‘บุญเติม’ขยายฐานรายได้ รุกธุรกิจโอนเงิน-ขายซิม

23 ส.ค. 2561 | 09:20 น.
FSMART ขยายฐานรายได้เพิ่มจากธุรกิจโอนเงิน  ขายซิมมือถือและบริการ KYC เตรียมเซ็น 2 แบงก์ใหญ่ “กรุงศรี-กรุงเทพ” เป็นแบงก์เอเยนต์  ตั้งเป้าเติบโตยอดเติมเงินปีนี้  20% เจาะฐานลูกค้าเพิ่มในกลุ่มมือถือ-นอนแบงก์

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัทฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART ผู้ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินล่วงหน้า (Prepaid) และบริการชำระเงินออนไลน์ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “บุญเติม” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากปัจจุบันบริษัทมีลูกค้า 25 ล้านราย มีธุรกรรม 2.2 ล้านรายการต่อวัน แต่ 90% ของธุรกรรมยังเป็นการใช้เติมเงินมือถือ บริษัทจึงพยายามเพิ่มบริการให้ลูกค้าได้ใช้หลากหลายขึ้น โดยแผนธุรกิจครึ่งปีหลังจะเพิ่มบริการและโปรดักต์  จำหน่ายซิมโทรศัพท์แบบเติมเงินผ่านตู้บุญเติม และให้บริการยืนยันตัวตน (KYC) สำหรับธุรกรรมทางการเงิน โดยจะพัฒนาตู้บุญเติมที่มีอยู่ 1.3 แสนจุดทั่วประเทศ มาปรับใช้ให้บริการดังกล่าว ตู้แรกคาดจะเริ่มภายในปลายไตรมาส  4 ปีนี้  และคาดจะเพิ่มเป็นหมื่นจุดภายในปีหน้า

[caption id="attachment_307846" align="aligncenter" width="267"] ณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี ณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี[/caption]

“การขายซิมโทรศัพท์  จะทำให้เราได้ลูกค้าเพิ่มจากกลุ่มค่ายมือถือคาดอย่างน้อยเป็นหลักหมื่นราย และได้ลูกค้าเพิ่มในกลุ่มแบงก์และนอนแบงก์ จากบริการ KYC พิสูจน์ตัวตน ซึ่งน่าจะเห็นผลชัดเจนในไตรมาสแรกปีหน้า หลังจากที่ได้ออกในเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคมปีนี้”

นอกจากนี้บริษัทจะเข้าไปเป็นแบงกิ้ง เอเยนต์ (Banking Agent) ในสัปดาห์หน้าจะลงนามกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา และภายในไตรมาส 4 ปีนี้กับธนาคารกรุงเทพ  ให้บริการโอนเงินผ่านตู้บุญเติม ตั้งเป้าหมายเพิ่มธุรกรรมการโอนเงิน 10% จากปัจจุบันที่เป็นแบงกิ้ง เอเยนต์ให้กับธนาคารพาณิชย์ 2 แห่งคือ ธนาคารกรุงไทย และกสิกรไทย มีปริมาณการโอนเงินต้นปีที่มี 2.3 หมื่นรายการต่อวัน  บุญเติม copy

ทั้งนี้แผนครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บริษัทได้จัดการตู้ที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือขาดทุน จากต้นปีที่มีประมาณ 20% หรือประมาณ 2.6 หมื่นตู้ จนเหลือ ณ เดือนสิงหาคม 2561 ไม่ถึง 0% หรือประมาณ 1 หมื่นตู้ ใช้งบลงทุนราว  300 ล้านบาท  และมีแผนที่จะติดตั้งตู้บุญเติมเพิ่มอีก 1 หมื่นตู้ เพิ่มเป็น 1.35 แสนตู้ภายในสิ้นปีนี้ หลังจากครึ่งปีแรกติดตั้งไปแล้ว 5 พันตู้ ที่เหลือจะเพิ่มในครึ่งปีหลัง

090861-1927-9-335x503

“กลางปีที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับแผนธุรกิจใหม่ โดยยังคงเป้าเติบโตของยอดเติมเงิน 20% แต่ลดจำนวนตู้ที่จะติดตั้งเพิ่มเหลือ 1 หมื่นตู้ จากต้นปีที่ตั้งไว้ 2 หมื่นตู้” เขากล่าวและว่า

ปัจจุบัน “ตู้บุญเติม” เป็นผู้นำตลาดตู้เติมเงินออนไลน์ มีส่วนแบ่งการตลาด 22%  คิดเป็นยอดรวมเติมเงิน 2.10 หมื่นล้านบาท  หลังจากการขยายโปรดักต์เพิ่ม คาดจะทำให้โครงสร้างรายได้บริษัทปี 2562 ที่มาจากธุรกิจเติมเงินมือถือ สัดส่วนจะลดลงเหลือ 65% จากปัจจุบันที่ 80%, ธุรกิจโอนเงินเพิ่มเป็น 15% จากปัจจุบันที่ 10%, ธุรกิจขายซิมและให้บริการยืนยันตัวตน KYC สัดส่วนเป็น 10%, เติมเงินวอลเลต 5% ที่เหลือเป็นบริการชำระบิลและอื่นๆ โดยตั้งเป้าเติบโตรายได้ไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี

บริษัทมีรายได้รวมไตรมาส 2 ปีนี้ 849 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) 10% กำไรสุทธิ 150 ล้านบาท เพิ่มขึ้น YoY 5% และมีรายได้รวม 6 เดือนแรกของปี 1,691 ล้านบาท เพิ่มขึ้น YoY 14% กำไรสุทธิ 295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น YoY 7%

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,394 วันที่ 23-25 สิงหาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว