ปตท. ดึง BTSC ลุย 'รถไฟเร็วสูง'!!

20 ส.ค. 2561 | 10:22 น.
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในการประชุมบอร์ด ปตท. เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้มีวาระการหารือเพื่อรับทราบถึงความคืบหน้าในการเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หลังจากเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2561 ได้รับทราบถึงความคืบหน้าการเจรจากับเอกชน 3-4 ราย ที่จะเข้าร่วมประมูล โดยได้ข้อสรุปว่าจะร่วมกับกลุ่มบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ที่มีพันธมิตร บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จะผนึกกันเข้าร่วมประมูลโครงการ

ดังนั้น ที่ประชุมบอร์ด ปตท. ครั้งนี้ จึงได้มอบหมายให้ บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด ซึ่งจะเป็นผู้เข้าประมูลไปจัดทำรายละเอียดการร่วมทุน ไม่ว่าจะเป็น ความเป็นไปได้ของการลงทุน เพราะมูลค่าโครงการสูงถึง 2.24 แสนล้านบาท ข้อเสนอต่าง ๆ รวมถึงผลตอบแทนด้านการลงทุน ที่อาจจะให้น้ำหนักไม่มากเหมือนการลงทุนโครงการอื่น เพราะ ปตท. เข้าไปร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แต่การลงทุนก็ต้องมีผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสม เพื่อนำกลับมาเสนอบอร์ดในเดือน ก.ย. 2561 เพื่อที่จะนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (เอ็มโอยู) กับกลุ่ม BTSC ในการร่วมลงทุนกันต่อไป ก่อนที่จะมีการยื่นซองประมูลโครงการในวันที่ 12 พ.ย. นี้

ส่วนการประมูลโครงการศูนย์คมนาคมพหลโยธิน (สถานีกลางบางซื่อ) นั้น นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ นวัตกรรมและดิจิตอล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทาง ปตท. มีความสนใจที่จะเข้าไปดำเนินการสมาร์ทซิตี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการขอแบบเพื่อนำมาพิจารณารูปแบบการลงทุนโครงการแบบการลงทุนโครงการ เนื่องจากคำว่า 'สมาร์ทซิตี' มีหลากหลายรูปแบบ จึงต้องศึกษาร่วมกันก่อนว่าก่อนว่าจะลงทุนรูปแบบใดจึงจะเหมาะสมกับพื้นที่ดังกล่าว คาดว่าน่าจะสามารถสรุปรายละเอียดและมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้

ด้าน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่ เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ปตท. สนใจลงทุนในโครงการสมาร์ทซิตี ซึ่งจะมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านดิจิตอล พลังงาน การพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพราะเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ ปตท. ซึ่ง ปตท. และ ร.ฟ.ท. ก็เป็นรัฐวิสาหกิจ หากมีความร่วมมือระหว่างกันก็จะเป็นแนวทางที่ดี แต่ทั้งนี้ต้องรอโมเดลที่ชัดเจนจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และ ร.ฟ.ท. ด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในต้นปี 2562


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,393 วันที่ 19-22 ส.ค. 2561 หน้า 02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ปตท. เตรียมสรุปลงทุน "รถไฟความเร็วสูง" พ.ย. นี้
ปตท. ตีตั๋วจอง "ศูนย์บางซื่อ" ส่งบริษัทลูกเอ็มโอยู ร.ฟ.ท.

เพิ่มเพื่อน e-book-1-503x62-7