ครม.ปรับเพิ่มวงเงินสายสีแดงเป็น 9.3 หมื่นล้าน

12 ก.พ. 2559 | 03:00 น.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอกรณีปรับกรอบวงเงินลงทุนรวมของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยมีกรอบวงเงินโครงการรวม 93,950 ล้านบาท จากเดิม 75,548 ล้านบาท ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เสนอ โดยเป็นกรอบวงเงินที่ครอบคลุมงานปรับแบบรายละเอียดตามมติครม.เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ไว้แล้ว และมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการขยายวงเงินกู้เพิ่มเติมให้ครอบคลุมการปรับกรอบวงเงินโครงการตามขั้นตอนต่อไป

[caption id="attachment_30934" align="aligncenter" width="333"] อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม[/caption]

นอกจากนั้นครม.ได้อนุมัติปรับกรอบวงเงินสัญญาที่ 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้า) ของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เพิ่มเติมจำนวน 6,743 ล้านบาท จากเดิมจำนวน 25,656 ล้านบาท เป็นจำนวน 32,399 ล้านบาท ประกอบด้วยงานระบบช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 26,542 ล้านบาท จากแหล่งเงินกู้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(ไจก้า) และงานระบบช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 5,857 ล้านบาทจากแหล่งเงินกู้ภายในประเทศ

ด้านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เป็นไปตามผลการเจรจากับกลุ่ม MHSC ที่ชนะการประมูลในครั้งนี้ของญี่ปุ่น หลังจากนี้รฟท.จะต้องเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยเฉพาะข้อสังเกตของสำนักงบประมาณ(สงป.)กรณีปรับวงเงินสัญญาที่ 3 อีกจำนวน 473 ล้านบาทที่น่าจะเจรจาปรับลดลงได้อีกก่อนที่จะนำรายงานให้สงป.และครม.ทราบต่อไป

“ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดให้ดำเนินงานกรณีสัญญาที่ 3 มาโดยตลอด เพราะกลัวว่าหากงานก่อสร้างแล้วเสร็จจะไม่มีรถวิ่งให้บริการเช่นกรณีช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อีกทั้งเรื่องสายสีแดงนั้นเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2543 จนประกวดราคาไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 และได้มีการเจรจาแต่ละสัญญามาตั้งแต่ปี 2554 จนได้ตัวเลขสรุปที่กว่า 9.3 หมื่นล้านบาท โดยรถไฟสายสีแดง เส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต มีทั้งสิ้น 3 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 งานโยธาช่วงสถานีกลางบางซื่อ สัญญาที่ 2 งานโยธา ช่วงบางซื่อ-รังสิต และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้า ที่รวมเอาช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เข้าไว้ด้วยแล้ว โดยงบประมาณที่เพิ่ม 8,140 ล้านบาท และรฟท.เจรจาลดเหลือ 8,104 ล้านบาทเกิดจากกรณีปรับแทร็คทางวิ่งจาก 3 แทร็คเป็น 4 แทร็คนั่นเอง โดยภายหลังจากนี้ตัวเลขวงเงิน 473 ล้านบาทนั้นรฟท.ก็จะต้องเรียกกลุ่ม MHSC ของญี่ปุ่นมาเจรจาตามความเห็นของสงป.ต่อไป”

สำหรับเรื่องการเดินรถในเส้นทางดังกล่าวนั้นได้เรียนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ได้ถามในการประชุมครม.ด้วยว่าแม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายให้เกิดการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งสายสีแดงนั้นรฟท.ยืนยันว่าจะขอรับดำเนินการเอง จึงให้ระยะเวลา 5 ปี หากไม่ประสบผลสำเร็จก็จะให้ร่วมลงทุน(พีพีพี)ต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559