ผู้ว่าการกปน.วอน 3พื้นที่ ประหยัดนํ้าจะได้มีนํ้าเหลือทำนาปี

11 ก.พ. 2559 | 11:00 น.
ปี2559 หลายภาคส่วนมีความกังวลถึงปัญหาภัยแล้งว่าจะลามมาถึงพื้นที่ส่วนกลางของประเทศไทย โดยเฉพาะกทม. นนทบุรีและสมุทรปราการ ที่เกรงว่าจะมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภคอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะน้ำดิบที่มาจากแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้ใช้น้ำในพื้นที่กทม.และปริมณฑล 2.2 ล้านราย ล่าสุด"ฐานเศรษฐกิจ"สัมภาษณ์พิเศษ ธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง(กปน.)ถึงความมั่นใจในการรับมือโดยเฉพาะใน 3พื้นที่ กทม. นนทบุรีและสมุทรปราการ ที่กปน.รับผิดชอบ

ผู้ว่าการกปน.กล่าวถึงแผนบริหารจัดการน้ำว่า พื้นที่ กทม.นนทบุรี สมุทรปราการ ใช้น้ำดิบที่มาจาก 2 แหล่งคือแม่น้ำเจ้าพระยา ที่น้ำมาจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เป็นหลัก รวมถึงเขื่อนป่าสัก โดยรับน้ำจากเจ้าพระยาเพื่อนำมาผลิตน้ำที่โรงกรองน้ำบางเขน โรงกรองน้ำสามเสน และโรงกรองน้ำธนบุรี ผลิตวันละ 4 ล้านลบ.ม. เพื่อจ่ายน้ำบริเวณเขตพระนครเป็นหลัก และสมุทรปราการด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และแหล่งน้ำแม่กลองที่นำมาผลิตน้ำที่โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ จ.นนทบุรี ผลิตได้วันละ1.4 ล้านลบ.ม.ต่อวัน เพื่อจ่ายน้ำทางฝั่งธนบุรี และจังหวัดนนทบุรีบางส่วน รวมแล้วกปน. มีการผลิตน้ำต่อวันรวมทั้งสิ้น 5.4 ล้านลบ.ม.ต่อวัน(มีกำลังผลิตเต็มเพดานที่5.9 ล้านลบ.ม.ต่อวัน) โดยป้อนให้ที่อยู่อาศัย 53% และน้ำเพื่อภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ และอุตสาหกรรม สัดส่วน 47% สำหรับ 3 พื้นที่ ในกทม.นนทบุรีและสมุทรปราการ

 น้ำจากเจ้าพระยายังเสี่ยง

สำหรับสถานการณ์น้ำดิบโดยเฉพาะน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยายอมรับว่า ยังมีความเสี่ยง เนื่องจากน้ำที่มาจากทั้ง 4 เขื่อน(เขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์-เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) แหล่งน้ำจาก 4 เขื่อน ณ วันนี้มีปริมาณน้ำที่กรมชลประทานสามารถจ่ายได้ 3.40 พันล้านลบ.ม. เมื่อเทียบกับปี 2558 จะมีปริมาณน้ำน้อยกว่า 2.0 พันล้านลบ.ม.

ทั้งนี้ปริมาณน้ำ 3.40 พันล้านลบ.ม. ปัจจุบันกรมชลประทานจ่ายน้ำออกมา 16-17 ล้านลบ.ม.ต่อวันหรือราว 500 ล้านลบ.ม.ต่อเดือน ในส่วนนี้จ่ายให้กปน. ราว 4 ล้านลบ.ม.ต่อวัน และรักษาระบบนิเวศ 2-3 ล้านลบ.ม. ที่เหลือใช้เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม

ดังนั้นปริมาณน้ำ 3.40 พันล้านลบ.ม.ถ้ากรมชลประทานจ่ายน้ำออกมา 500 ล้านลบ.ม.ต่อเดือน ก็มั่นใจว่านับจากนี้ไปอีก 6 เดือนไปถึงเดือนกรกฎาคมจะมีปริมาณน้ำที่รองรับได้ถึงฤดูทำนาปี หรือมีน้ำเหลือใช้พอในภาคเกษตรได้ด้วย ถ้าประชาชนใน3 พื้นที่ ประกอบด้วยกทม. นนทบุรีและสมุทรปราการใช้น้ำอย่างประหยัดก็จะมีน้ำเหลือใช้ แม้จะมีความเสี่ยงจากการใช้น้ำในส่วนของเจ้าพระยา แต่ถ้าทุกคน หรือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด ก็น่าจะผ่านวิกฤติไปได้ และสามารถมีน้ำเหลือไว้ใช้สำหรับทำนาปีได้อีกด้วย

นอกจากนี้จากความเสี่ยงดังกล่าวทางกปน.ได้ตั้งศูนย์ดูแลภัยแล้งมาตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม2557 ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย โดยศูนย์ภัยแล้งดังกล่าวจะอยู่ที่ โรงกรองน้ำบางเขน และที่สำนักงานใหญ่ เพื่อเฝ้าติดตามปริมาณน้ำในเขื่อน คุณภาพน้ำเค็ม การปล่อยน้ำสัมพันธ์กับการผลักดันน้ำเค็มหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าจากประสบการณ์ที่เกิดน้ำเค็มตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่กปน.ประสานงานกับกรมชลประทาน และใช้องค์ความรู้ที่เกิดจากปี2557 มาผลักดัน ดูแลเรื่องน้ำเค็ม โดยน้ำที่มาทางเจ้าพระยา พอมาผ่านที่บางไซร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ ปัจจุบันใช้ตัวเลขที่ไม่น้อยกว่า 90 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือตกประมาณวันละ 7 ล้านลบ.ม. สูบมาใช้ 50 ลบ.ม. เหลืออีก 40 ลบ.ม.ก็ไปผลักดันน้ำเค็มได้เลย ซึ่งวิธีนี้จะเห็นว่าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 มาถึงปี 2558 แทบไม่เกิดปัญหาน้ำเค็มเกิดขึ้นเลย มีเพียงช่วงต้นเดือนกรกฎาคม2558 เพียง 2-3 วันเท่านั้นที่มีน้ำเค็มขึ้นมา และปัจจุบันก็อยู่ในภาวะปกติแล้ว

 ตั้งงบปรับปรุง-เพิ่มท่อ

อย่างไรก็ตามปี 2559 แผนของกปน. จะมีการเบิกจ่ายงบลงทุนประมาณ 5 พันล้านบาท สำหรับใช้ในการลงทุนวางท่อเส้นใหม่และปรับปรุงท่อที่ชำรุดทั่วกทม. นนทบุรีและสมุทรปราการ รวมถึงโครงการประปาแผนหลักครั้งที่ 9 ที่จะเริ่มปี2559-2565 เฉพาะส่วนนี้จะต้องลงทุนใช้งบอีกราว 4.50 หมื่นล้านบาท เรื่องอยู่ระหว่างรอครม.อนุมัติ หากผ่านการพิจารณากว่าจะได้ใช้งบก็ราวปี 2560 โดยจะทำการเพิ่มกำลังผลิตน้ำที่โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์จากที่ผลิตได้สูงสุด 1.6 ล้านลบ.ม จะเพิ่มอีกกำลังผลิตอีก 8 แสนลบ.ม.ต่อวัน รวมกำลังผลิตน้ำ 2.4 ล้านลบ.ม.ต่อวัน และสร้างสถานีสูบจ่ายน้ำที่บางมด และฝั่งธน รวมถึงเพิ่มที่เก็บน้ำสำรองเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10 แห่ง ในกทม. นนทบุรีและสมุทรปราการ รวมถึงทำอุโมงค์ส่งน้ำจากฝังธนมายังฝังพระนครเพิ่มขึ้นโดยลอดแม่น้ำเจ้าพระยา

ปัจจุบันกปน.สามารถเลี้ยงตัวเองได้ มีรายได้หลักจากการจ่ายน้ำประปาในพื้นที่กทม. นนทบุรีและสมุทรปราการ มีผู้ใช้น้ำอยู่ 2 ประเภท คือกลุ่ม ที่อยู่อาศัย โดยคิดค่าน้ำที่ลบ.ม.ละ 8.50 บาท ไปถึง 14.45 บาท และกลุ่มน้ำเพื่อภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ และอุตสาหกรรม เริ่มจากลบ.ม.ละ9.50 -15.81 บาท ซึ่งเป็นราคาคงที่มา 17 ปีแล้ว

"ปัญหาภัยแล้งยังไม่กระทบถึงกปน.ในแง่การใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ 3 แห่ง ที่เวลานี้ยังไม่มีการร้องเรียนเข้ามาโดยมีน้ำจ่ายให้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ร้องเรียนอาจจะมีบ้างในแง่น้ำไม่ไหลเพราะท่อรั่ว ท่อแตก โดยกปน.มี 18 สาขารับเรื่องร้องเรียน และมีคอล]Nเซ็นเตอร์ "1125" 1 แห่ง"

 เซ็นMOUสนองรัฐทุกที่มีน้ำประปาใช้

ผู้ว่าการการประปานครหลวง(กปน.)กล่าวอีกว่า ล่าสุด กปน.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) และเทศบาลตำบล(ทต.) ทั้งในจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดนนทบุรีเพื่อวางท่อประปา 10 แห่ง โดยการลงนามครั้งนี้กปน. อบต. และทต.จะร่วมกันออกค่าใช้จ่ายในการวางท่อประปาจ่ายน้ำฝ่ายละกึ่งหนึ่ง ภายในกรอบระยะเวลาของสัญญา 2 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2560 โดยหลังจากคัดเลือกเส้นทางที่เหมาะสมแล้วกปน.จะเร่งดำเนินการวางท่อประปาเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำประปาใช้โดยเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ทุกพื้นที่มีน้ำประปาใช้ภายในปี 2560 ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศไทยยังมีพื้นที่อีกกว่า 7 พันหมู่บ้าน หรือราว 17% ของพื้นที่ที่อยู่อาศัยยังไม่มีน้ำประปาใช้ และพื้นที่ 83%มีน้ำประปาใช้แล้ว

 ยกระดับประปาอาเซียน

นอกจากนี้เมื่อเร็วๆนี้กปน.ยังเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้บริหารจัดการน้ำประปาในภูมิภาคอาเซียน โดยมีผู้บริหารระดับผู้ว่าการและรองผู้ว่าการของกิจการประปาในภูมิภาค 9 ประเทศ 10 หน่วยงาน ประชุมแลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์ด้านการบริหารกิจการประปาในภูมิภาคอาเซียน เพื่อยกระดับ การให้บริการด้านน้ำประปาที่สะอาด ปลอดภัย สำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชนในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน ภาวะภัยแล้งและปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นการยกระดับความร่วมมือด้านกิจการประปาในอาเซียนด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559