แนะรัฐปิด3เสี่ยงศก.กูรูเศรษฐกิจจี้อัดฉีด หวังสิ้นปีจีดีพีโตกระจาย5%

25 ส.ค. 2561 | 14:37 น.
นักเศรษฐศาสตร์เชียร์รัฐ อัดฉีดเงินเข้าระบบ หวังจีดีพีสิ้นปี กระจายตัวเติบโต 5% แนะปิด 3 ปัจจัยเสี่ยง “เข็นบริโภคเอกชนกระจายตัวสู่ภาคเกษตร เหตุอาหาร เครื่องดื่มโตช้า เพิ่มสินค้าหาตลาดใหม่ แก้สงครามการค้า และจับตาผลกระทบเรือล่มภูเก็ต” พ่วงมาตรการอัดฉีด กระตุ้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ของปี2561และแนวโน้มทั้งปี2561 ที่นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช.แถลงออกมาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมาพบว่า ขยายตัวต่อเนื่อง 4.6% และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.0% จากไตรมาสแรก ทำให้ครึ่งแรกปีนี้ จีดีพีขยายตัวแล้ว 4.8%  โดยสศช.ยังคงเป้าเติบโตทั้งปีไว้ที่ 4.2-4.7% ค่ากลางอยู่ที่ 4.5% พร้อมๆกับปรับจีดีพีไตรมาสแรกเพิ่มจาก 4.8% เป็น 4.9%

DSC003

และยังระบุสัญญาณบวกที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและมีความหลากหลาย อย่างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 67.5% สูงสุดในรอบ 13ไตรมาสภาคเกษตรขยายตัวในเกณฑ์สูง 10.4% เร่งขึ้นจากที่ขยายตัว 6.5% ในไตรมาสแรก ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น จากที่เคยลดลง 12.3% ในไตรมาสก่อนเหลือลดลง 6.0% ขณะที่ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้น 6.1% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 66.6% สูงสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทบทวนประมาณการจีดีพีเดือนกันยายน

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วงที่เหลือหากต้องการเห็นจีดีพีเติบโตทั้งปีได้ตามเป้าหมาย รัฐต้องปิดความเสี่ยงให้ได้ทั้ง 3 ปัจจัยคือ

1. พยุงราคาสินค้าเกษตรและดูแลให้ขยับขึ้นต่อเนื่อง เพราะแม้ว่าที่ผ่านมา การบริโภคเอกชนจะขยายตัว 4.5% แต่ยังไม่กระจายตัวสู่ภาคเกษตรนัก โดยเห็นได้จากอาหาร เครื่องดื่มยังเติบโตค่อนข้างช้า ขณะที่การบริโภคยังมาจากการท่องเที่ยว โรงแรม ภัตตาคารและขนส่ง

2. สงครามการค้าที่ยังฉุดรั้งความเชื่อมั่น ทั้งตลาดเงินตลาดทุน จึงต้องพยายามหาตลาดและสินค้าใหม่เพิ่มโอกาสธุรกิจไทย และ3.จับตาผลกระทบจากเรือล่มภูเก็ต

นอกจากนั้น ในส่วนการลงทุนยังเติบโตจากการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งสะท้อนการลงทุนธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ยังไม่เห็นการลงทุนกระจายตัวในกลุ่มเอสเอ็มอี อีกทั้งการลงทุนด้านก่อสร้างที่ยังเสี่ยงอุปทานส่วนเกินของตลาดคอนโดมิเนียมและการผลักดันการลงทุนภาครัฐรวมทั้งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชน เพราะที่ผ่านมาการลงทุนภาครัฐยังล่าช้า

[caption id="attachment_308045" align="aligncenter" width="377"] จิติพล พฤกษาเมธานันท์ จิติพล พฤกษาเมธานันท์[/caption]

ด้านนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยที่เร่งตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันจีดีพีขยายตัว 1.5% จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ทั้งปีจีดีพีจะแตะ 4.5% ไม่ยาก แต่หากภาครัฐอยากเห็นจีดีพีสิ้นปีเติบโตที่ 5% หรือเป็นการเติบโตที่ยั่งยืนจำเป็นต้องอัดฉีดมาตรการทางภาษีเช่น กระตุ้นคนมีเงินที่จ่ายภาษี ด้วยกิจกรรมช็อป เที่ยวช่วยชาติหรือกระตุ้นการลงทุนเพื่อทำให้เอกชนมั่นใจและกล้าลงทุนต่อ โดยอาจพิจารณาให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมปล่อยกู้ผู้มีรายได้น้อย นอกจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นแขนขาสนับสนุนโครงการรัฐอยู่ฝ่ายเดียว

ขณะเดียวกันภาครัฐพร้อมชดเชยกรณีเกิดเป็นหนี้เสีย(เอ็นพีแอล) ที่สำคัญควรดึงคนออกจากภาคเกษตรสู่ภาคบริการ เพื่อมีงานทำและสร้างรายได้ยั่งยืนแทนที่จะใช้มาตรการอุ้มหรือพยุงราคาสินค้าเกษตร แต่พิจารณาถึงการพัฒนาประสิทธิภาพเกษตรระยะยาวให้มีความยั่งยืน

“หากจะให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ยั่งยืน ภาครัฐจำเป็นต้องอัดฉีดเงินสู่ระบบเพื่อสร้างงานสร้างรายได้จากการลงทุนแทนการชดเชยหรืออุ้มราคาสินค้าเกษตร ซึ่งไม่มีความยั่งยืน โดยการเปลี่ยน Position เกษตรกร ให้ฐานรากขยายฐานให้บริการ และทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันใช้มาตรการทางภาษีดึงคนมีเงินร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวเมืองรอง”

090861-1927-9-335x503

ขณะที่นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ตัวเลขจีดีพีที่ออกมาเป็นไปตามคาด ดังนั้นเศรษฐกิจไทยน่าจะรักษาระดับการเติบโตในส่วนที่เหลือของปีนี้ได้ เพราะเป็นสัญญาณส่งไม้ต่อผสมจากนอกประเทศและอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเห็นได้จากการฟื้นตัวของการบริโภคการลงทุนภายในประเทศที่ชัดเจนขึ้น ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยายังคงประมาณการจีดีพีทั้งปีไว้ที่ 4.7% อย่างไรก็ตาม แรงขับเคลื่อนจากภายในประเทศจะมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,394 วันที่ 23 - 25 สิงหาคม พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62-7