ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มคุณภาพบีเอสไอ ช่วยเห็นภาพธุรกิจ-เศรษฐกิจข้างหน้า 1 ไตรมาส

12 ก.พ. 2559 | 08:00 น.
ธปท.ระบุเดือนหน้าปรับปรุงการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เพื่อเป็นข้อมูลได้ทันท่วงทีในการประเมินภาวะธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวม คุยดัชนีใหม่ช่วยเห็นภาพระยะข้างหน้า 1 ไตรมาส/แจงบีเอสไอในระยะ 3 เดือนข้างหน้ายังปรับดีขึ้น ตามแนวโน้มการลงทุน การจ้างงาน สภาพคล่องทางการเงิน รวมถึงยอดขายที่ผู้ประกอบการคาดว่าจะปรับดีขึ้นได้

นางสมศจี ศิกษมัต ผู้อำนวยการ สำนักสถิติ ฝ่ายสถิติและข้อสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ดำเนินการปรับปรุงการสำรวจและจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของ ธปท. (Business sentiment index : BSI) ให้รวดเร็วขึ้น โดยมีการปรับเวลาการสำรวจและประมวลผลให้เร็วขึ้น เพื่อใช้งานได้ทันท่วงทีในการประเมินภาวะธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวมที่ใกล้ปัจจุบัน รวมถึงปรับแบบสอบถามให้กระชับ เพื่อง่ายและลดเวลาในการตอบ จากเดิมที่จะมี 15 ข้อใหญ่ 63 ข้อย่อย มาเป็น 15 ข้อใหญ่ 45 ข้อย่อย ส่วนการส่งแบบสำรวจก็จะมีการเปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนที่สำรวจ เป็นสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนก่อนหน้า

ขณะที่การประมวลผลข้อมูลจะมี 2 รอบ ได้แก่ ดัชนีรอบแรก (Flash estimate) ประมาณวันที่ 21 ของเดือนที่สำรวจ เพื่อใช้งานภายใน ธปท. โดยจะประมวลผลในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนที่สำรวจ และดัชนีทางการ (Final estimate) เผยแพร่ในเว็บไซด์ของ ธปท. ในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป โดยจะประมวลผลในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนที่สำรวจ

"BSI ใหม่จะช่วยให้เห็นภาพภาพภาวะธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวมได้เร็วขึ้น และใกล้ปัจจุบันมากขึ้น (Up-to-date) เทียบกับเครื่องชี้อื่นๆที่ส่วนใหญ่จะมีความล่าช้า (Lag time) ประมาณ 1 เดือน เช่น หากมีการแถลงข่าวตัวเลขเดือนมกราคมจะเป็นภาพของเดือนธันวาคม แต่แบบใหม่ประมาณ 4-5 วันก็จะทำให้เห็นภาพของเดือนมกราคมได้แบบเร็ว อีกทั้งการสำรวจของ BSI จะเป็นการสำรวจภาพในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะช่วยทำให้เห็นภาพในระยะที่ไกลขึ้น แม้ว่าจะเพียงแค่ 1 ไตรมาสก็ตาม ที่สำคัญยังมีเรื่องของความทันการที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ได้ก่อนที่จะเห็นข้อมูลจริง"

ทั้งนี้ ต้องเรียนว่า BSI ของ ธปท. นั้นเริ่มทำมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2542 โดยทำเป็นลักษณะของเครื่องชี้ระยะสั้นที่สามารถใช้ติดตาม และประเมินภาวะธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมในปัจจุบันและอนาคต 3 เดือนข้างหน้า หลังจากที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ขึ้น ซึ่งเป็นการจัดทำขึ้นจากการสอบถามความเห็นจากผู้ประกอบการทั่วประเทศเกี่ยวกับภาวะปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคตของธุรกิจและภาพเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งผู้ประกอบการทางด้าน การผลิต การค้า และบริการ การเงิน อสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง ฯลฯ โดยพยายามให้ครอบคลุมทุกสาขามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งจะเป็นกลุ่มทางภาคของการผลิต 437 บริษัท หรือประมาณ 43.3% และภาคการค้า 573 บริษัท หรือประมาณ 56.7%

"กลุ่มธุรกิจ ธปท. ก็พยายามเลือกให้ครอบคลุม และหลากหลาย โดยมีการจัดขนาดของธุรกิจในรูปแบบของ ธปท. ซึ่งยึดหลักตามมูลค่าของการจดทะเบียน เช่น น้อยกว่า 50 ล้านบาทจะถูกจัดอยู่ในธุรกิจขนาดเล็ก (S) หากเป็น 50-200 ล้านบาทจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง (M) และมากกว่า 200 ล้านบาทจะเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ (L) โดยจำนวนผู้ตอบกลับเฉลี่ยต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 600 กว่าราย หรือประมาณ 60% ของตัวอย่างทั้งหมดประมาณ 1,010 ราย จากเดิมที่ ธปท. ทำในระยะแรกจะมีการตอบกลับมาเพียง 30% เท่านั้น"

ด้านองค์ประกอบคำนวณดัชนีรวมจะมี 6 องค์ประกอบ ได้แก่ ผลประกอบการ ปริมาณการผลิต ต้นทุนการประกอบการ คำสั่งซื้อ การจ้างงงาน และการลงทุน โดยมีความถี่ในการจัดทำเป็นรายเดือนส่วนคำถามจะมีอยู่ด้วยกัน 6 คำถาม ได้แก่ 1.ผลประกอบการ ,2.ปริมาณการผลิต/การค้าบริการ ,3.การลงทุน ,4.ต้นทุนประกอบการ ,5.การจ้างงาน และ6.คำสั่งซื้อรวม อีกทั้งยังมีคำถามอื่นเพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์ เช่น ราคาขาย ปริมาณสินค้าคงคลัง สภาวะทางการเงิน กำลังการผลิต เป็นต้น

"ความแตกต่างของข้อมูลจาก ธปท. จะครอบคลุมของข้อมูลของผู้ประกอบการมากกว่าหน่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจรายอื่น เช่น บางหน่วยงานจะมีเฉพาะผู้ประกอบการด้านการผลิต แต่ ธปท. มีภาคธุรกิจและบริการด้วย อีกทั้งผู้ตอบก็จะเป็นคนละกลุ่มกัน แม้ว่าจะมีซ้ำกันบ้าง โดยผลของประมวลผลที่ออกมาเร็วขึ้นจะช่วยให้มีการวางแผนได้เร็ว เช่น ภาครัฐก็จะมีการวางแผนมาตรการต่างๆได้เร็วขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนก็จะมีการวางแผนการผลิต และธุรกิจได้ จากการเป็นเครื่องชี้หนึ่งของเศรษฐกิจ"

นางสมศจี กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนมกราคมปีนี้แย่ลงกว่าเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 48.5 จุด จากเดือนก่อนหน้า 49.9 จุด จากผลประกอบการ ปริมาณการผลิตสินค้า คำสั่งซื้อสินค้า และภาวะการส่งออกที่ลดลง แต่ต้นทุนการประกอบการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในระยะ 3 เดือนข้างหน้ายังปรับดีขึ้น อยู่ที่ 54.1 จุด จากเดือนก่อน 52.3 จุด ตามแนวโน้มการลงทุน การจ้างงาน สภาพคล่องทางการเงิน รวมถึงยอดขายที่ผู้ประกอบการคาดว่าจะปรับดีขึ้นได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559