เปิดผังใช้ที่ดินในอีอีซีพัฒนา 5 ปีแรก 1.36 แสนไร่

19 ส.ค. 2561 | 03:30 น.
รายงานโต๊ะข่าวลงทุน-อุตสาหกรรม

เปิดผังใช้ที่ดินในอีอีซีพัฒนา 5 ปีแรก 1.36 แสนไร่

นโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาตะวันออกหรืออีอีซี ตามพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่กำหนดให้ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นพื้นที่การพัฒนา ซึ่งหลายคนอาจจะเข้าใจว่า จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ตรงจุดไหนก็จะได้สิทธิประโยชน์เหมือนกันหมดทุกตารางนิ้ว

ดังนั้น ต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า จริงๆ แล้วในการพัฒนาอีอีซีนั้น ไม่ได้ปล่อยให้มีการลงทุนอย่างสะเปะสะปะ เพราะมีบทเรียนแล้วจากการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดในช่วงที่ผ่านมา ที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น การพัฒนาอีอีซีครั้งนี้ จึงต้องกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศต้องการ
eec ในการพัฒนาอีอีซี จึงได้มีการกำหนดแผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินในภาครวมของอีอีซีในช่วงระยะเวลา 20 ปี ออกมา โดยทางคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ก็จะพบว่า มีการกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินไว้ 7 กลุ่ม ประกอบด้วย เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ โครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค (รวมโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่) พื้นที่พัฒนาเมืองใหม่ และพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ พื้นที่พัฒนารองรับศูนย์กลางโลจิสติกส์ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และพื้นที่อื่นๆ ตามหลักการของการผังเมือง เช่นพื้นที่เกษตร และแหล่งน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

โดยจะเป็นการดำเนินงานภายใต้พื้นที่เพียงประมาณ 8.33 ล้านไร่เท่านั้น ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมโยธาธิการและผังเมือง จะนำมากำหนดตำแหน่งและขนาดพื้นที่เบื้องต้น เพื่อจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้มีความเหมาะสม

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

สำหรับการใช้ประโยชน์ในที่ดินจำนวนดังกล่าว จะพบว่า การกำหนดพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่เกษตร แหล่งน้ำ และพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะยังกันไว้ใกล้เคียงกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอยู่ที่ 8,202,414 ไร่ โดยเป็นการเกษตร 5.54 ล้านไร่ และพื้นที่แหล่งน้ำ 2.48 แสนไร่ ส่วนพื้นที่ที่ใช้ในทางเศรษฐกิจในระยะ 5 ปีแรก(2561-2565) จะมีอยู่จำนวน 136,509 ไร่ เช่น เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ 4 พื้นที่จำนวน 18,484 ไร่ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 21 แห่ง จำนวน 86,755 ไร่ โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 13,870 ไร่ พื้นที่ท่าเรือมาบตาพุด พื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง พื้นที่พัฒนาเมืองใหม่ และพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ 15,500 ไร่ โดยเป็นเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ 12,500 ไร่ ที่ประกอบด้วย พื้นที่ศูนย์กลางการเงิน 500 ไร่ และพื้นที่มหานครการบินภาคตะวันออก 2,500 ไร่ ซึ่งยังไม่รวมพื้นที่เมืองใหม่อัจฉริยะที่ลงทุนโดยเอกชนอีกจำนวนหนึ่ง พื้นที่รองรับศูนย์กลางโลจิสติกส์ 1,500 ไร่ รวมถึงพื้นที่ของแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย

อย่างไรก็ตาม การกำหนดใช้ที่ดินดังล่าว เป็นเพียงการประมาณการณ์ความต้องการเบื้องต้นเท่านั้น ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง จะนำไปจัดทำผังการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาอีอีซีที่มีอยู่ ที่คาดว่าจะดำเนินการจัดทำให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

ดังนั้น การพัฒนาอีอีซี ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงกันว่า จะส่งผลต่อความเป็นอยู่พี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัด และเกรงว่าจะเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ก็คงจะเบาใจได้ เพราะการลงทุนทุกอย่างจะอยู่ภายใต้การดูแล และมีพื้นที่ที่ขีดวงในการลงทุนไว้แล้ว

e-book-1-503x62