ดัชนีเชื่อมั่นของผู้บริโภคนายกฯชี้ดีสุดรอบ 62 เดือนย้ำ”ต้องสร้างไทยไปด้วยกัน”

18 ส.ค. 2561 | 07:16 น.
ดัชนีเชื่อมั่นของผู้บริโภคนายกฯชี้ดีสุดรอบ 62 เดือนย้ำ”ต้องสร้างไทยไปด้วยกัน”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า”ผลประเมินดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนกรกฎาคม ปีนี้ ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 82.2 ซึ่งถือว่าปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องนะครับ แล้วก็เป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 62 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 โดยทุกรายการปรับตัวดีขึ้น แทบทั้งสิ้น เนื่องจากประชาชนเห็นว่าการส่งออกและการท่องเที่ยว ขยายตัวดีขึ้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมให้ดีขึ้นต่อไป ส่วนราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มดีขึ้น และกำลังซื้อของประชาชนในหลายจังหวัดก็ปรับตัวดีขึ้น ระมัดระวังนะครับในเรื่องของการผลิตที่มันเกิดความต้องการของตลาด หรือคุณภาพไม่ดีพอนะครับ

เช่นเดียวกัน รายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย ในเดือนกรกฎาคมนี้ ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุว่าปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรก ในรอบ 6 เดือน เนื่องจากครัวเรือนมีมุมมองต่อเรื่องรายได้ และการมีงานทำ ที่ดีขึ้น เรื่องมีงานทำ ไปติดตามจากกระทรวงแรงงานด้วยนะครับ ว่าเขามีความต้องการแรงงานที่ไหนอย่างไร ก็ไปสมัคร มีตู้ 500 กว่าตู้นะครับ ที่จะเข้าไปตรวจสอบได้นะครับ เพื่อตัวเองจะได้เข้าไปหางานทำได้ หรือไม่ก็ไปสมัครเรียนในหลักสูตรต่างๆ ซึ่งเขามีให้บริการอยู่ ถ้าไม่ฟังเลยที่ผมพูดก็ไปไม่ได้ บางทีก็ไม่ได้ใส่ใจ ไม่สนใจมากนักนะครับ โอกาสก็หายไป ขณะที่ภาคเกษตรกรรม เริ่มเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาด ช่วยหนุนให้เกษตรกรมีรายได้นะครับ ตัวเลขการจ้างงานของประเทศ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน 6 แสนกว่าอัตรา แล้วก็เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน กว่า 2 แสนอัตราเป็นต้น

tuking

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหารายได้ของประชาชนที่ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ผ่านมาภาครัฐก็มีมาตรการช่วยเหลือหลายอย่างนะครับ เพื่อเพิ่มรายได้ ลดภาระค่าใช้จ่าย เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นาโนไฟแนนซ์ พักชำระหนี้เกษตรกร ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกร โครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพ เป็นต้นมี การลดหนี้สินต่างๆ ก็ทำทุกอันนะครับ ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมาก ในหลายๆ เรื่องนะครับ เช่น.. 1. การฝึกอาชีพให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งเป็นการดำเนินการในระยะที่ 2 กระทรวงแรงงานได้เพิ่มศักยภาพด้านการประกอบอาชีพเพิ่มรายได้ เสริมความมั่นคงให้กับชีวิต โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการฝึกอาชีพ กว่า 6 แสนราย ได้แก่อาชีพช่างอเนกประสงค์ 8 หมื่นกว่าราย และ อาชีพอิสระอื่นอีก 5 แสนกว่าราย ใน 58 หลักสูตรนะครับ กรุณาไปเรียนกันด้วย เช่น ศิลปประดิษฐ์ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างตัดผม และทำอาหาร เป็นต้น

รวมทั้ง การจัดหางาน ที่มีเป้าหมายราว 1 แสนราย ได้มีการติดตั้ง JOB BOX 500 ตู้ ที่ผมกล่าวไปเมื่อสักครู่ มีตำแหน่งงานรองรับแล้ว 7 หมื่นอัตรา ทั้งงานในสถานประกอบการ ในประเทศและต่างประเทศ หรืองานที่รับไปทำที่บ้าน นอกจากนั้นยังมีการให้บริการความรู้เรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และ ส่งเสริมการเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 อีกด้วย

2. แอพพลิเคชัน "ถุงเงินประชารัฐ"สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในการดำเนินการในระยะที่ 2 เช่นกัน กระทรวงพาณิชย์เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมานี้ ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการ "ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ"ให้คนมีรายได้น้อยทั่วประเทศ มากกว่า 11ล้านคน สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้มีการติดตั้งเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ให้กับร้านค้าไปแล้ว กว่า 38,000 ร้านค้า ปัจจุบัน มีการจ่ายเงินสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ร้านธงฟ้าประชารัฐแล้ว กว่า 34,000 ล้านบาท ล่าสุด มีการต่อยอดมาตรการดังกล่าวนะครับ โดยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถชำระเงินค่าสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่น "ถุงเงินประชารัฐ" ของธนาคารกรุงไทยบนโทรศัพท์มือถือได้ โดยไม่ต้องใช้รูดกับเครื่อง EDC ส่งผลให้มีการขยายร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ไปอย่างทั่วถึง เปิดโอกาสให้แผงร้านค้าในตลาดสด ร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว รวมไปถึงรถเร่ขายสินค้า สามารถสมัครเป็นร้านค้าธงฟ้าประชารัฐได้นะครับ ต้องสมัครเข้ามานะครับ ปัจจุบัน มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 20,000 ราย จากเป้าหมายร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 1 - 2 แสนรายนะครับ

far2

คุณสมบัติพื้นฐานของร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ คือ (1) เป็นร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ในครัวเรือน สินค้าเพื่อการศึกษา สินค้าวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม ผลผลิตทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้า OTOP สินค้า GI อาหาร รวมไปถึงยารักษาโรค เป็นต้น และ (2) ผู้ขายมีสมาร์ทโฟน ที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ ส่วนขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการ ก็ "ง่ายและสะดวก" นะครับ โดยร้านค้าที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้จากเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ และส่งทางไปรษณีย์ หรือมายื่นด้วยตนเอง ได้ที่สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ในพื้นที่ของท่าน

จากนั้น ก็รอการอนุมัตินะครับ ภายหลังจากการลงทะเบียนในระบบ เพื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น "ถุงเงินประชารัฐ" มาใช้ ก็เป็นอันจบขั้นตอนนะครับ ก็คงไม่ยากจนเกินไปนะครับ ผมเชื่อว่าการต่อยอดร้านธงฟ้าประชารัฐ นี้ จะเปิดโอกาสให้ร้านค้ารายย่อย ได้รับการพัฒนา และมีรายได้ที่ยั่งยืนขึ้น ขณะที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะได้รับประโยชน์จากการมีทางเลือก ในการซื้อสินค้าที่หลากหลายขึ้น และ ทั่วถึงมากขึ้นก็ไปสร้างห่วงโซ่ขึ้นมาในหลายพื้นที่ด้วยกัน ก็ถือว่าเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ ของพี่น้องในชุมชนระดับฐานราก ในภาพรวม ซึ่งจะช่วยให้ประเทศเดินหน้าไปได้ อย่างยั่งยืน

3. การขับเคลื่อนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของพี่น้องประชาชนนะครับ ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร รวมถึงอาชีพอิสระต่างๆ ทั้งนี้ จากการสำรวจของหน่วยงานราชการ ได้รับข้อมูลแจ้งจากประชาชน พบว่ามีประชาชนเป็นลูกหนี้ราว 9 แสนราย จากเจ้าหนี้เกือบ 18,000 ราย มีมูลหนี้รวม กว่า 52,000 ล้านบาท โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินการเดือนกรกฎาคม นะครับ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ร่วมกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงยุติธรรม ระดับจังหวัด ได้เดินหน้าเจรจาไกล่เกลี่ย ทำข้อตกลงประนีประนอม และปรับโครงสร้างหนี้ ให้ความเป็นธรรมกับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้แล้วกว่า 2 แสนราย

far1

ขณะเดียวกัน ได้ร่วมกันใช้มาตรการทางกฎหมายกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ไม่ร่วมมือนะครับ ผ่าน "ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันปราบปรามการฉ้อโกงทรัพย์สินของประชาชน เรียกชื่อย่อว่า ศปฉช." นะครับ ณ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ทั่วประเทศ และนครบาล ซึ่งเราได้เห็นภาพการดำเนินการไปแล้ว จากรายการ "เดินหน้าประเทศไทย" เมื่อวันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา สิ่งสำคัญก็คือเรื่องราวความเลวร้ายของ "การทำนาบนหลังคน" ที่เราไม่สามารถจะปล่อยให้เกิดขึ้นอีกต่อไป ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถนำทรัพย์สินของประชาชนจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กลับสู่มือผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งถูกเอาเปรียบด้วยอำนาจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นโฉนดที่ดินกว่า 7,000 ไร่ และรถยนต์จำนวนมาก คิดเป็นมูลค่า โดยรวมกว่า 3,000 ล้านบาท

ส่วนการเร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ "เฉพาะกิจ" เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานะครับ 3 เดือน เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สิน สามารถตกลงปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ และ เข้าซื้อหนี้ของเกษตรกร จากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เช่น ธ.ก.ส. สหกรณ์การเกษตร และ ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป รวมประมาณ 36,000 ราย มูลค่าหนี้ราว 6,000 ล้านบาท โดยสามารถช่วยลดยอดหนี้แต่ละรายลงร้อยละ 50 นะครับ หยุดดอกเบี้ยระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จมากที่สุด ในรอบ 19 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการตั้งกองทุนฯ มา ในปี 2542 ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2549 - 2557 การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินการได้เพียง 29,000 ราย เท่านั้น จากจำนวนสมาชิกเกษตรกรที่ลงทะเบียนหนี้สินไว้ราว 460,000 ราย เห็นไหมครับ มีความแตกต่างกันอยู่มาก เราก็พยายามจะแก้ไขปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม เราจะต้องเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรลูกหนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถชำระหนี้ตามสัญญาใหม่ได้ โดยได้กำชับให้สำนักงานกองทุนฯ ไปหาแนวทางฟื้นฟูอาชีพ ร่วมกับ ธ.ก.ส. และกรมส่งเสริมการเกษตรต่อไป นะครับ

far4

4. การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนซึ่งกำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ ประมาณ 1 ล้านไร่ ใน 70 จังหวัด ปัจจุบัน สามารถดำเนินการออกหนังสืออนุญาตได้แล้ว ประมาณ 4 แสนไร่ คิดเป็นร้อยละ 40 ของเป้าหมาย โดยมีผู้ยากไร้ ได้รับการจัดสรรที่ดิน มากกว่า 46,000 ราย รวมถึงมีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพไปพร้อมๆ กันด้วย อย่างไรก็ตาม ยังคงพบปัญหาความซ้ำซ้อน และ ข้อจำกัดในการจัดที่ดิน หรือ การอนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดินตามความต้องการของชุมชน ดังนั้น คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ได้ประชุมหารือ เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างเป็นเอกภาพ โดย "เห็นชอบ" ให้ส่งมอบงานโฉนดชุมชนให้กับคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ไปดำเนินการต่อนะครับ ซึ่งอาจจะต้องยึดหลักเรื่องการจัดที่ดินในรูปแบบแปลงรวม มีการรับรองสิทธิ์ของชุมชนให้กับประชาชน ซึ่งไม่ใช่สิทธิปัจเจกกับใครคนใดคนหนึ่ง แต่จะเป็นไปในลักษณะการรับรอง "สิทธิแปลงรวม" นะครับ ไม่งั้นให้ไปก็ไปขายอีกต่อไปในอนาคตเหมือนเช่นเดิมๆ ที่ผ่านมา

5. นโยบาย "สานพลังประชารัฐ" โดยประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ช่วยกันแก้ปัญหา คิดหาทางสร้างอนาคตให้ประเทศไทย ผ่านโครงสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน และ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีคณะทำงานร่วมภาครัฐ - ภาคเอกชน เป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบาย ด้วยการน้อมนำ "หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" และ แนวทางการพัฒนา ของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" มาเป็นหลักคิด ที่มีเป้าหมายสุดท้าย คือ การพัฒนาสู่ความยั่งยืน สำหรับคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และประชารัฐ ได้ดำเนินการ 3 เรื่อง ประกอบด้วย เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยว โดยชุมชนเอง

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ภายใต้ 5 กระบวนการ ได้แก่การเข้าถึงปัจจัยการผลิต การสร้างองค์ความรู้ การตลาด การสื่อสารสร้างการรับรู้ และการบริหารจัดการ โดยมีคณะกรรมการประสานงานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด นะครับ "ครบทุกจังหวัด" แล้ว เป็นกลไกในการขับเคลื่อน มีผลงานประกอบการที่ดีขึ้นมาตามลำดับ

ผลการดำเนินงาน มากว่า 2 ปี สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างเป็นรูปธรรม มีการนำนวัตกรรม และองค์ความรู้มาเสริมสร้างเพิ่มมูลค่า จัดหาช่องทางการตลาด รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพสินค้า ช่วยให้เศรษฐกิจพื้นฐาน คือ "ชุมชน" ได้เติบโต เข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ แล้วก็เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ พร้อมก้าวสู่ "เศรษฐกิจ 4.0" ในวันข้างหน้า สำหรับผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้น อย่างเป็นรูปธรรมดังกล่าว ก็คือกลุ่มเป้าหมาย ราว 4,000 กลุ่ม แยกเป็น ด้านการเกษตร ด้านการแปรรูป การท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้รับการพัฒนา สามารถสร้างรายได้ รวมแล้ว กว่า 2,200 ล้านบาท มีผู้ได้รับประโยชน์ มากกว่า 5 แสนคน

นอกจากนี้ จากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ปรากฏว่าชุมชนเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้น จากปีที่ผ่านมา มียอดเงินรวม กว่า 700 ล้านบาท อีกทั้งยังมีการขยายผล "วิสาหกิจเพื่อสังคม" ระดับอำเภอ - ตำบล มีการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ข้ามจังหวัด เช่น เครือข่ายผ้าบาติก เครือข่ายโคขุน เครือข่ายตลาดประชารัฐ เครือข่ายนครชัยบุรินทร์ เครือข่ายเพชรสมุทรคีรี และเครือข่ายมโนราห์ รวมทั้ง มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับตลาด เช่น "เห็ด" จังหวัดอ่างทอง "ชาใบข้าวหอมมะลิ" จังหวัดร้อยเอ็ด "ท่องเที่ยวชุมชนบ้านเดื่อ" จังหวัดหนองคาย และ "เครื่องสำอาง แบรนด์ส้มซ่า" จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น

far3

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการเพิ่มช่องทางการตลาดที่หลากหลาย ในทุกจังหวัด และตลาด Modern Trade อีกด้วย นะครับ ใครที่ไม่เคยได้ยินคำที่นายกฯ พูดแสดงว่ายังไม่เข้าถึงโอกาสเหล่านั้น ท่านต้องติดตามนะครับ ไม่อย่างนั้นท่านก็จะว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรๆ อย่างเช่นมีคนบางกลุ่ม บางฝ่ายมาพูดในวันนี้นะครับ เรามีตัวเลข มีผลสัมฤทธิ์ออกมาตลอด แต่ถ้าใครยังไม่เคยได้ยินคำเหล่านี้ ไม่เห็น ไม่เคยฟังช่องทางเหล่านี้ท่านก็เข้าไม่ถึงโอกาสเหล่านั้นนะครับ แล้วจะให้เราทำอย่างไร มันก็ต้องพยายามฟังบ้างนะครับ หรืออ่านบ้าง

เพราะฉะนั้นที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่ประกอบกันจนเป็นความสำเร็จของเรา ในวันนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องดูแลให้ครบวงจร ให้ตลอด "ห่วงโซคุณค่า" ทั้งในระดับฐานราก ไปจนถึงระดับประเทศ ที่เชื่อมโยงไปยังกลุ่มประเทศ CLMVT - อาเซียน - และ ประชาคมโลก ในรูปแบบความสัมพันธ์ - ความร่วมมือต่างๆ ด้วย สิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้สามารถ "รักษาผลสำเร็จ ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน" ก็คือ เปิดรับ และปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเริ่มจากตัวเราเองก่อนนะครับ ด้วยการไม่หยุดที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องฟัง ต้องอ่านนะครับ และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าทุกๆ วัน เพื่อที่เราทุกคนจะได้เข้มแข็ง เป็นส่วนหนึ่งของการ "สร้างไทยไปด้วยกัน" โดยต้อง "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" นะครับ”

e-book-1-503x62