ผ่าร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ ซ่อนกลยื้ออำนาจสอบสวน

20 ส.ค. 2561 | 06:31 น.
26529659652

[caption id="attachment_307354" align="aligncenter" width="503"] บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) บรรเจิด สิงคะเนติ
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)[/caption]

“หัวใจของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทยอยู่ที่ระบบงานสอบสวน เพื่อนำไปสู่การพิสูจน์ความจริง โดยการอำนวยความยุติธรรมทางอาญานั้น ต้องสร้างหลักประกันบนหลักการสากลที่ว่า ไม่มีความผิด ไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย ที่มีไว้เพื่อป้องกันการกำจัดศัตรูทางการเมือง และยึดโยงกับเรื่องของเสรีภาพของบุคคล ที่เกี่ยวพันไปถึงปัญหาสังคมสารพัด จะปฏิรูปต้องแก้ไขที่เส้นเลือดหลักนี้ให้ได้ก่อน อย่าไปหลงในรายละเอียดปลีกย่อย”


 

นายบรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ยกหลักการประเมินการปฏิรูปตำรวจที่พยายามทำกันอยู่ ในเวทีเสวนาวิชาการ “ร่างพ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ และร่างพ.ร.บ. การสอบสวนคดีอาญา จะแก้ปัญหาความอยุติธรรมในสังคมไทยได้แค่ไหน?” ที่ห้องประชุมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อรวบรวมเสนอในการรับฟังความเห็นสาธารณะ

เวทีเสวนาเห็นว่า ร่างกฎหมายใหม่ทั้ง 2 ฉบับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้จัดทำเสร็จแล้วเพื่อการปฏิรูปตำรวจนั้นเป็นการปรับปรุงแก้ไขในส่วนย่อย ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง การวางระบบให้งานสอบสวนมีความเป็นอิสระมากขึ้น ก็เป็นกระบวนการทำงานภายในองค์กรตำรวจ การให้อัยการเข้าร่วมการสอบสวนก็มีเงื่อนไขและอยู่ปลายทาง ทั้งที่มาตรฐานของกระบวนการอำนวยความยุติธรรมทางอาญานั้น ไม่ต้องการให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถที่จะกุมไว้โดยลำพัง
599217816 ในส่วนของร่างพ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ซึ่งเป็นกฎหมายจัดวางโครง สร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยยังคงเป็นราชการส่วนกลาง มีสายงานบังคับบัญชาเป็นชั้นขึ้นมาจนถึงผบ.ตร.ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยงาน แยกงานสอบสวนเป็น 1 ใน 5 สายงาน ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการจัดหน่วยไปปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นราชการส่วนภูมิภาค ที่มีข้อเรียกร้องให้ตำรวจไปขึ้นกับท้องถิ่นนั้น นายบรรเจิดชี้ว่า ยังไม่ต้องไปไกลถึงขั้นนั้น แต่เสนอให้ปรับการบริหารในกรอบพื้นที่จังหวัด ซึ่งเวลานี้มีซ้อนกันถึง 4 ชั้น คือ 1. จังหวัดอำเภอ ซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาค 2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ.-อบต.-เทศบาล) 3. หน่วยงานของราชการส่วนกลางที่ไปอยู่ในจังหวัด และ 4. กลุ่มจังหวัดบูรณาการ 18 ภาค

ปัจจุบันนี้ตำรวจรายงานผู้บังคับบัญชาที่เหนือขึ้นไปในสายงานตำรวจ ถ้าจะทำควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้ามามี อำนาจสั่งการตำรวจในจังหวัด จึงจะเชื่อมโยงโครงสร้างการบริหารจัดการในพื้นที่ โดยเอาสุขทุกข์ของชาวบ้านเป็นตัวตั้ง จะแก้เรื่องความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ก็ต้องให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจสั่งการ ให้ความดีความชอบได้ แทนที่จะตอบสนองอยู่ที่ส่วนกลางหมด
1256589595 ในร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ที่เปิดช่องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนสถานีตำรวจนั้น มุ่งหมายการอุดหนุนเรื่องของงบประมาณให้กับสถานีตำรวจมากกว่า ไม่ได้มุ่งเรื่องกระบวนการอำนวยความยุติธรรมทางคดี

ส่วนในร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูป อยู่ที่กระบวน การสอบสวนที่ออกแบบมา นำไปสู่การพิสูจน์ความจริงได้เพียงใด หัวใจหลักคือความเป็นอิสระของคนที่อยู่ในกระบวนการ สิ่งที่ยังขาดในร่างพ.ร.บ.นี้ที่เขียน ไว้อย่างซ่อนกล คือ

1. ขาดการให้หลักประกันความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวน ขณะที่ระบบศาล ยุติธรรมเขียนชัดเจนเป็นหลักประกันความเป็นอิสระ ไว้ใช้ปกป้องตนเองได้หากถูกชี้นำกดดันหรือแทรกแซง

2. ขาดการมีส่วนร่วม ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนฯ เขียนเหมือนจะดีกว่าให้อัยการเข้าร่วมสอบสวนในการทำสำนวน แต่เขียนอ้อมค้อมยืดยาว มีเงื่อนไขว่าอัยการจะเข้ามาหลังจากตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา กระบวนการอย่างนี้ความยุติธรรมก็สูญหายไปแล้ว ถ้าพนักงานสอบสวนไม่แจ้งอัยการก็เข้าไม่ได้ ทั้งที่ในคดีสำคัญอัยการต้องเข้าร่วมตั้งแต่ต้น ลงพื้นที่ รวบรวมพยานหลักฐาน ร่วมกำกับทิศทางคดีไปสู่การพิสูจน์ข้อเท็จจริง การไม่เปิดให้หน่วยงานอื่นเข้ามีส่วนร่วมจึงไม่เป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

3. ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน กระบวนการสอบสวนที่เป็นสากลจะมีกลไกตรวจสอบถ่วงดุล มีคณะกรรมการจริยธรรมพนักงานสอบสวน ถ้าทำงานบิดเบี้ยวคู่ความสามารถร้องเรียนให้ตรวจสอบได้ แม้ใน ม.35 ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) มีหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนความเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากตำรวจ แต่เป็นเรื่องร้องเรียนทั่วไปของตำรวจ ไม่ใช่เรื่องจำเพาะจริยธรรมของพนักงานสอบสวน เอาไปผูกโยงกันไว้จนทำให้เบลอมาก

4. ขาดการเปิดช่องทางให้ประชาชนเข้าสู่กระบวนการ เสนอให้เพิ่มเติมว่า กรณีที่พนักงาน สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ แล้วสั่งไม่ฟ้อง ต้องเปิดโอกาสสร้างหลักประกันให้ประชาชน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ให้ประชาชนขอสำนวนสอบสวนและพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนรวบรวมไว้เพื่อนำไป ฟ้องศาลได้เอง

5. เอาประชาชนเป็นตัวประกัน ใน ม.22 กรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง ส่งสำนวนกลับไปให้ผู้บังคับการสอบสวนพิจารณาใน 30 วัน หากเห็นแย้งความเห็นของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดชี้ขาด แต่เปิด ช่องว่า ถ้าคดีจะขาดอายุความให้ฟ้องคดีตามความเห็นของผู้บังคับการสอบสวนไปก่อน เป็นการเอาเสรีภาพประชาชนเป็นตัวประกัน ทั้งที่ต้องยึดหลักว่าการสอบสวนทุกขั้นตอนต้องมีพยานหลักฐานจนสิ้นสงสัย จึงจะกล่าวหาว่ากระทำผิด ทั้งที่กฎหมายให้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานพอสมควรแล้ว ถ้าขาดอายุความต้องเป็นความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน

6. ที่เขียนไว้ให้อัยการ เข้ามาในคดีสำคัญ ขอเพิ่มเติมในคดีที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ให้อัยการสามารถเข้าได้ หากผู้เสียหายร้องขอเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม จากกระบวนการสอบสวน เพราะคนที่จะไปฟ้องคืออัยการ เพราะฉะนั้นการให้อัยการรู้มันจะเสียหายตรงไหนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

“ถ้าทำในทิศทาง 7 ข้อ จึงเป็นมาตรฐานสากล ถึงจะตอบโจทย์ประชาชนได้ ประชาชนทุกข์ยากอย่างยิ่งจากกระบวนการยุติธรรม การที่จะคลายทุกข์ได้ จะต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมโปร่งใส ตรวจสอบพิสูจน์ความจริง ได้ ปลายนํ้าจะได้พิจารณาสำนวนการตรวจสอบพิสูจน์ความจริงอย่างถูกต้อง” นายบรรเจิดยํ้า

ปฏิรูปตร.ฉบับ‘ขี้หมูราขี้หมาแห้ง’


[caption id="attachment_307360" align="aligncenter" width="503"] พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตพนักงานสอบสวน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตพนักงานสอบสวน[/caption]

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตพนักงานสอบสวน ที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวน ชี้ว่า การโอนงานที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจคืนหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายยื้อมาหลายครั้ง ในบทเฉพาะกาลร่างพ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติใหม่ ให้โอนตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้ใน 1-3 ปี จราจร 5 ปี ทั้งที่ไม่ต้องนานขนาดนั้น และเขียนมาตราเดียวว่าเรื่องอำนาจสอบสวนเฉพาะทาง ให้หน่วยงานใดมีอำนาจตามกฎหมายใดให้มีอำนาจสอบสวนด้วย จะลดภาระงานสอบสวนของตำรวจได้มหาศาล และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ส่วนคดีใหญ่ที่ให้อัยการเข้าร่วมทำสำนวนคดีด้วยแต่ต้นเป็นคดีโทษเกิน 10 ปีขึ้นไป มีแต่คดีฆ่าคนตาย ควรลดลงมาให้ตั้งแต่โทษ  5 ปีขึ้นไป เช่น ความผิดพ.ร.บ. คอมพ์ ให้มีอัยการร่วมด้วยได้

ส่วน ม.22 ที่หากอัยการสั่งไม่ฟ้อง ต้องส่งเรื่องกลับมา ให้ผู้การฯสอบสวนของตำรวจมีอำนาจให้ความเห็นแย้งนั้น กลายเป็นปัญหาความเห็นแย้งตำรวจ-อัยการ กลับไปกลับมา จากเดิมหากอัยการสั่งไม่ฟ้อง ต้องส่งให้ผู้ว่าฯ ให้ความเห็นเพื่อถ่วงดุล หลัง คสช.สั่งโอนให้ ผบช.ตำรวจภูธรภาค และจะกลายมาเป็นของผู้การฯสอบสวน จึงเป็นร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจฉบับขี้หมูราขี้หมาแห้ง

|รายงาน : ผ่าร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ ซ่อนกลยื้ออำนาจสอบสวน
| โดย : อรุณ ลอตระกูล
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 14 ฉบับ 3393 ระหว่างวันที่ 19-22 ส.ค2561
e-book-1-503x62-7