Management Tools : Hard Choice Model ทางเลือกโหดหิน

18 ส.ค. 2561 | 16:14 น.
56285485 นักบริหารต้องอยู่กับการตัดสินใจ จะลงทุนเองหรือจะจ้างคนผลิต จะเลือกคนมาทำงานเพิ่มหรือจะปลดคนออก จะเริ่มโครงการใหม่หรือจะเลิกโครงการที่มีอยู่เดิม สารพัดหัวข้อต้องตัดสินใจ

ชีวิตคนทั่วไปก็ต้องตัดสินใจ จะเรียนสาขาไหน เข้ามหาวิทยาลัยใด ประกอบอาชีพอะไรดี หรือจะแต่งงานมีครอบครัว สารพัดเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ที่คนคนหนึ่งต้องตัดสินใจ

ยิ่งเป็นผู้บริหารประเทศ การตัดสินใจนโยบายสำคัญต่างๆ จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จะใช้งบประมาณของแผ่นดินให้คุ้มค่า จะลงจากตำแหน่งหรือจะอยู่ต่อ ล้วนเป็นเรื่องของการตัดสินใจ
4545895 2 สิ่งที่เกี่ยวข้องและจะช่วยประกอบในการตัดสินใจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คือ ทางเลือก (Choice) ในการตัดสินใจ หากมีทางเลือกน้อย การพิจารณาการตัดสินใจก็จะอยู่ภายใต้กรอบที่จำกัด การประเมินทางเลือกอาจทำได้ง่ายกว่ากรณีที่มีทางเลือกจำนวนมาก ส่วนอีกประการหนึ่งคือ ผลที่ตามมา (Consequences) คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลังที่เราตัดสินใจทั้งในส่วนที่เป็นผลลัพธ์ (outcomes) และ ผลกระทบ (impacts)

ตัวอย่างเช่น เราประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า เราอาจจะมีทางเลือกในการแก้ไขปัญหา เช่น จะต้องสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ใช้พลังงานทดแทน เช่น แสงแดด หรือพลังลม ซื้อไฟจากต่างประเทศ ไปจนถึงการเลือกใช้พลังงานปรมาณู นี่คือ ทางเลือก ในขณะที่การประเมินว่าแต่ละทางเลือกจะเกิดผลอย่างไร คงดูถึงต้นทุนที่เสีย พลังงานที่ได้ ไปจนถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในแต่ละทางเลือกของการตัดสินใจ นี่คือ ผลที่ตามมา

หากสร้างตารางเมทริกซ์ แกนหนึ่งเป็นเรื่องของทางเลือก อีกแกนหนึ่งเป็นเรื่องของผลที่ตามมา เราจะได้ตารางขนาด 4 ช่อง หน้าตาแบบนี้
TP6-3393-A ตัวแบบแรกของการตัดสินใจ เรียกว่า “ไม่ต้องใช้สมอง” (No-brainer) ทางเลือกมีไม่มาก และผลที่ตามมาก็ไม่ได้สลักสำคัญอะไรมากมาย เหมือนกับเราเดินเข้าไปในร้านอาหารและมีเมนูจำกัด ทุกเมนูอิ่มอร่อยเหมือนกัน ดังนั้นทานอะไร เลือกอะไรก็ได้ ไม่ต้องคิดมาก เหมือนเวลาเราสั่ง เมนูสิ้นคิดข้าวผัดกระเพราไข่ดาว อย่างไรอย่างนั้น แทบไม่ต้องใช้สมอง

ตัวแบบที่ 2 ของการตัดสินใจ เรียกว่า “การตัดสินใจเลือกแอปเปิลหรือลูกแพร์” (Apple/pair decision) ผู้ตัดสินใจ มีทางเลือกและตัดสินใจได้ยากว่าจะเลือกอะไร ในขณะที่ผลของการตัดสินใจไม่ได้มีผลกระทบอะไรตามมามากมาย บางทีผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์นี้อาจเสียเวลาในการพิจารณาทางเลือกโดยใช่เหตุ เสียเวลาว่าจะเลือกแอปเปิลหรือลูกแพร์ดี ทั้งๆ ที่มันก็คล้ายๆ กัน

ตัวแบบที่ 3 เรียกว่า “ทางเลือกที่ยิ่งใหญ่” (Big Choice) เป็นเรื่องที่ทางเลือกจำกัด แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นสำคัญยิ่ง การตัดสินใจจึงเหมือนถูกบีบบังคับให้ทำอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น การผ่าตัดเพื่อรักษาชีวิต ใครที่ต้องตัดสินใจในสถานการณ์แบบนี้ ค่อนข้างโชคดีเพราะไม่ต้องใช้เวลาในการคิดวิเคราะห์มากมายแต่ผลที่ได้กลับใหญ่หลวง

ตัวแบบสุดท้าย เรียกว่า “ทางเลือกที่โหดหิน” (Hard Choice) สถานการณ์นี้เป็นเรื่องยากสำหรับนักบริหาร เพราะมีทางเลือกของการตัดสินใจหลายทาง ประเมินทางเลือกที่เหมาะสมก็ยาก ในขณะเดียวกันผลที่ตามมาก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง เหมือนเดินหมากพนันบ้านเมือง จะตัดสินเดินไปทางไหนก็มีทางเลือกมากมาย คาดเดายากว่าคู่ต่อสู้จะเดินไปทางใด แต่หากเดินหมากพลาดเพียงตาเดียวอาจแพ้ทั้งกระดานได้
bigstock-Decision-Time-29420804 ผู้บริหารจำนวนไม่น้อย มักภาคภูมิใจในการตัดสินใจแบบ “ไร้สมอง” ทั้งๆที่เป็นโจทย์ที่ง่ายและไม่เกิดประโยชน์อะไรนัก พอได้คิดได้ตัดสินใจเรื่องดังกล่าวก็รู้สึกดีว่าตนเองสำคัญ

ผู้บริหารอีกจำนวนหนึ่งเสียเวลาไปเปล่ากับการวิเคราะห์เปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจในปัญหา “ลูกแพร์หรือแอปเปิล” ใช้เวลากับการพินิจพิจารณาโจทย์ที่ผลที่ได้ไม่ได้มีอะไรสลักสำคัญเป็นวันๆ ทั้งๆ ที่ผลการตัดสินใจไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรมากมายต่อองค์กร

ผู้บริหารจำนวนมากใฝ่ฝันว่าสักวันจะได้มีเหตุบังเอิญแห่ง “ทางเลือกที่ยิ่งใหญ่” ที่สามารถตัดสินใจเรื่องง่ายๆ ที่ไม่ต้องประเมินทางเลือกอะไรมากมาย แต่ได้รางวัลผลลัพธ์แห่งการตัดสินใจที่เกินคุ้ม แต่ใช่ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวจะแวะมาได้โดยง่าย

ในโลกแห่งธุรกิจ โลกของการบริหารที่เป็นจริง “ทางเลือกที่โหดหิน” นั้นปรากฏให้เห็นอย่างตลอดเวลาของการดำรงความเป็นผู้บริหาร

การตัดสินใจไม่ใช่เรื่องง่าย ทางเลือกมีจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ต้องคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ และทุกโจทย์ของการตัดสินใจล้วนส่งผลกระทบตามมาทั้งต่อตัวผู้ตัดสินใจ ต่อองค์กร หรือแม้กระทั่งต่อบ้านเมือง หากท่านเป็นผู้บริหารที่ต้องรับผิดชอบต่อองค์กร หรือเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองก็ตาม พึงตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าว วิเคราะห์ทางเลือกให้ลึกซึ้ง คิดถึงผลที่ตามมาให้มาก

หากทุกอย่างเป็นเรื่องง่าย เราคงไม่ต้องจ้างนักบริหารราคาแพงมาจัดการแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ในองค์กร

เช่นเดียวกัน หากปัญหาบ้านเมืองแก้ได้โดยง่าย ใครๆ ต่อใครก็คงเป็นนายกรัฐมนตรีได้มั้งครับ

|คอลัมน์ : Management Tools
|โดย : รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับ 3393 ระหว่างวันที่ 19-22 ส.ค.2561
e-book-1-503x62