"วิษณุ""เตรียมรายงานผลหารือ กกต.ใหม่ให้นายกฯ22 ส.ค.นี้

21 ส.ค. 2561 | 09:05 น.
"วิษณุ"เตรียมรายงานผลหารือ กกต.ชุดใหม่ให้ นายกฯ22 ส.ค.นี้  ชี้กรณีใช้วิธีการอื่นแทนไพรมารีโหวต คสช.ต้องเป็นผู้พิจารณา ด้าน "พรเพชร"ระบุแก้ไขไพรมารีโหวตเป็นหน้าที่กกต.ใหม่ต้องไปปรึกษา คสช.มากกว่า สนช.

วิษณุ-1

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงผลการหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ เมื่อวานนี้ (วันที่ 20 ส.ค.) ว่า ตนยังไม่ได้รายงานผลการหารือกับ กกต.ชุดใหม่ให้ที่ประชุม ครม.รับทราบ เนื่องจากเวลาไม่เพียงพอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงสั่งการให้ทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรมาให้ในวันพรุ่งนี้ ( วันที่ 22 ส.ค.) แทน โดยจะรายงานให้ทราบว่าได้ทำอะไรบ้าง และบางอย่างจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ เป็นคนพิจารณาแนวทาง และนายกรัฐมนตรีอาจนำเข้าสู่ที่ประชุม คสช.ด้วย ส่วนหัวข้อที่ว่าอาจใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช่ไพรมารีโหวต แต่ไม่ขัดมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแทนนั้น คสช.จะเป็นผู้พิจารณา โดยมีหลายวิธี และเป็นวิธีที่ทาง กกต.แนะนำมา

พรเพชร

ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรื่องการทำไพรมารีโหวต และการกำหนดวันเลือกตั้ง ที่อาจจะต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า เมื่อ สนช.ออกกฎหมายมาแล้วก็ต้องเคารพ และถ้าเขาไม่เรียกร้องมา เราคงไม่ไปคิดแก้หรือไปทำอะไร ซึ่งในส่วนของ สนช.ไม่ได้คิดลึกขนาดนั้น เพราะเราได้ทำไว้แล้ว คือ ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน เพื่อจะได้มีเวลาในการทำไพรมารีโหวต และให้ประชาชนในแต่ละเขตเลือกตั้งมีส่วนร่วมในการเลือกผู้สมัคร ดังนั้น เรื่องการแก้ไขไม่ใช่หน้าที่ของ สนช.ซึ่งคนที่มีหน้าที่คิดคือ กกต.

"สนช.คงจะไม่มีการริเริ่มหรือเสนออะไร เดี๋ยวจะหาว่า สนช.ไปจุ้นอีก ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ได้ทำงานอย่างเต็มที่ จนได้ข้อยุติ ทาง สนช.ไม่ควรไปก้าวก่าย อยากให้ กกต.ชุดใหม่ได้ทำงานในเรื่องไพรมารีโหวต และไปปรึกษากับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มากกว่า สนช.ซึ่งกฎหมายได้ออกไปแล้ว เขียนอย่างไรก็ให้ปฏิบัติตามนั้น ผมไม่ได้กังวลในเรื่องการแก้ไข แต่มันต้องมีกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นตาม มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา" ประธาน สนช.กล่าว

เมื่อถามว่า จะแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง โดยใช้กระบวนของ สนช.จะกระทบโรดแมปหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวชี้แจงว่า ขึ้นอยู่กับร่างกฎหมายที่เสนอแก้ไข แต่ถ้าเป็นกฎหมายเลือกตั้งโดยสมมุติฐานเบื้องต้นก็ต้องกระทบโรดแมป จะบอกไม่กระทบได้อย่างไร แต่เมื่อกระทบแล้วจะต้องบริหารจัดการใหม่

เมื่อถามต่อว่า ถ้าจะแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองโดยไม่ให้กระทบโรดแมปเลือกตั้ง ต้องอาศัยอำนาจหัวหน้า คสช.มาตรา 44 ใช่หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า มาตรา 44 ไม่สามารถใช้แก้ไขกับรัฐธรรมนูญได้ แต่สามารถใช้กับกฎหมายลูกได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ใช้มาแล้ว