เฮผุดเมืองใหม่ทั่ว 'อีอีซี' !! ทุนภูธรปักธงศรีราชา 600 ไร่ กว้านซื้อที่ "แปดริ้ว-ระยอง"

20 ส.ค. 2561 | 05:38 น.
200861-1226



ทุนภูธรระดมจัดหาที่ดิน! ชิงปาดหน้าบิ๊กอสังหาฯ ตั้งเมืองใหม่อัจฉริยะใน 'อีอีซี' ... กลุ่มสมาคมอสังหาฯชลบุรีมีที่ดินแล้ว 600 ไร่ พร้อมเปิดตัวที่ศรีราชา ขณะที่ สกพอ. เผย มีเอกชนทั้งไทยและเทศให้ความสนใจ 10 ราย เข้ามาหารือแล้ว เล็งพื้นที่ตั้งแต่ 72-5 พันไร่


การพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ถือเป็น 1 โครงการเร่งด่วนของการพัฒนาที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เห็นชอบแนวทางการพัฒนาเมืองใหม่ ภายใต้ดำเนินการ 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบรัฐดำเนินการร่วมทุนกับภาคเอกชนในพื้นที่ของรัฐ โดยเอกชนนำ รัฐเป็นผู้สนับสนุน เป็นการสร้างเมืองใหม่ในที่ดินทั้งของรัฐและเอกชน ที่ส่วนใหญ่เอกชนเป็นผู้ลงทุน

กรณีที่ 2 เอกชนเป็นผู้ลงทุนในพื้นที่เอกชน ซึ่งจะต้องเสนอขอตั้งเมืองใหม่กับทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ หรือ เงื่อนไขที่กำหนด ประกอบกับทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยให้สิทธิประโยชน์ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากตั้งในพื้นที่อีอีซี ได้ลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% อีก 5 ปี

จากนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองใหม่ฯ ดังกล่าว ส่งผลให้เวลานี้มีเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ให้ความสนใจที่จะมาลงทุนตั้งเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่กันเป็นจำนวนมาก

 

[caption id="attachment_307326" align="aligncenter" width="503"] พจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการ สายงานวิชาการและแผน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการ สายงานวิชาการและแผน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)[/caption]

เอกชน 10 ราย แห่ตั้งเมืองใหม่
น.ส.พจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการ สายงานวิชาการและแผน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้มีเอกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีนผ่านคนไทย ได้เข้ามาหารือกับ สกพอ. แล้ว ประมาณ 10 ราย แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่อีอีซี โดยมีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 72 ไร่ ไปจนถึง 5 พันไร่ ในจำนวนนี้มีเอกชน 1 ราย มีพื้นที่ราว 2 พันไร่ อยู่ในมือแล้ว ขณะที่ บางรายเสนอมา 5 พันไร่ และ 1 หมื่นไร่ แต่ยังไม่มีพื้นที่ ซึ่งแต่ละรายได้เข้ามาขอคำแนะนำ เช่น พื้นที่ส่วนไหนจะสามารถตั้งเมืองใหม่ได้บ้าง หรือ พื้นที่สีเขียวสามารถนำมาดำเนินการตั้งเมืองใหม่ได้หรือไม่ เป็นต้น เพื่อที่จะไปดำเนินการรวบรวมที่ดินนำมาเสนอ

หลังจากการหารือ สกพอ. ได้ให้เอกชนที่แสดงความสนใจกลับไป จัดทำรายละเอียดหรือการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนำกลับมาเสนอให้พิจารณา เนื่องจากการจัดตั้งเมืองใหม่จะต้องอยู่ภายใต้การประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ ตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ด้วย อีกทั้งจะต้องทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ประกอบด้วย

 

[caption id="attachment_307327" align="aligncenter" width="503"] คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก[/caption]

ชี้พื้นที่ 3-4 แห่ง มีศักยภาพ
ขณะที่ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า จากที่ภาคเอกชนได้เข้ามาหารือถึงการจัดตั้งเมืองใหม่ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 3-4 แห่ง มีความเหมาะสมที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่เป็นการรวมกลุ่มของสมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี จำนวน 600 ไร่ ที่ได้ให้เอกชนให้มีความสมบูรณ์แล้วนำมาเสนอ

การตั้งเมืองใหม่อัจฉริยะดังกล่าว การลงทุนจะต้องครอบคลุมกิจกรรมพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะแก่ผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะพื้นฐานทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ ชุมชนอัจฉริยะ, สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ, การคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ, พลังงานอัจฉริยะ, เศรษฐกิจอัจฉริยะ และการบริหารจัดการอัจฉริยะ รวมทั้งส่งเสริมแก่ผู้ที่จะมาพัฒนาระบบอัจฉริยะในด้านต่าง ๆ ซึ่งต้องพัฒนา ติดตั้ง และให้บริการระบบเมืองอัจฉริยะที่เหมาะสมอย่างน้อย 1 ด้าน จาก 6 ด้าน จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากบีโอไอ

หากสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองใหม่ทั้ง 3 จังหวัดได้ จะช่วยให้เกิดมูลค่าการลงทุนสูงถึง 4 แสนล้านบาท ล่าสุด ทาง กพอ. ก็ได้มีการตั้ง นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอนุกรรมการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะ ขึ้นมาพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอของนักลงทุนในพื้นที่อีอีซีแล้ว

รวมกลุ่มจัดหาซื้อที่ดิน
แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า มีเอกชนใน จ.ชลบุรี ยื่นแปลงที่ดินเพื่อพัฒนาเมืองใหม่ 2-3 ราย หนึ่งในนั้นเป็นที่ดินของ นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี จำนวน 600 ไร่ ซึ่งนายคณิศเห็นว่า เป็นที่ดินแปลงศักยภาพที่สุด คาดว่าในช่วงเดือน ก.ย. นี้ จะมีความชัดเจนมากขึ้น

นายวัชระ ปิ่นเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วัชราดล จำกัด ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และว่าที่นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ.ฉะเชิงเทรา ระบุว่า ได้รวมกลุ่มในนามสมาคมฯ รวมแปลงที่ดินกว่า 100 ไร่ ตั้งเมืองใหม่ ทำเลติดถนนสุวินทวงศ์ ฝั่งตรงข้ามกับสถานีรถไฟความเร็วสูง ส่วนหนึ่งเป็นที่ดินรอพัฒนา อีกส่วนซื้อต่อจากชาวบ้านเป็นที่นา ราคาไร่ละ 2 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเจรจาซื้อต่อเนื่องในทำเลเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่อีก 2 แปลงใหญ่ จะถูกนำไปพัฒนาเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา ซึ่งจะเป็นพื้นที่ช่วงเลยจากสถานีปัจจุบันไปราว 1 กิโลเมตร ขนาดพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ และพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงอีกประมาณ 500 ไร่

นายกำพล เลิศเกียรติดำรงค์ เจ้าของโครงการบ้านรุ่งอรุณ หนึ่งในผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี กล่าวว่า จากกระแสมีทุนจีนและญี่ปุ่นมาจับจองพื้นที่นับพันไร่ หรือ รัฐบาลหาที่ดินนับหมื่นไร่นั้น จากการสอบถามกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของที่ดินหลายแปลงในพื้นที่ ต่างยืนยันว่า ไม่มีกลุ่มทุนเข้ามาซื้อที่ดินในพื้นที่แต่อย่างใด เชื่อว่าจะเป็นการปั่นราคาที่ดินในพื้นที่มากกว่า โดยเฉพาะกลุ่มซีพีที่จะเข้ามาซื้อที่ดิน ราว 2 หมื่นไร่ ย่านบ้านโพธิ์ ล่าสุด เป็นเพียงนายหน้าเข้ามาเช็กข้อมูลเบื้องต้น

นายเปรมสรณ์ ศรีวิบูลย์ชัย นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ จ.ระยอง ระบุว่า เอกชนในสมาคม 4-5 ราย ได้ร่วมกับ บริษัท ระยองพัฒนาเมืองฯ ร่วมกันหาที่ดินประมาณ 100 ไร่ ตั้งเมืองใหม่อัจฉริยะบริเวณ ต.เกาะกลอย อ.เมือง ใกล้กับศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ระยอง


GP-3393_180820_0018
……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,393 วันที่ 19-22 ส.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เปิดผังใช้ที่ดินในอีอีซีพัฒนา 5 ปีแรก 1.36 แสนไร่
‘SCG’เมินลงทุนปิโตรเคมีในอีอีซี

เพิ่มเพื่อน e-book-1-503x62-7