โบรกจ่อหั่นกำไรบจ.

21 ส.ค. 2561 | 13:53 น.
 

>>  ปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลังทั้งในและนอกประเทศกดดัน

-21 ส.ค. 61-โบรกจ่อหั่นประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน และเป้าหมาย SET index หลังครึ่งแรกทำได้สัดส่วนปริ่มๆ 50% ของประมาณการทั้งปี 1.09 ล้านล้านบาท ห่วงปัจจัยเสี่ยงทั้งใน-ตปท. ฉุดผลประกอบการครึ่งหลัง บล.ทรีนีตี้มองหุ้นกลุ่มอิงกำลังซื้อในประเทศ-ส่งออกยังได้อานิสงส์สงครามการค้า

ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 2 ปีนี้ แม้จะออกมาดีกว่าที่ตลาดเล็กน้อย 0.5% แต่กำไรโดยรวมในครึ่งปีแรก สัดส่วนยังปริ่มๆ แค่ 50% เทียบกับประมาณการกำไรทั้งปีที่ 1.09 ล้านล้านบาท ในขณะที่ครึ่งปีหลังมีปัจจัยเสี่ยงที่ฉุดผลประกอบการในงวดครึ่งปีหลัง ทั้งสถานการณ์นํ้าท่วม  สงครามการค้า วิกฤติการเงินในตุรกี   MP17-3394-A

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์  บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนิีตี้ฯ กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 2/2561 ยังทรงตัว บางกลุ่มแย่กว่าที่ตลาดคาด ทำให้นักวิเคราะห์เริ่มมีการปรับประมาณการกำไรของบจ.ลงมาตามระดับ จะเห็นว่าก่อนที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์จะรายงานผลประกอบการรอบนี้ EPS ตลาดอยู่ระดับ 110 บาทต่อหุ้น ล่าสุดประมาณการ EPS หลุดมาระดับ 108 บาทต่อหุ้น สิ่งที่ตามมาก็คือ Valuation ปรับสูงขึ้นตาม ทำให้หุ้นไทยไม่ได้อยู่ในโซนราคาถูก P/E  15.7 เท่า ถือว่าเริ่มแพง

บล.ทรีนีตี้ฯ  คาดการเป้าหมาย SET Indexที่ 1860 จุดตั้งแต่ต้นปี ซึ่งได้ผ่านจุดสูงสุดในไตรมาสแรกที่ปรับขึ้นไป 1850 จุดแล้ว คาดการณ์ว่าในช่วงที่เหลือ Upside กรณีดีสุดเป้าหมายดัชนีอยู่ระดับ 1800 จุด อิง P/E 15 เท่า คูณ EPS ปีหน้า 119 บาทต่อหุ้น  ส่วน downside อยู่ระดับ 1500 จุด  หรืออิง  P/E 14 คูณ EPS 108  บาทต่อหุ้น

ตลาดหุ้นครึ่งปีหลัง  มองหุ้นกลุ่ม domestic ยังมีแนวโน้มสดใสตามกำลังซื้อที่ดีต่อเนื่อง  รวมถึงภาคส่งออกที่ได้อานิสงส์ทางอ้อมจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มีออร์เดอร์ไหลเข้ามาไทยมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่ต้องระมัดระวัง อาทิ กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี เนื่องจากฐานกำไรครึ่งปีแรกค่อนข้างสูงแล้ว และหากราคานํ้ามันไม่สามารถสวิงขึ้นกว่านี้ กลุ่มนี้อาจเป็นตัวหน่วงกำไรบจ.

บล.ทรีนีตี้ฯ ประมาณการกำไรบจ.ทั้งปีนี้จะเติบโต 8-10% จากปีก่อนหน้า ปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจในประเทศที่โตต่อเนื่อง แรงกดดันเงินเฟ้อตํ่า คาดธปท.ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ถึงปีนี้ ขณะที่เงินไหลออกไม่น่าจะมากกว่านี้  ส่วนปัจจัยลบมาจากสัญญาณการปรับลดประมาณการกำไร EPS, สงครามการค้า และเรื่องวิกฤติการเงินในตรุกี

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทยฯ กล่าวว่า กำไรไตรมาส 2/2561  ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) 549 บริษัทรวมอยู่ที่  2.59 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY)  18%  แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ)  13.8%  ส่งผลให้ผลประกอบการรวมครึ่งปีแรกอยู่ที่ 5.43 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 49.73% ของประมาณการกำไรปี 2561 ของ Consensus ที่คาดไว้  1.09 ล้านล้านบาท  ทั้งๆ ที่มีตัวช่วยกำไรในไตรมาส 1 ที่ถือว่าสูงเป็นประวัติการ (2.86 แสนล้านบาท) ทำให้มีความเสี่ยงสูงมากที่ Consensus จะทําการปรับลดประมาณการกําไรและ EPS ตลาด ที่ปัจจุบันอยู่ระดับ 108 บาทต่อหุ้นลงอย่างต่อเนื่อง และเป็นผลให้เป้าหมาย SET Index มีโอกาสปรับลดลงตาม

เนื่องจากครึ่งปีหลัง มีปัจจัยเสี่ยงทั้งปัญหานํ้าท่วมในหลายพื้นที่เกษตรที่อาจกระทบรายได้และกำลังซื้อ ความกังวลสงครามการค้า การโจมตีค่าเงินทำให้เงินบาทผันผวนสูง จึงมีความเสี่ยงว่าทิศทางกำไรบจ.ในครึ่งปีหลังอาจน้อยกว่าครึ่งปีแรก

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะพบว่ากำไรของบจ.ในครึ่งปีแรกจะมีสัดส่วนเฉลี่ย 52.5% ดังนั้นสัดส่วนกําไรปัจจุบันที่ปริ่มๆ 50% ทําให้มีแนวโน้มว่าตลาดอาจปรับลดประมาณการกำไรทั้งปีที่คาดไว้ 1.09 ล้านล้านบาท และ EPS ตลาดลง บล.กสิกรไทยฯ อยู่ระหว่างการประเมินตัวเลข จากเป้าหมาย SET Index ที่เราคาดไว้  1805 จุด”

ด้านฝ่ายวิจัยบล.เอเซียพลัสฯ (ASP) ยังคงประมาณการกำไรตลาดปี 2561 ที่ 1.1 ล้านล้านบาท  คิดเป็น EPS ที่ 110.78 บาทต่อหุ้น และยังคงเป้าหมาย SET Index ปีนี้ที่ 1662 จุด อิง P/E ที่ 15 เท่า โดยยังให้นํ้าหนักปัญหาในตุรกี และสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ยังมีอยู่

ทั้งนี้ ASP ได้ปรับเพิ่มและปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2561 โดยได้ปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรบจ.ปี 2561 ตั้งแต่ 10% ขึ้นไป มี 6 บริษัท ได้แก่ JAS ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ขึ้นจากเดิม 108%, IVL 26%, SVI  25%, SCCC 16%, CHG 12% และ AEONTS 11% ส่วนบริษัทที่มีการปรับลดคาดการณ์กำไรปี 2561 ตั้งแต่ 10% ขึ้นไป มี 15 บริษัท ได้แก่ TPIPL ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ลงจากเดิมถึง 88%, TRUE 53%, ITD 48%, TPIPP 29%, TFG 26%, TU 21%, BCPG 21%, BR 20%, JWD 20%, EASTW 19%, TVO 15%, SYNTEC 15%, PYLON 12%, IRPC 12% และ GFPT 11%

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,394 วันที่ 23-25 สิงหาคม 2561