คาด กสทช.ได้ค่าคลื่น 1800 ไม่ถึง 3 หมื่นล.

18 ส.ค. 2561 | 08:06 น.
รายงานโต๊ะไอที

ประมูลคลื่น 1800 สุดสัปดาห์นี้ คาด กสทช.ได้เงินเข้ารัฐประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท เชื่อ เอไอเอส-ดีแทค เคาะราคาแข่งแค่ครั้งเดียว โดยเงื่อนไขกำหนดไว้ครั้งละ 25 ล้านบาท

19 สิงหาคม 2561 นี้ เป็นวันที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เริ่มประมูลเวลา 10.00 น. ที่ชั้น 3 อาคารสำนักงาน กสทช.ซอยสายลม

อย่างไรก็ตามการประมูลในวันนั้น มีเพียงแค่ 2 บริษัทที่ผ่านคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเอิรตซ์ ซึ่งได้แก่ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) บริษัทในเครือของ ดีแทค และ 2. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทในเครือของ เอไอเอส ชัดเจนแน่นอนว่า ทั้ง 2 บริษัทจะได้รับใบอนุญาตดังกล่าวไปประกอบกิจการเพื่อต่อยอดธุรกิจ
TV-900 แต่ทว่าการประมูลรอบนี้ การแข่งขันจะไม่ดุเดือดเพราะกลุ่มทรู ได้ประกาศแล้วว่าไม่รวมประมูล เพราะมีจำนวนแบนด์วิธรองรับถึง 55 เมกะเฮิรตซ์เพียงพอแก่การให้บริการ ขณะที่ เอไอเอส ปัจจุบันมีคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ขนาดแบนด์วิธ 15 เมกะเฮิรตซ์ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ส่วน ดีแทค นั้นแม้สัญญาสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์จาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สิ้นสุดในวันที่ 15 กันยายน 2561 แต่ทว่า ดีแทค ได้คลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ จาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มาให้บริการจำนวนแบนด์วิธ 60 เมกะเฮิรตซ์ เพียงพอต่อการให้บริการเช่นเดียวกัน

ดังนั้นการประมูลคลื่นรอบนี้ ว่ากันว่า กสทช. จะได้เงินเข้ารัฐประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท คิดจากราคาตั้งต้น 12,486 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการทั้งสองรายเคาะราคาแข่งแค่ครั้งเดียวครั้งละ 25 ล้านบาท แตกต่างจากการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาต โดยใบอนุญาต 15 เมกะเฮิรตซ์ จัดประมูลเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 มีผู้เข้าประมูลถึง 4 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
TV-1800 สำหรับผู้ชนะประมูลครั้งนั้น คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ราคาสุดท้ายที่เสนอ 39,792 ล้านบาท ได้ใบอนุญาตที่ 1 บนคลื่นความถี่ 1710-1725 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ 1805-1820 เมกะเฮิรตซ์ และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ราคาสุดท้ายที่เสนอ 40,986 ล้านบาท ใบอนุญาตที่ 2 คลื่นความถี่ 1725-1740 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ 1820-1835 เมกะเฮิรตซ์ ได้เงินเข้ารัฐจำนวน 80,678 ล้านบาท

ว่ากันว่าการประมูลรอบนี้ เอไอเอส ได้คลื่นจำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ ไปรวมกับคลื่นเดิมกลายเป็นผืนขนาดใหญ่จำนวน 20 เมกะเฮิรตซ์ ทั้งนี้นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า การประมูลรอบนี้ เอไอเอส น่าจะเป็นผู้เลือกสล็อตก่อน โดยจะได้สิทธิ์เลือกคลื่นในล็อตที่หนึ่งที่ติดกับคลื่นเดิมแบบไม่มีเงื่อนไข
และเหตุผลที่ เอไอเอส เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากมองเห็นอนาคตการเติบโตของตลาดโทรคมนาคม โดยบริษัทฯ จะมีโอกาสในการใช้คลื่นความถี่ไปพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆเพื่อให้บริการลูกค้า

เชื่อว่าวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคมนี้ฯ การประมูลจะสิ้นสุดภายในไม่เกินเที่ยง เนื่องจากมีคู่แข่งขันเพียง 2 ราย แต่ละรายมีคลื่นที่ให้บริการกับลูกค้าอย่างเพียงพออยู่แล้ว ทำให้เชื่อว่า กสทช.จะได้เงินเข้ารัฐไม่ถึง 3 หมื่นล้านบาท

e-book-1-503x62