เอสซีจีระดมสมอง กำจัดขยะแบบบูรณาการผ่าน 3Rs

23 ส.ค. 2561 | 11:19 น.
จากปริมาณขยะที่มีอยู่กว่า 7 หมื่นตันต่อวัน ขยะเหล่านี้มีเพียงไม่ถึง 40% ที่ถูกกำจัดขยะอย่างถูกวิธี ตามการรายงานของกรมควบคุมมลพิษ และขยะที่กำจัดแบบไม่ถูกต้อง ผ่านกระบวนการเผา และการกองรวมๆ กันคือ"ต้นเหตุที่ทำให้เกิดมลภาวะอย่างมหันต์"

ในงาน “SD Symposium 2018 (Sustainable Development Symposium 2018)” ภายใต้แนวคิด “Circular Economy: The future we create” ที่เอสซีจีจัดเสวนาเรื่อง “Circular Waste Value Chain”
ได้มีการระดมสมองจากตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางแก้ปัญหาขยะ และการกำจัดขยะให้ถูกวิธี โดยผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นได้แก่  “ธนา ยันตรโกวิท” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย, “สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง” รองปลัดกรุงเทพมหานคร, “สินชัย เทียนศิริ” ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, “ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ” Vice President - Polyolefins and Vinyl Business ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และ “เพชร มโนปวิตร” องค์กรสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) โดยมีข้อสรุปว่า

9 ตัวอย่างการนำวัสดุเหลือใช้มาทำผลิตภัณฑ์

ปัญหาของการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี ต้องเริ่มที่ต้นทาง คือ ผู้บริโภคหรือผู้ทำให้เกิดขยะ โดยกระบวนการสำคัญที่ช่วยลดปริมาณขยะ และจะทำให้เกิดการกำจัดขยะให้ถูกวิธีคือ 3Rs คือ Reduce-Reuse-Recycle เพราะเป็นการรักษาต้นทุนทางธรรมชาติ จัดการทรัพยากรอย่างเป็นระบบ รวมถึงการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะผู้ผลิตที่ต้องใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติให้น้อยที่สุดและทำให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขณะที่ผู้บริโภคก็ต้องเลือกใช้สินค้าและบริการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้

ส่วนแนวทางการจัดการบรรจุภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ แก้ว พลาสติก หรือโลหะ ต้องเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทาง และส่งต่อให้สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ได้ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ผู้แยกขยะ/รับซื้อของเก่า และโรงงาน รีไซเคิล สนับสนุนการสร้างความรู้ความเข้าใจ และเชื่อมโยงให้เกิดวงจร CLP (Closed Loop Packaging) เพื่อให้การกำจัดขยะไม่ได้เป็นเพียงการทำลาย แต่เป็นการจัดการปัญหาที่ได้ผลตอบแทน เป็นการขับเคลื่อนด้วยโมเดลทางธุรกิจกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise - SE) ที่ให้ผู้สูงอายุเข้ามาร่วมดำเนินงาน โดยมีศูนย์กลางรับบรรจุภัณฑ์หรือของที่ไม่ใช้แล้ว และต้องมีการเก็บข้อมูลปริมาณขยะทุกประเภท เพื่อหาความคุ้มทุนและแนวทางการขนส่ง จากนั้นต้องหาพันธมิตรมาร่วมดำเนินการโดยเฉพาะภาคเอกชนและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้เริ่มทดลองในลพบุรีและนนทบุรีไปแล้ว

8 การรณรงค์ให้แยกขยะ

อีกหนึ่งแนวทางสำคัญคือ การลดใช้พลาสติก ประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-Use Plastic) ที่ก่อให้เกิดขยะจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมา เอสซีจีในฐานะผู้ผลิตก็ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้พยายามคิดค้น วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับหลายหน่วยงานในการนำพลาสติกกลับไปรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด

การจัดการขยะ เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ที่ต้องร่วมมือกันอย่างบูรณาการ โดยเฉพาะการจัดการที่ต้นทางและสร้างจิตสำนึกให้ผู้บริโภค เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและมีจิตสาธารณะร่วมกันในการจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์ สร้างประโยชน์ได้ต่อไป

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,394 วันที่ 23-25 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62-7