เอกชนใต้ขอเร่งเชื่อมโครงข่ายโลจิสติกส์

20 ส.ค. 2561 | 10:48 น.
526596596859 การลงทุนโครงข่ายคมนาคมเชื่อม 2 ฝั่งมหาสมุทรชุมพร-ระนอง เพื่อต่อยอดการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐ ทั้งรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน ที่จะขยายถึงชายแดนภาคใต้ รถไฟทางคู่ ถนนเลียบฝั่งทะเลตะวันตกเพื่อการท่องเที่ยว (ไทยแลนด์ ริเวียรา) ที่ภาครัฐมีแผนดำเนินการ จะมีทั้งถนน 4 เลน ชุมพร-ระนอง ที่ดำเนินการอยู่จะแล้วเสร็จปี 2563 พัฒนาสนามบิน ท่าเรือ เป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวัน ออกกลาง และแผนขยายเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ชุมพร-ระนอง

นายจตุพจน์ ปิยัมปุตระ ผู้ว่าฯ ระนอง เผยว่า จะเสนอของบเพื่อพัฒนาจังหวัด 3 โครงการใหม่คือ 1. ถนน 4 เลน อ.เมืองจ.ระนอง-อ.หลังสวน จ.ชุมพร เชื่อมกลุ่มภาคใต้ตอนล่างกับกลุ่มอันดามัน งบ 2.9 พันล้านบาท 2. โรงยิม 1,000 ที่นั่งและศูนย์ฟื้นฟูบำบัดด้วยนํ้าแร่ 140 ล้านบาท และ 3. อ่างเก็บนํ้า 2 แห่ง อ.กระบุรี และ อ.ละอุ่น แก้นํ้าท่วมนํ้าแล้ง รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิที่ดินย่านสะพานปลา ต.ปากนํ้า อ.เมืองระนอง ที่มีปัญหาบุกรุกที่ป่า

ด้านนายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง อดีตประธานหอการค้าจังหวัดระนอง และนายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ภาคเอกชนระนองสนับสนุนแนว ทางของรัฐบาลครั้งนี้ รวมถึงแผนพัฒนาท่าเรือนํ้าลึกระนอง เพื่อเป็นประตูการค้าฝั่งอันดามัน

นายศุภฤกษ์ ปิณฑะดิษ ผู้จัดการท่าเรือระนอง กล่าวว่า การพัฒนาท่าเรือระนอง จะขุดลอกร่องนํ้าที่กว้าง 120 เมตร ลึก 8 เมตร เพิ่มเป็นลึก 18 เมตร ยาว 28 กิโลเมตร การขยายหน้าท่าเรือที่ 2 เพื่อรองรับแผน การขุดร่องนํ้าลึก

เช่นเดียวกับแผนพัฒนาสนามบิน นายถาวร แสงอำไพ ผอ.ท่าอากาศยานระนอง กล่าวว่า จะเสนอขยายรันเวย์หรือทางวิ่งขึ้นลงของเครื่องบิน จากปัจจุบันที่มีความยาว 2,000 เมตร เพิ่มเป็น 2,500 เมตร เป็นมาตรฐานสากล และพัฒนาตัวอาคารต้อนรับผู้โดยสาร

ขณะที่นายสุพงศ์ เอื้ออารี ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร กล่าวว่า การสร้างท่าเรือนํ้าลึกชุมพร เป็นกุญแจสำคัญด้านยุทธศาสตร์ขนส่งของชาติ ในการเชื่อม 2 ฝั่งทะเล รับ EEC เจาะตลาดกลุ่ม BIMSTEC ได้ศึกษาไว้ 3 จุด คือ บางสน คอกวาง และเขาพระตำหนัก มูลค่า 4,000 ล้านบาท มีระดับนํ้าลึก 10 เมตรขึ้นไป

นายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จะเสนอครม.สัญจร ให้พัฒนาทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ที่บางช่วงมี 2 ช่องจราจร ให้เร่งก่อสร้างเป็น 4 ช่องจราจรตลอดสาย เพื่อเชื่อมทั้งจังหวัดสตูล ต่อกับมาเลเซีย และขยายถนนของภูเก็ตลดความแออัดโดยด่วน

ส่วนด้านการท่องเที่ยว ให้พัฒนาท่าเรือท่องเที่ยวต่างๆ ให้ปลอดภัย รอง รับนักท่องเที่ยวที่มีปริมาณมากขึ้น ที่กระบี่ ภูเก็ต ตรัง รวมทั้งการพัฒนาสนามบินภูเก็ต นอกจากนี้ยังเสนอให้ขยายทางรถไฟไปถึงกันตรัง จ.ตรัง เพราะมีท่าเรืออยู่แล้วแต่รถไฟมาไม่ถึง

|เซกชั่น : การเมือง
| โดย : โดยโต๊ะข่าวการเมือง
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 16 ฉบับ 3393 ระหว่างวันที่ 19-22 ส.ค2561
e-book-1-503x62-7