภาวการณ์ที่จะดึงพล.อ.ประยุทธ์จมสู่วังวนการเมือง โดยหากร่างรธน.ถูกคว่ำซ้ำสอง ความชอบธรรมที่จะตั้งคนมายกร่างอีกเป็นคณะที่ 3 ก็จะเหือดหายไปเรื่อย ๆ ประเดประดังด้วยปัญหาทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และแรงกดดันจากเวทีระหว่างประเทศที่หนักหน่วงมากขึ้น

หรือหากจะเลือกหยิบรธน.เก่า ไม่ว่าจะอ้างปี 2540 ว่ามาจากประชาชน หรือปี 2517 ที่ว่าเป็นประชาธิปไตยมาก แต่ก็มีบทเรียนความล้มเหลวของกลไกการเมืองตามมาให้เห็น และมีบางฝ่ายไม่ยอมรับอยู่ดี และยิ่งจะร่างเองประกาศใช้เองเลยแม้จะรวดเร็วและกลับสู่การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง สุดท้ายก็จะกลายเป็นตัวจุดชนวนวิกฤติการเมืองให้ย้อนกลับคืนมาอีกครั้ง
เป็นหล่มการเมืองที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องแก้ มิใช่ด้วยการทหารแต่ต้องเป็น"การเมืองแก้การเมือง"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559