'นกแอร์' ยัน! การเพิ่มทุนเป็นทางเลือกสุดท้าย เร่งเดินแผนธุรกิจ

21 ส.ค. 2561 | 07:08 น.
นกแอร์ ยัน! การเพิ่มทุนเป็นทางเลือกสุดท้าย เร่งเครื่องเดินแผนธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพ ลุยขยายรู้ตบิน ยกเครื่องการบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน ลดต้นทุน เพิ่มการบริการ ยกชั้นสู่ไลฟ์สไตล์แอร์ไลน์ ชูจุดเด่นสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ดึงพันธมิตรหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่ม มั่นใจ! ลดขาดทุนได้ต่อเนื่อง

นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ เผยว่า ในที่ประชุมชี้แจงนักลงทุนและผู้เกี่ยวข้อง (Public Presentation) เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2561 ตามที่มีนักลงทุนถาม โดยระบุว่า การเพิ่มทุนจะเป็นทางเลือกสุดท้าย ขอใช้โอกาสจากการบริหารงานปรับปรุงการใช้กระแสเงินสดให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินการก่อน


173628

ส่วนแผนการกู้เงินจากผู้ถือหุ้นในอัตราดอกเบี้ย 6% นั้น เป็นการกู้มาเพื่อเป็นการแก้ไขสถานการณ์ในระยะสั้น ซึ่งเป็นเงินกู้แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นการช่วยเหลือกันและเป็นไปตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ทุกอย่าง โดยนกแอร์ไม่มีการกู้เงินจากสถาบันการเงินแต่อย่างใด เราใช้กระแสเงินเป็นหลัก

ขณะที่ แผนการเพิ่มรายได้จะมาจาก 1.การเพิ่มจุดบินเข้าจีนและอินเดียเพิ่ม โดยกลางเดือน ต.ค. จะบินเข้าอินเดีย 3 เมือง , 2.การใช้เครื่องบินในเวลากลางคืนในการบินเช่าเหมา จากเครื่องบินที่เหลืออยู่อีก 7-8 ลำ

นอกจากนี้ จะเพิ่มการหมุนเวียนการใช้เครื่องบินเพิ่มจาก 8.09 ชม.ต่อวันต่อลำ มาเป็น 10.19 ชม.ต่อวัน ในครึ่งปีแรกของปีนี้ และมีเป้าหมายเป็น 11.2 ชม.ต่อวัน (ปลายปี) , 3.การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ เพื่อรายได้เสริมจากโลว์คอสแอร์ไลน์มาเป็นไลฟ์สไตล์แอร์ไลน์ ภายใต้แนวคิด "นกเลือกได้" การขายตั๋วในราคาที่แยกจากกระเป๋าเดินทาง ซึ่งเป็นที่นิยมของตลาดจีนและอินเดีย การขายอาหารร้อนบนเครื่อง


173630

รวมถึงการเตรียมขายคาร์โก้ (ขนส่งสินค้าทางอากาศ) ซึ่งเปิดทีโออาร์ให้ผู้สนใจเข้ามาเสนอตัว ซึ่งมีอยู่ 3 ราย โดยมีเป้าหมายหารายได้เสริมเพิ่มขึ้น 10% สำหรับสาเหตุที่ทำให้ขาดทุนนั้น นายปิยะ ระบุว่า มาจากอัตราแลกเปลี่ยน การแข่งขันที่รุนแรง และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะมีการหารือความร่วมมือกับไทยกรุ๊ปและสายการบินพันธมิตร ถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดต่อไป

นายปิยะ กล่าวต่อว่า ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจการบิน ท่ามกลางความผันผวนของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการสายการบินต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ในการรับมือกับแรงกดดันดังกล่าว โดยนกแอร์ได้มีการปรับแผนธุรกิจครั้งใหญ่ในปลายปี 2560 เพื่อพัฒนาธุรกิจของสายการบินให้มีทิศทางที่ดีขึ้น


????????????????????????????????????

"ปี 2560 นกแอร์มีการเปลี่ยนแปลงหลายด้านตามแผนธุรกิจใหม่ ที่มุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ รวมทั้งมีการเพิ่มทุนเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งด้านเงินทุน ซึ่งการดำเนินงานได้ผลตอบรับที่ดี เห็นได้จากผลงานในครึ่งแรกของปี 2561 ที่ขาดทุนลดลง 14.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เรามีรายได้รวมเพิ่มขึ้น ทั้งจากค่าโดยสารและค่าบริการ แม้ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง"

สำหรับแผนธุรกิจของนกแอร์ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ลดการขาดทุน และระยะที่ 2 การสร้างความพร้อมให้มีประสิทธิภาพ แล้วเดินไปข้างหน้า ส่วนระยะที่ 3 การขยายเส้นทางบิน ตลอดจนการจัดองค์กรใหม่ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีกระบวนการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้ปรับรูปแบบการบริการครั้งใหญ่ เพื่อพลิกธุรกิจจากสายการบินราคาประหยัดไปสู่การเป็นไลฟ์สไตล์แอร์ไลน์ ไม่เน้นแข่งขันด้านราคา แต่มุ่งเน้นการเสนอบัตรโดยสารและการให้บริการในรูปแบบที่ให้ผู้โดยสารสามารถเลือกสิ่งที่ตรงกับความต้องการของตัวเองได้มากที่สุด ภายใต้แนวคิด "นกเลือกได้" หรือ การร่วมมือไทยกรุ๊ป เพิ่มสิทธิพิเศษแก่ผู้โดยสารที่เป็นสมาชิกนกแฟนคลับ และสมาชิกรอยัล ออร์คิท พลัส ซึ่งผู้โดยสารจะได้รับไมล์สะสมของรอยัล ออร์คิท พลัส เมื่อเดินทางกับนกแอร์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

รวมทั้งขยายเส้นทางบินต่างประเทศเพิ่ม โดยเฉพาะเส้นทางสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือว่าได้รับผลตอบรับดีมาก มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้จัดสรรทรัพยากรเครื่องบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการเพิ่มการใช้เครื่องบิน AIRCRAFT UTILIZATION ให้มีจำนวนชั่วโมงบินต่อลำต่อวันเพิ่มขึ้น


35026

นายปิยะ กล่าวต่อว่า ปี 2561 ถือเป็นปีแห่งการวางรากฐานใหม่ของนกแอร์ โดยเร่งปรับปรุงพัฒนากระบวนการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามแผนธุรกิจที่วางไว้ เช่น เพิ่มอัตราการใช้เครื่องบินให้คุ้มค่า เพิ่มเส้นทางการบินไกลและเพิ่มเส้นทางบินไปต่างประเทศให้มากขึ้น ปรับปรุงเส้นทางการบินให้มีความเหมาะสมในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น รวมทั้งยังมุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่าย เพื่อลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจด้วย

สำหรับในปี 2562 จะเป็นแผน Rebuild หรือ การเริ่มต้นใหม่เพื่อสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคต เช่น การขยายเครือข่ายเส้นทางการบินให้ครอบคลุมภูมิภาคมากขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยนำจุดเด่น หรือ จุดแข็งของสายการบิน มาพัฒนาต่อยอดในการสร้างแบรนด์ให้มีความแข็งแกร่ง มีการจับมือกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้อื่น ๆ รวมทั้งมองหาช่องทางการลงทุนที่เอื้อต่อธุรกิจ หรือ สร้างรายได้ให้แก่สายการบิน


????????????????????????????????????

"อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตสูงมาก ปัจจุบันนี้ ผู้คนเลือกเดินทางด้วยเครื่องบินมากขึ้น แต่สายการบินก็มีจำนวนมาก ทำให้มีทางเลือกเยอะเช่นกัน การแข่งขันในธุรกิจสูง ดังนั้น นกแอร์ต้องปรับปรุงพัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้น ทำให้แบรนด์แข็งแกร่ง เพื่อเป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้โดยสาร ซึ่งจากแผนธุรกิจของเราเชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจฟื้นตัวกลับมาและเติบโตได้อย่างแน่นอน" นายปิยะ กล่าวทิ้งท้าย


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กู้1พันล้านฝ่าวิกฤติ เพิ่มทุนอีกทางเลือก‘นกแอร์’
ทางออกนอกตำรา : ‘นกแอร์’จนตรอก  หนี้สินล้นพ้นตัว-บินไทยชิ่ง


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว