ปิดบัญชีจำนำข้าวปี58 เจ๊งยับ คาดตัวเลขสูงกว่างวดก.ย. 57/จีทูจีเก๊ต้นเหตุ

11 ก.พ. 2559 | 05:00 น.
3 หน่วยงานแจงไม่ได้ ข้าว 3 แสนตันล่องหน "ปลัดคลัง" สั่งตั้งคณะเฉพาะกิจประเมินมูลค่าข้าวขาดบัญชี หวังปิดตัวเลขงวด 30 ก.ย.58 ในสัปดาห์นี้ วงในคาดตัวเลขขาดทุนสูงกว่าปีก่อน ชี้เหตุช่วงจีทูจีเก๊ ขายข้าวหอมมะลิแค่ตันละ 9พัน-1 หมื่นบาท ขนกันเกลี้ยงโกดัง ขณะที่อายุความคดีอาญา-แพ่งที่ อคส.-อ.ต.ก. ฟ้อง เจ้าของคลัง-เซอร์เวเยอร์ รวม 198 ราย อายุความจะสิ้นสุดเดือน ก.พ.นี้

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่คณะอนุกรรมการ ได้มีการประชุมเพื่อปิดบัญชีรอบ 30 กันยายน 2558 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถปิดบัญชีได้ เนื่องจากมีข้าวหายไปจำนวน 3 แสนตัน ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยองค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ไม่สามารถชี้แจงได้ว่าข้าวจำนวนนี้หายไปไหน เป็นชนิดข้าวอะไร และไม่ทราบอยู่โครงการไหน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียเวลาไปมากกว่านี้ทางปลัดกระทรวงการคลังจึงให้ประเมินมูลค่าข้าวที่หายไป โดยจะต้องมีหลักการคำนวณ เพื่อที่จะสามารถชี้แจงกับสังคมได้

"การปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวรอบ 30 กันยายน 2558 ล่าช้ามาจนถึงวันนี้ เพราะปริมาณข้าว 3 หน่วยงานดังกล่าวแจ้งข้อมูลไม่ตรงกัน ปลัดจึงตัดสินใจประเมินข้าวที่หายไปทันทีจะได้ไม่ต้องยืดเยื้อออกไปอีก อย่างไรก็ดีผลไม่เป็นทางการในการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวรอบ 30 กันยายน 2558 ปรากฏว่ามียอดขาดทุนสูงกว่าการปิดบัญชีงวด 30 กันยายน 2557(มียอดขาดทุน 7 แสนล้านบาท แยกเป็น 11 โครงการก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1.63 แสนล้านบาท และอีก 4 โครงการสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์อีก 5.36 แสนล้านบาท) เพราะมีการขายข้าวหอมมะลิเพียงตันละ 9 พัน- 1 หมื่นบาทจำนวนมากจนเกลี้ยงโกดัง ในช่วงที่มีการกล่าวอ้างว่าขายในรูปแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีในรัฐบาลชุดก่อน ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่ตันละ 3.5-4 หมื่นบาท และยังต้องคิดค่าเสื่อม และค่าเช่าโกดัง และอื่นๆ อีก คาดในการประชุมปิดบัญชีปี 2558 ในวันที่ 11 หรือ 12 กุมภาพันธ์นี้ ทางปลัดกระทรวงการคลังจะได้แถลงให้ทราบในรายละเอียดต่อไป"

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทางกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถระบายข้าวเพื่อปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวได้ตามกำหนด เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ต้องพิจารณาจากภาวะตลาด ช่วงเวลา และโอกาสที่เหมาะสมและต้องไม่ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวภายในและต่างประเทศ ดังนั้นทางคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) จึงได้มอบหมายให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะไปพิจารณาและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลากำหนดวงเงินดำเนินโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรคงค้างทั้งหมดที่อยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท แยกเป็นวงเงินกู้ไม่เกิน 4.1 แสนล้านบาท และ เงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ไม่เกิน 9 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่กำหนดภายในวันที่ 30 กันยายน 2558 เป็นภายในวันที่ 30 กันยายน 2559

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เผยถึง ความคืบหน้าของคณะอนุฯติดตามการดำเนินการกรณีข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ทาง อคส. ได้ไปแจ้งดำเนินคดีกับคู่สัญญา ได้แก่ เจ้าของคลังสินค้า และบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) รวมทั้งสิ้น 152 ราย รวม 802 โกดังกลาง ใน 49 จังหวัด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผิดชนิดข้าว จำนวน 5 ราย 10 โกดังกลาง 5 จังหวัด 2.กลุ่มข้าวเสีย จำนวน 13 ราย 94 โกดังกลาง 22 จังหวัด และ 3.กลุ่มข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน จำนวน 134 ราย 698 โกดัง 49 จังหวัด ส่วนของ อ.ต.ก. ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ประกอบการ จำนวน 46 ราย 272 คลัง แบ่งเป็น 1.บริษัทผู้ตรวจสอบคุณภาพ จำนวน 14 ราย จำนวน 240 คลัง และ 2.เจ้าของคลังสินค้าผู้รับฝากเก็บข้าวสาร จำนวน 32 ราย จำนวน 32 คลัง

"ทางคณะได้พยายามเร่งรัดให้ อคส.และ อ.ต.ก.ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุโกดังกลาง/ไซโล และสอบสวนผู้กระทำผิดให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อส่งต่อให้สำนักงานอัยการสูงสุดฟ้องร้องคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย โดยมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งจะครบอายุความในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 และค่าเสียหายกรณีของนักการเมืองมีอายุความ 2 ปีน่าจะครบในเดือนกุมภาพันธ์ 2560"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559