การวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิตอล (Measuring the Digital Economy)

22 ส.ค. 2561 | 04:45 น.
ทุกวันนี้ การบริโภคสินค้าและบริการดิจิตอล (Digital Goods & Services) เช่น สื่อสังคมออนไลน์ อี-เมล์ แผนที่เส้นทาง วิดีโอ รวมถึงการหาความรู้และข้อมูลผ่านบริการ search engine ผู้บริโภคสามารถใช้ได้ฟรีโดยไม่ต้องจ่ายเงิน แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสินค้าและบริการดิจิตอลเหล่านี้มีประโยชน์และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ คำถามคือเราจะมีวิธีวัดมูลค่าทางเศรษฐกิจของมันได้อย่างไร และมูลค่าของบริการดิจิตอลเหล่านี้ควรจะถูกนำไปคิดรวมในการคำนวณ GDP ด้วยหรือไม่

คำถามเหล่านี้ได้เป็นประเด็นที่มีการพูดคุยและมีการศึกษากันในต่างประเทศอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีนัยสำคัญโดยตรงต่อการวางนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจประเทศภายใต้กระแส Digitalization ดังเช่น ในงานของ Erik Brynjolfsson ศาสตราจารย์จาก MIT และคณะ (2018) ได้เสนอวิธีวัดมูลค่าทางเศรษฐกิจของบริการดิจิตอลโดยได้ส่งคำถาม Survey ให้กับคนหลายหมื่นคนผ่านทาง Online Platform โดยถามว่าหากขอให้เลิกใช้ Facebook เป็นเวลา 1 ปี จะต้องจ่ายเงินให้คุณเท่าไหร่ (คำถามเดียวกับถูกถามสำหรับ Wikipedia, E-mail, Online Map, Search Engine และ Social Media ต่างๆ) จากการรวบรวมคำตอบ Survey ก็จะพอเห็นภาพได้ว่าหากต้องคิดราคาของบริการเหล่านี้แล้ว คนเต็มใจที่จะจ่ายราคาประมาณเท่าไหร่

จากผลการทดลองในประเทศสหรัฐอเมริกา (ข้อมูลปี 2017) พบว่า หากจะให้คนเลิกใช้ Search Engine ระยะเวลา 1 ปี จะต้องจ่ายเงินให้เขาถึง 17,530 ดอลลาร์สหรัฐฯ หากจะให้คนเลิกใช้ E-mail ระยะเวลา 1 ปี จะต้องจ่ายเงินให้เขาประมาณ 8,414 ดอลลาร์สหรัฐฯ  และหากจะให้คนเลิกใช้ Social Media ระยะเวลา 1 ปี จะต้องจ่ายเงินให้เขาประมาณ 322
ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตัวเลขราคา ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น Median ของคำตอบที่ได้จาก Survey) จะเห็นได้ว่า โดยรวมแล้วคนตีราคามูลค่าของสินค้าบริการดิจิตอลเหล่านี้ไม่น้อยเลยทีเดียว

คำถามต่อมาคือ มูลค่าเหล่านี้ควรถูกนำมาคิดรวมอยู่ใน GDP ด้วยหรือไม่ Brynjolfsso et. al (2018)
อธิบายไว้ว่าตัวเลขที่วัดได้นี้คือConsumer Surplus หรือประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับจากการมีสินค้าและบริการต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ (ในที่นี้คือสินค้าบริการดิจิตอล) โดยจะบอกถึงความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภค (Consumer’s Well-being) ซึ่งประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับ กับ GDP ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่มักจะไปในทางเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ในกรณีของสินค้าและบริการดิจิตอล ที่ผู้บริโภคสามารถใช้ได้ฟรี จะทำให้ Consumer Surplus เพิ่มขึ้นในขณะที่ GDP สามารถลดลงได้

เช่น การที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้สินค้าและบริการดิจิตอลมากขึ้นสามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อการใช้สินค้าและบริการตามปกติที่ถูกคำนวณใน GDP แม้ Brynjolfsso et. al (2018) จะยังไม่มีข้อสรุปว่ามูลค่าของสินค้าและบริการดิจิตอล ที่วัดได้จาก Massive Online Choice Experiments ควรถูกรวมใน GDP ปัจจุบันไปเลยไหม แต่นักวิจัยเสนอว่าตัวเลขนี้มีความสำคัญและควรดูควบคู่ไปกับ GDP

คำว่าเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในหนังสือ “Digital Economy: Promise and Peril in the Age of Networked Intelligence” เขียนโดย Don Tapscott ในปี 1995 แม้ว่าหนังสือจะให้แนวคิดถึงศักยภาพของระบบเศรษฐกิจใหม่บนเครือข่าย Internet ก็ไม่ได้ให้คำจำกัดความที่ชัดเจนของคำว่าเศรษฐกิจดิจิตอล

ส่วนในปัจจุบันแม้ว่าแต่ละองค์กรจะเข้าใจความหมายของเศรษฐกิจดิจิตอลไปในทางเดียวกัน แต่การให้คำจำกัดความยังมีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง โดยบางองค์กรมองว่า นอก จากการมีสินค้าและบริการดิจิตอล (Digital Goods & Services) ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว เศรษฐกิจดิจิตอลหมาย ความรวมถึงการผลิตสินค้า ICT และการให้บริการที่เกี่ยวกับ ICT ต่างๆ (ซึ่งมูลค่าตรงนี้ถูกรวมอยู่ในการคิด GDP ปกติแล้ว) และรวมไปถึง Online platforms, Platform-enabled services ที่ครอบคลุม Sharing Economy เช่น Grab, Airbnb, etc. (ซึ่งปัจจุบันมูลค่าจาก Sharing Economy ยังไม่ถูกคิดรวมใน GDP)

ไม่ว่าคำว่าเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) จะถูกแต่ละองค์กรตีความในรายละเอียดว่าอย่างไร ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ เป็นที่แน่นอนว่าเราคงจะได้เห็นสินค้าและบริการดิจิตอลรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย ขณะที่ตัวเลข GDP หากไม่มีการปรับปรุงให้สอดรับกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป อาจไม่ได้เป็นตัวชี้วัดหรือสะท้อนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ดีอีกต่อไป
Reference:

• Brynjolfsson, E., Eggers, F., & Gannamaneni, A. (2018).Using massive online choice experiments to measure changes in well-being (No. w24514). National Bureau of Economic Research.

.........................................................................

| เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

|โดย ดร.วรประภา นาควัชระ, ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

| หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3394 ระหว่างวันที่ 23 - 25 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62-7