รัฐหนุนพัฒนาใต้ ต่อยอดไม้ยางพารา

22 ส.ค. 2561 | 11:49 น.
ครม.รับข้อเสนอเอกชนภาคใต้ ผุดตั้งนิคมฯ ไม้ยางพารา หวังดึงเอกชนทั้งไทยและเทศลงทุนแปรรูปผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่ม และยังให้กระทรวงพลังงานเพิ่มโรงไฟฟ้าแก๊สชีวภาพและชีวมวลอีก 10 โรงในกลุ่มจังหวัดอันดามันและอ่าวไทย

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปตามข้อเสนอของภาคเอกชนพื้นที่ภาคใต้ 3 จังหวัด โดยทางสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ ได้เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปเร่งผลักดันโครงการเมืองนวัตกรรมและการออกแบบไม้ยางพารา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และการจัดทำมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ยาง1

โดยขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม ช่วยสนับสนุนการจัดตั้ง Rubberwood City ในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดตรัง เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมพิเศษด้านไม้ยางพารา ที่มีการจัดสรรพื้นที่ให้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราและให้มีศูนย์นวัตกรรมและสร้างสรรค์ด้านไม้ยางพาราด้วย ซึ่งจะมีการบริหารจัดการโดยการนิคมอุตสาหกรรมหรือการร่วมทุนหรือการลงทุนโดยเอกชน ที่จะต้องได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษในการลงทุน เนื่องจากจะจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มได้ เช่น ชิ้นส่วน เฟอร์นิเจอร์ เพื่อต่อยอดจากวัตถุดิบจากไม้ยางพาราท่อนและไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้ง ยาง copy

ส่วนพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง จะอยู่ใน หมู่ 5 ตำบลบางหมาก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ มีอยู่จำนวน 1 พันไร่

นอกจากนี้ ยังมีโครงการส่งเสริมการทำระบบแก๊สชีวภาพและชีวมวล จากกระบวนการผลิตปาล์มและยางพารา เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในระบบอุตสาหกรรมตามแนวประชารัฐ โดยขอให้กระทรวงพลังงาน สนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าแก๊สชีวภาพและชีวมวล ขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ จำนวน 10 โรง เพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคใต้กลุ่มจังหวัดอันดามันและกลุ่มจังหวัดอ่าวไทย นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับการตัดโค่นต้นยางประมาณฒน 4 แสนไร่ต่อปีตามนโยบายรัฐบาล ที่จะมีของเสียเหลือใช้ และของเสียในกระบวนการแปรรูปไม้ สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลได้ไม้น้อยกว่า 11 ล้านตันต่อปี โดยทั้ง 2 ข้อเสนอนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน ได้มีการรายงานให้ครม.รับทราบแล้ว และจะไปเร่งผลักดันต่อไป

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,394 วันที่ 23-25 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62-7