ผ้าทอมือบ้านนาข่า"อุดรธานี" มุ่งขายออนไลน์ควบคู่ออฟไลน์

22 สิงหาคม 2561
ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือบ้านนาข่า เมืองอุดรธานี หนึ่งในสินค้าที่แสดงถึงอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของท้องถิ่นอีสานในกลุ่มประเทศอนุภาคลุ่มนํ้าโขงได้เป็นอย่างดี

 

ปัจจุบันสินค้าได้เชื่อมโยงกับตลาดประชารัฐต้องชม กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ตามนโยบายของรัฐบาล และขยายช่องทางการขายที่มากขึ้น โดยผสมผสานระหว่างช่องทางออนไลน์และการขายหน้าร้านแบบดั้งเดิม นายสมหมาย ประเสริฐกุล ประธานคลัสเตอร์ผ้าและเครื่องแต่งกาย ซึ่งเป็น 1 ในโอท็อป (OTOP) ของจังหวัดอุดรธานี ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงที่มาและการตลาดของผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือบ้านนาข่า จังหวัดอุดรธานี

lo01
ผ้าพื้นถิ่นสู่สินค้าโอท็อป

ปัจจุบันจังหวัดอุดรธานี มีผู้ผลิตผ้าพื้นเมืองอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งเป็นผู้ผลิตส่งให้กับกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองทั่วๆ ไป และผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในครอบครัว แต่ที่เข้ามาเป็นสมาชิกเครือข่ายของโอท็อป ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย มีอยู่ประมาณ 425 ราย โดยกลุ่มทอผ้าหมี่ขิดนาข่าในปัจจุบัน เริ่มต้นจากร้านวงเดือนผ้าไทย ก่อกำเนิดขึ้นมาโดยนางตุ๊ อุปโคตร เมื่อปี 2518 ในสมัยของนายพิศาล มูลศาสตรสาทร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี มีแนวความคิดที่จะส่งเสริมผ้าทอมือหมี่ขิดของจังหวัดอุดรธานี ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป โดยมีสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอและจังหวัดอุดรธานี เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านความรู้และงบประมาณส่งเสริม จัดตั้งกลุ่มแม่บ้านตลาดผ้านาข่าขึ้นมาจากสมาชิกเพียง 5-6 ราย ซึ่งเดิมมีที่ตั้งอยู่ที่ชุมชนบ้านถ่อนใหญ่ ต.นาข่า ห่างจากจุดตลาดผ้าบ้านนาข่าในปัจจุบันประมาณ 2 กิโลเมตร

ต่อมาในปี 2536 ตลาดผ้าบ้านนาข่า ได้ทำการย้ายออกมาตั้งอยู่ในสถานที่ปัจจุบันนี้ และได้มีการขยายตัวด้านธุรกิจมาเรื่อยๆ ถึงปัจจุบันนี้ มีร้านค้าสมาชิกมากกว่า 200 ร้าน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด และเป็นแหล่งค้าปลีก ค้าส่งผ้าทอมือ ผ้าหมี่ขิด ขนาดใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน

“ขณะนี้ทางกลุ่มทอผ้าทอมือบ้านนาข่า มีสมาชิกเครือข่ายทั้งในพื้นที่ชุมชนจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ให้การสนับสนุนวัตถุดิบ เพื่อผลิตผ้าทอมือหมี่ขิดเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ต้นนํ้ามาจนถึงออกมาเป็นผืนผ้าทอมือ หรือเสื้อผ้าสำเร็จรูป ทำให้มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกลุ่ม มีความหลากหลายชนิดผลิตภัณฑ์สินค้า ทั้งเสือผ้าสำเร็จรูป และผ้าชิ้นที่เป็นผ้าทอมือที่มีคุณภาพ ลวดลาย สีสัน เป็นไปตามความต้องการของตลาดรับซื้อ และเป็นที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ ที่เป็นพื้นเมืองอีสาน และท้องถิ่นอย่างแท้จริง”

lo02

การทอผ้าหรือผลิตผ้า ทอมือแต่ละชิ้น รวมไปถึงการ ตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะอยู่ในความควบคุมของทางกลุ่ม คอยกำหนดลวดลายของผ้า สีของผ้าตามความต้องการของลูกค้า และของตลาดในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานผลิตชุมชนและท้องถิ่น หรือ มผช. โดยผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับการรับรองมาตรฐาน มผช.ระดับ 4 ดาว
ทำตลาดแบบผสมผสาน

นายสมหมาย กล่าวว่า แต่เดิมการทำการตลาดซื้อขายผลิตภัณฑ์ชุมชน ทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าชิ้น ผลิตภัณฑ์ทั้งหมด จะทำกันในลักษณะที่ผู้ขาย ผู้ซื้อ จะต้องพบปะกันเพื่อทำตามที่ผู้ซื้อสั่งเท่านั้น แต่ในยุคนี้การทำการตลาดได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย มีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาช่วยในการทำการตลาด เช่น การค้าขายผ่านทางออนไลน์ หรือที่เรียกว่า E-Commerce มากขึ้น โดยการสนับสนุนการทำการตลาดและหาช่องทางซื้อขายของสำนักงานพาณิชย์จังหวัด กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้โดยภาพรวมแล้วประมาณ 70% ผสมผสานกับการทำตลาดแบบเดิมอีก 30% โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มเครือข่าย MOC Biz Club ทำให้ผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อป โดยภาพรวมมีช่องทางซื้อขายได้หลายช่องทาง ทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อป ซึ่งเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs)

090861-1927-9-335x503

“ถึงแม้ว่าจะทำการตลาดแบบอี-คอมเมิร์ซก็ตาม แต่เทคนิคการทำตลาดแบบผสมผสาน ทั้งแบบใหม่และแบบเดิม ก็ยังสามารถใช้ได้ ได้แก่ วิธีการลด แลก แจก แถม ก็ยังเป็นวิธีการที่สามารถใช้ได้อยู่ เพื่อให้เป็นการจูงใจลูกค้า อย่างร้านวงเดือน เปิดขาย อี-คอมเมิร์ซตามโครงการของพาณิชย์จังหวัด ที่ส่งเสริมให้เกิดการตลาดซื้อขายออนไลน์ 2 ช่องทาง คือ เฟซบุ๊กและไลน์ และจากการเปิดตลาดการขายทางออนไลน์ มียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 10% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสำหรับการซื้อ-ขาย ทางออนไลน์ นับวันจะขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ในอนาคตอาจจะกลายเป็นการซื้อขายเต็มรูปแบบก็ได้”

สำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่ได้รับความนิยม มีหลากหลายชนิด ทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าทอมือเป็นชิ้น เพื่อที่ลูกค้าจะได้นำไปตัดเย็บตามสไตล์ที่ต้องการ และมีลูกค้าทั้งที่เป็นคนไทยและชาวต่างประเทศ ที่กำลังนิยมผ้าทอมือหมี่ขิด ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็มีความนิยมที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะผ้าหมักโคลน ที่มีหลายพื้นที่ มีความต้องการ และถือว่าผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและเครือข่ายในภาพรวม ประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนเครือข่ายผลิตขึ้นมาสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น จนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่จำเป็นที่ต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ ไปทำงานในส่วนกลางและปริมณฑล โดยล่าสุดในงานมหกรรมผ้าทอมืออนุภาคลุ่มนํ้าโขงที่จัดขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ผ้าทอมือของกลุ่มผ้าทอมือหมี่ขิดบ้านนาข่า ต.นาข่า ก็สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทลวดลายสวยงาม

lo03

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,394 วันที่ 23-25 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62-7