ปลดล็อกคลื่น1800 โจทย์ใหญ่ กสทช.

18 ส.ค. 2561 | 14:30 น.
23656965 การประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในวันที่ 19 สิงหาคม 2561 มีเอกชนเพียง 2 รายเท่านั้นที่เข้าร่วมประมูล คือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) บริษัทในเครือของ ดีแทค และ 2. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทในเครือของ เอไอเอส

ทั้งๆ ที่การประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่กสทช.นำออกมาประมูลครั้งนี้มี 9 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวมทั้งสิ้น 45 เมกะเฮิรตซ์ ระยะเวลาอนุญาต 15 ปี แต่ทว่าเมื่อดูจากคลื่นอยู่ในมือโอเปอเรเตอร์แต่ละราย ถือว่าเพียงพอแก่การให้บริการ
images_14473493891 ไม่ว่าจะเป็นเอไอเอสที่ปัจจุบันมีคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ขนาด 15 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่ดีแทค แม้สัญญาสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์จะสิ้นสุดในวันที่ 15 กันยายน 2561 แต่ดีแทค ก็ได้คลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ จาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มาให้บริการจำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ เพียงพอต่อการให้บริการ

เช่นเดียวกับ กลุ่มทรู ที่มีคลื่นในมือถึง 55 เมกะเฮิรตซ์ ก็ประกาศไม่ร่วมประมูล เพราะมีคลื่นอยู่ในมือจากการเข้าประมูล 2 ครั้งที่ผ่านมา และคลื่นที่ทรูไปทำสัญญา 3 จี กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) เมื่อปี 2554 ที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เรียกว่า “สัมปทานจำแลง”  เพียงพอแล้ว
image_66 เป็นที่คาดหมายกันว่าผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละรายจะประมูลคนละใบอนุญาตเท่านั้น นั่นหมายความว่าจะมีคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เหลืออยู่อีก 7 ใบอนุญาต รวม 35 เมกะเฮิรตซ์ ที่กสทช.จะต้องนำออกมาประมูล ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมด แต่คงไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะต้องไม่ลืมว่า นอกจากโอเปอเรเตอร์แต่ละรายมีคลื่นอยู่ในมือเพียงพอแก่การให้บริการแล้ว การที่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจจะกระโดดเข้ามาแข่งขันกับเอกชน 3 รายเดิมที่ยึดตลาดโทรคมนาคมของประเทศอยู่มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก ยิ่งในปีหน้า กสทช.เปิดประมูล 5 จี ด้วยการนำคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ออกมาประมูล ยิ่งทำให้ความน่าสนใจของคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์มีน้อยลง

เราเห็นว่า คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ประมูลไม่หมดและเหลืออยู่ 35 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่ากว่า 87,402 ล้านบาท และคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ที่ไม่มีเอกชนรายใดสนใจร่วมประมูล จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่กสทช. ต้องขบคิด หาวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ มาใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะสูงสุด

| บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
| ฉบับ 3393 ระหว่างวันที่ 19-22 ส.ค.2561
e-book-1-503x62
090861-1927 เพิ่มเพื่อน