อัพเกรดโลจิสติกส์ใต้ ชงครม.สัญจรตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ พัฒนา 5 ด้าน

20 ส.ค. 2561 | 05:08 น.
“เอกชนใต้” คึกคักเตรียมแผน 5 ด้านเสนอครม. สัญจรชุมพร ผนึกยุทธศาสตร์พัฒนาภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน ทั้งด้านโลจิสติกส์เชื่อมโยงโหมดขนส่ง ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวสู่ระดับโลก สร้างนวัตกรรมสินค้าเกษตร ปักหมุดสุราษฎร์ฯ เมืองปาล์มนํ้ามัน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในวันที่ 20-21 สิงหาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหัวหน้าส่วนราชการทุกกระทรวง ลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมครม.สัญจรที่ จ.ชุมพรและระนอง โดยจะพิจารณาโครงการตามยุทธศาสตร์ ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี สงขลา และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล เสนอทั้งหมด 5 ด้าน

ด้านแรก คือ ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ สนับสนุนด้านอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการค้าชายแดน ทั้งโครงข่ายถนน โครงข่ายระบบราง โครงข่ายทางนํ้า และโครงข่ายทางอากาศ อาทิ โครงการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางเชื่อมต่อทั้งแนวตะวันตก-ตะวันออกและแนวเหนือ-ใต้ เร่งรัดก่อสร้างและพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งอ่าวไทย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งเพื่อพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง 3 สายทาง โครงการโครงข่ายคมนาคมทางถนนเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวและการเกษตร 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน

โครงการรถไฟทางคู่ชุมพร-สุราษฎร์ธานี สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา หาดใหญ่-ปาดังเบเซาร์ และเส้นทางรถไฟสายใหม่ สุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น(พังงา) ดอนสัก-สุราษฎร์ธานี และชุมพร-ท่าเรือนํ้าลึกระนอง
526596596859 พัฒนาท่าเรือสำราญที่มีมาตรฐานในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีศักยภาพที่อำเภอสมุย เร่งรัดก่อสร้างท่าเรือนํ้าลึกสงขลาแห่งที่ 2 เพื่อเชื่อมแลนด์บริดจ์ของท่าเรือชุมพร-ระนอง รวมทั้งเร่งรัดการพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จ.สงขลา

ด้านการท่องเที่ยว จะยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลก โดยคำนึงถึงความสามารถในการรองรับของพื้นที่อย่างยั่งยืน มีการพัฒนาศักยภาพการรักษาความปลอดภัยทางบกและทางนํ้า พัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว และพัฒนาเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว ที่จะมีโครงการพัฒนาทางหลวงชนบทริมทะเลสาบสงขลา จังหวัดพัทลุง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทะเล สาบสงขลา นครศรีธรรมราช-พัทลุง-สงขลา โดยจะปรับปรุงผิวจราจร ก่อสร้างจุดพักรถ จุดชมวิว และปรับปรุงภูมิทัศน์ในส่วนที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม 5 สายทาง

ด้านการยกระดับการ ผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เสนอให้พัฒนาพื้นที่ภาคใต้เป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC (Southern Economic Corridor ) สู่การเป็นเมืองนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐาน Agro-Bio- Economy เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจของภาคใต้สู่การแข่งขันตลาดโลก

นอกจากนี้ยังเสนอให้ 1. จัดตั้ง Oil Palm City ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2. การทำเกษตรแบบผสมผสาน หรือ วนเกษตร ในสวนยางพาราและสวนปาล์มนํ้ามัน 3. การพัฒนาฟาร์มต้น แบบที่มีความแม่นยำสูง เพื่อส่งเสริมศักยภาพการผลิตทางการเกษตร 4. เมืองนวัตกรรมและการออกแบบไม้ยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและการจัดทำมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และรองรับอุตสาหกรรม 4.0
14902706_1745573132369575_8454033240036522507_o 5. ส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยทางด้านการยาง ปาล์ม พืชผักสมุนไพร ปศุสัตว์ และประมง เพื่อรองรับ Agro-Bio- Economy รวมทั้งสนับสนุนการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อการ ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพระดับโลก 6. จัดตั้งโครงงานต้นแบบสินค้าการเกษตร 4.0 แบบครบวงจร เพื่อยกระดับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเกษตร ได้แก่ พลู หมาก ปลานํ้ากร่อย ทุเรียน และสมุนไพร

7. ส่งเสริมการทำระบบก๊าซชีวภาพและชีวมวลจากกระบวนการผลิตปาล์มและยางพารา เพื่อเป็นพลังงานทด แทนในระบบอุตสาหกรรมและตามแนวประชารัฐ 8. จัดตั้งศูนย์ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนตามแนวประชารัฐและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนทางการเกษตร และ 9. พัฒนานวัตกรรมดิจิตอลด้านการเกษตร สินค้า และ บริการภาคใต้

ส่วนด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต อาทิ ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน และด้านทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครง การบริหารจัดการนํ้าเพื่อแก้ปัญหา อุทกภัย และปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
090861-1927 เพิ่มเพื่อน

เอกชนใต้ขอเร่งเชื่อมโครงข่าย

การลงทุนโครงข่ายคมนาคมเชื่อม 2 ฝั่งมหาสมุทรชุมพร-ระนอง เพื่อต่อยอดการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐ ทั้งรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน ที่จะขยายถึงชายแดนภาคใต้ รถไฟทางคู่ ถนนเลียบฝั่งทะเลตะวันตกเพื่อการท่องเที่ยว (ไทยแลนด์ ริเวียรา) ที่ภาครัฐมีแผนดำเนินการ จะมีทั้งถนน 4 เลน ชุมพร-ระนอง ที่ดำเนินการอยู่จะแล้วเสร็จปี 2563 พัฒนาสนามบิน ท่าเรือ เป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวัน ออกกลาง และแผนขยายเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ชุมพร-ระนอง

นายจตุพจน์ ปิยัมปุตระ ผู้ว่าฯ ระนอง เผยว่า จะเสนอของบเพื่อพัฒนาจังหวัด 3 โครงการใหม่คือ 1. ถนน 4 เลน อ.เมืองจ.ระนอง-อ.หลังสวน จ.ชุมพร เชื่อมกลุ่มภาคใต้ตอนล่างกับกลุ่มอันดามัน งบ 2.9 พันล้านบาท 2. โรงยิม 1,000 ที่นั่งและศูนย์ฟื้นฟูบำบัดด้วยนํ้าแร่ 140 ล้านบาท และ 3. อ่างเก็บนํ้า 2 แห่ง อ.กระบุรี และ อ.ละอุ่น แก้นํ้าท่วมนํ้าแล้ง รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิที่ดินย่านสะพานปลา ต.ปากนํ้า อ.เมืองระนอง ที่มีปัญหาบุกรุกที่ป่า

ด้านนายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง อดีตประธานหอการค้าจังหวัดระนอง และนายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ภาคเอกชนระนองสนับสนุนแนว ทางของรัฐบาลครั้งนี้ รวมถึงแผนพัฒนาท่าเรือนํ้าลึกระนอง เพื่อเป็นประตูการค้าฝั่งอันดามัน

นายศุภฤกษ์ ปิณฑะดิษ ผู้จัดการท่าเรือระนอง กล่าวว่า การพัฒนาท่าเรือระนอง จะขุดลอกร่องนํ้าที่กว้าง 120 เมตร ลึก 8 เมตร เพิ่มเป็นลึก 18 เมตร ยาว 28 กิโลเมตร การขยายหน้าท่าเรือที่ 2 เพื่อรองรับแผน การขุดร่องนํ้าลึก

เช่นเดียวกับแผนพัฒนาสนามบิน นายถาวร แสงอำไพ ผอ.ท่าอากาศยานระนอง กล่าวว่า จะเสนอขยายรันเวย์หรือทางวิ่งขึ้นลงของเครื่องบิน จากปัจจุบันที่มีความยาว 2,000 เมตร เพิ่มเป็น 2,500 เมตร เป็นมาตรฐานสากล และพัฒนาตัวอาคารต้อนรับผู้โดยสาร

ขณะที่นายสุพงศ์ เอื้ออารี ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร กล่าวว่า การสร้างท่าเรือนํ้าลึกชุมพร เป็นกุญแจสำคัญด้านยุทธศาสตร์ขนส่งของชาติ ในการเชื่อม 2 ฝั่งทะเล รับ EEC เจาะตลาดกลุ่ม BIMSTEC ได้ศึกษาไว้ 3 จุด คือ บางสน คอกวาง และเขาพระตำหนัก มูลค่า 4,000 ล้านบาท มีระดับนํ้าลึก 10 เมตรขึ้นไป

นายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ว่า จะเสนอครม.สัญจร ให้พัฒนาทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ที่บางช่วงมี 2 ช่องจราจร ให้เร่งก่อสร้างเป็น 4 ช่องจราจรตลอดสาย เพื่อเชื่อมทั้งจังหวัดสตูล ต่อกับมาเลเซีย และขยายถนนของภูเก็ตลดความแออัดโดยด่วน

ส่วนด้านการท่องเที่ยว ให้พัฒนาท่าเรือท่องเที่ยวต่างๆ ให้ปลอดภัย รอง รับนักท่องเที่ยวที่มีปริมาณมากขึ้น ที่กระบี่ ภูเก็ต ตรัง รวมทั้งการพัฒนาสนามบินภูเก็ต นอกจากนี้ยังเสนอให้ขยายทางรถไฟไปถึงกันตรัง จ.ตรัง เพราะมีท่าเรืออยู่แล้วแต่รถไฟมาไม่ถึง

|เซกชั่น : การเมือง
| โดย : โดยโต๊ะข่าวการเมือง
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 16 ฉบับ 3393 ระหว่างวันที่ 19-22 ส.ค2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว