อย่าให้การต่ออายุโรงไฟฟ้าSPPทำลายความเชื่อมั่นนักลงทุนในEEC

18 ส.ค. 2561 | 09:06 น.
โต๊ะข่าวลงทุน-อุตสาหกรรม

อย่าให้การต่ออายุโรงไฟฟ้าSPPทำลายความเชื่อมั่นนักลงทุนในEEC

ขณะที่รัฐบาลกำลังโหมขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยพยายามดึงนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา รวมถึงการดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ล่าสุดได้รับการยืนยันจากนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ว่านักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 1 พันราย ที่อยู่ในไทย มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของการพัฒนาอีอีซี และมีท่าทีที่จะขยายการลงทุนต่อเนื่อง

แต่ที่กำลังจะบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องระบบสาธารณูปโภค อย่างการผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้กับนักลงทุนต่างๆ ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงพลังงาน ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะต่ออายุโรงไฟฟ้าเอสพีพี ระบบโคเจนเนอเรชั่นที่ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ จำนวน 25 ราย คิดเป็นกำลังผลิตรวมราว 1.7 พันเมกะวัตต์ ซึ่งหมดอายุในช่วงปี 2560-2568 หรือไม่
spp1 ทั้งที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้มีมติมาตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นมา หรือผ่านมากว่า 2 ปีแล้ว ให้ไปดำเนินการต่อสัญญากับโรงไฟฟ้าทั้ง 25 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเอสพีพีที่หมดอายุในปี 2560-2561 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าและไอนํ้าให้กับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และไฟฟ้าส่วนเกินขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยกำหนดให้ กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าในจำนวนไม่เกิน 60 เมกะวัตต์ ในราคา 2.37 บาทต่อหน่วย

ขณะที่เอสพีพีกลุ่มที่ 2 เป็นโรงไฟฟ้าที่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2562-2568 นั้น กพช. อนุมัติให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ในพื้นที่เดิมหรือพื้นที่ใกล้เคียงนิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม โดยให้ขายไฟฟ้าให้ กฟผ.ได้ไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ และไม่เกิน 30% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวมไอนํ้า และต้องไม่เกินกว่าปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาเดิม ในราคา 2.81 บาทต่อหน่วย โดยให้มีสัญญารวม 25 ปี

แต่จนถึงวันนี้กับไม่มีการดำเนินงานหรือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าเอสพีพีในกลุ่มแรก เช่น โรงไฟฟ้าเอสพีพีของกลุ่มบริษัท โกลว์ และกลุ่มบริษัท อมตะบี.กริม จำนวน 3 โครงการ กำลังผลิตรวมกว่า 300 เมกะวัตต์ ที่หมดสัญญาไปแล้วตั้งแต่ปี 2560 ก็ยังไม่มีการลงนามในสัญญาว่าจะต่ออายุโรงไฟฟ้าหรือไม่ แต่ก็ยังปล่อยให้ผู้ประกอบการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอยู่บนสัญญาที่ไร้หลักประกัน

จนล่าสุดทางสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ต้องออกมาโวยกระทรวงพลังงาน ถึงความไม่ชัดเจนในการต่อสัญญาโรงไฟฟ้าทั้ง 25 รายดังกล่าวว่าจะเอาอย่างไร เพราะขณะนี้เองกลุ่มนักลงทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ รับซื้อไฟฟ้าจาก 25 โครงการ ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่อีอีซี กังวลว่า ความล่าช้าในการต่อสัญญา จะส่งผลโรงไฟฟ้าเอสพีพีปรับปรุงระบบหรือก่อสร้างไม่ทัน จะกระทบต่อการจ่ายไฟฟ้า ส่งต่อความเสถียรและเสี่ยงต่อการขาดแคลนกระแสไฟฟ้า ซึ่งหากการเกิดไฟฟ้าตกดับในกระบวนการผลิตแต่ละครั้ง จะสร้างความสูญเสียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีออโตเมชั่นในระบบผลิต

eec

เมื่อมาลงลึกถึงความล่าช้าในการต่อสัญญาโรงไฟฟ้าเอสพีพีที่เกิดขึ้น ก็มีเสียงจากคนในวงการพลังงานว่า งานนี้จะเป็นการ ”เตะหมูเข้าปากหมาใคร”หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) พยายามแก้ไขทางออก ด้วยการเสนอให้ดำเนินการตามมติกพช.โดยให้ต่อสัญญาบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันทั้งหมด 25 ราย แต่ลดสัญญาระยะเวลาจ่ายไฟฟ้าลงมาเหลือ 10 ปี จากเดิม 25 ปี ขายไฟฟ้าให้กฟผ.ในปริมาณ 30 เมกะวัตต์ นำเสนอกระทรวงพลังงาน

แต่เรื่องก็ถูกตีกลับ เพราะมีการตั้งธงไว้ว่า หากต่ออายุโรงไฟฟ้าเอสพีพี จะต้องพิจารณาเป็นรายโครงการ โดยเลือกโครงการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำก่อน เพื่อไม่ให้รับซื้อไฟฟ้าแพง และส่งผลกระทบหรือเป็นภาระกับผู้บริโภค ซึ่งหากใช้วิธีดังกล่าวนี้ ก็ถือว่าขัดกับมติกพช.ที่เคยให้ไว้ และยังเป็นการเลือกปฏิบัติ

ด้วยเหตุผลของแต่ละฝ่าย จึงทำให้เรื่องดังกล่าวคาราคาซังมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งกระทรวงพลังงาน จะต้องเร่งหาทางออกโดยเร็ว เพราะไม่เช่นนั้น โรงไฟฟ้าเอสพีพีที่หมดอายุไปแล้วและที่กำลังจะหมดอายุลงอีก จะไม่สามารถวางแผนการดำเนินงานต่อไปได้ ซึ่งจะส่งผลมาถึงนักลงทุนที่อยู่ในนิคมฯ ขาดความเชื่อมั่นที่จะขยายงานหรือลงทุนต่อเนื่องอีกได้

e-book-1-503x62