นายกฯชี้”ล้อ ราง เรือ”เชื่อมคมนาคมและท่องเที่ยววอนปชช.อดทนเพื่อบูรณาการ

18 ส.ค. 2561 | 06:09 น.
นายกฯชี้”ล้อ ราง เรือ”เชื่อมคมนาคมและท่องเที่ยววอนปชช.อดทนเพื่อบูรณาการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า ”เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผมก็ได้มีโอกาสลงพื้นที่ ตรวจราชการด้านการจราจร ซึ่งมีปัญหากับการสัญจรไปมาของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่อื่นๆ ด้วย ก็จะเน้นในเรื่องของการแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร มีการเยี่ยมศูนย์ควบคุมการจราจร บก. 02 แล้วก็ฟังการบรรยายสรุปจากหลายหน่วยงานด้วยกัน ของกระทรวงคมนาคมด้วย ทั้งการท่า และในส่วนของกรุงเทพมหานคร

tuking

ซึ่งก็ได้พูดคุยกันถึงเรื่องการเชื่อมโยง เรื่อง "ล้อ - ราง แล้วก็ เรือ" นะครับ เป็นเป้าหมายของเราในอนาคต ที่เราจะต้องอาศัยเวลาในการทำงานนะครับ หลายปีที่ผ่านมานั้นเราไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่ควรจะเป็นนะครับ วันนี้ก็เลยต้องใช้เวลา หรือทำให้เกิดปัญหาการจราจรเพิ่มขึ้น ด้วยการเร่งสร้าง เร่งโครงการต่างๆ มากมายในเวลาเดียวกันนะครับ อาจจะส่งผลกระทบต่อการสัญจรไปมาของพี่น้องชาว กทม. และปริมณฑล อยู่ในปัจจุบัน ก็คงต้องช่วยกันนะครับขอให้อดทนไประยะหนึ่ง อีกไม่นานเราก็จะมีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น วันนี้ก็จะเล่าให้ฟังถึงสภาพปัญหา จนนำไปสู่แนวทางแก้ไขของรัฐบาลในปัจจุบันนะครับ ว่าจะเป็นไปได้ได้อย่างไรนะครับ

ทุกคนคงทราบดีอยู่แล้วว่า ปัญหาจราจรติดขัดนี้ เป็นปัญหาที่สะสม ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของเมือง ที่อาจจะไร้ยุทธศาสตร์ ไร้ข้อจำกัด ไม่เป็นไปตามผังเมือง หากว่าผังเมืองที่ว่านั้น เป็นการทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐนะครับ กับประชาชนไปด้วย เพราะฉะนั้นผังเมือที่ออกมา บางครั้งอาจจะไม่มีประสิทธิภาพ เพราะว่าประชาชนไม่ยินยอมนะครับ ในการที่จะจัดทำผังเมืองใหม่ ก็เลยเกิดปัญหาซ้ำซ้อนตามกันมาอีกนะครับ

tutr

ในขณะที่มีการเดินทางเข้าสู่ศูนย์กลางเมือง เพื่อประกอบกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งทำงาน - ส่งลูกหลาน - ติดต่อธุรกิจ - ท่องเที่ยว ของคนกว่า 15 ล้านคน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่จำกัด 1,500 กว่า ตารางกิโลเมตร ถ้าคำนวณกันเป็น "ความหนาแน่น" ก็จะมากกว่า 9,500 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร นะครับก็ถือว่า "แออัดมาก" และผิวการจราจรก็ไม่สามารถรองรับได้อย่างสมดุล ในปี 2560 นั้นมีจำนวนรถยนต์สะสม กว่า 6.6 ล้านคัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4% ต่อปี ถ้าเราจะมองให้เห็นภาพ ก็คือ มีรถจดทะเบียนใหม่ ทุกวันๆ ละ 700 คัน และรถจักรยานยนต์ 400 คันนะครับ ในขณะที่การสัญจรของรถ ต้องอาศัยถนน มีผิวการจราจร ที่สร้างเพิ่มขึ้นได้ยากนะครับ แพง แล้วก็นาน แล้วก็ติดที่ของเอกชนนะครับ เกือบทั้งหมด

ปัจจุบันนั้น กทม. มีถนนประมาณ 4,300 กิโลเมตร เป็นถนนสายหลัก เพียง 1 ใน 4 เท่านั้น หากเทียบ "พื้นที่ถนน" เป็นร้อยละแล้ว กรุงเทพฯ มีเพียง 6.8 % ในขณะที่มหานคร - เมืองใหญ่ๆ ของโลก เช่น นิวยอร์ก - ลอนดอน - ญี่ปุ่น - สิงคโปร์ มีพื้นที่ถนน 21 - 36 % นะครับ แต่อย่าคิดว่าเขาไม่ติดนะครับรถน่ะ เขาก็ติดคล้ายๆ เรานี่แหละ ทั้งๆ ที่เขามีพื้นที่ถนนมากกว่าเรา อาจจะถึง 2-3 เท่านะครับ เพราะฉะนั้นรวมทั้ง ความต้องการเดินทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาก็มากขึ้นอีกสะพานที่เรามีอยู่ในปัจจุบันก็จำนวนจำกัด เราก็มีการวางแผนจะสร้างใหม่เพิ่มขึ้น ก็สร้างไม่ได้ ก็ยังต้องฟังความคิดเห็นประชาชนอีกนะครับ จากการศึกษาพบว่า ในปี 2564 เราจะมีความต้องการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 480,000 คนต่อวัน และในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นเป็น 840,000 คนต่อวันนะครับ

ปัญหาสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ การเชื่อมโยงทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานะครับ เชื่อมต่อแนวตะวันตก – ตะวันออก นะครับ ซึ่งมีปัญหาการเชื่อมโยงตรงนี้อยู่เหมือนกัน ตะวันตก- ตะวันออกของเรานะครับ แล้วทำอย่างไรจะ สอดคล้องรองรับกับทางด่วนและวงแหวนต่างๆ ทั้งทางขึ้น - ทางลง เพื่อให้เกิดการไหลเวียน การสัญจร บนถนน ในพื้นที่ชั้นนอก - ชั้นใน ไม่ติดขัด

tutr1

ไม่อย่างนั้นก็ขึ้นทางด่วน ลงมาแล้วขึ้นใหม่ ก็เลยติดกันทั้งข้างบน ข้างล่างนะครับ รวมไปถึง จุดตัดรถไฟ วงเวียน และแยกไฟแดง ที่ต้องมีการคำนวณเวลา และปริมาณรถ ด้วยนะครับ สำหรับแนวทางแก้ปัญหานั้น ผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการก็คือ ส่งเสริมให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แล้วหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะการผลักดันให้ "ระบบราง" เป็นแกนหลัก ในการเดินทาง และขนส่ง สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล นั้น ภายในปี 2575 อีก 15 ปี จะต้องเร่งลงทุนสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครบ ทั้ง 10 สาย ระยะทางรวม 464 กิโลเมตร

ประกอบกับนโยบาย "One Transport" ที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อ การเดินทาง "ล้อ - ราง - เรือ" แบบไร้รอยต่อให้ได้นะครับ ทั้งในเรื่องของการเชื่อมโยง ทั้งในเรื่องของการขนานกันไป เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกให้เข้าถึงบริการระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ ทั้งรถ ขสมก.- คิวรถตู้ - วินมอเตอร์ไซค์ - รถไฟฟ้า - เรือด่วนเจ้าพระยา เป็นต้นนะครับ

นอกจากนี้ต้องจัดทำที่ "จอดแล้วจร" ให้กระจายตัวในพื้นที่สำคัญ ที่จะเชื่อมโยงต่อการขนส่งด้านต่างๆ รวมถึงมี "ระบบตั๋วร่วม" ซึ่งก็ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนะครับ ขณะเดียวกัน ควรต้องนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารการจราจร และการขนส่งอย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น วันนี้เราใช้เจ้าหน้าที่ บางครั้งก็ไม่สามารถจะครอบคลุมในพื้นที่กว้างๆ ได้ ในพื้นที่ใหญ่ได้ ในต่างประเทศ ผมไปดูไปเยี่ยมเยือนมา ก็เห็นเขาใช้การบริหารโดยการใช้เทคโนโลยีนะครับ ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมทั้งพื้นที่ไปเลย เช่นเส้นทางนี้ติด ก็สามารถจะเปลี่ยนทิศทางการจราจรไปเส้นอื่นได้ หรือเปลี่ยนในเรื่องของการ เปิด-ปิด สัญญาณไฟแดง ไฟเขียว ได้นะครับ ขณะเดียวกันก็สามารถคำนวณความเร็วในเส้นทางที่เป็นเส้นทางด่วนนะครับ เหล่านั้นได้ เขาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

โดยคำนวณจากปริมาณรถติด ปริมาณรถสะสม ของเรายังไปไม่ถึงตรงนั้น ก็จะเป็นปัญหาบ้าง ตอนนี้ผมก็ได้สั่งการให้ไปทำการศึกษาเพิ่มเติมนะครับ มีการ หารือกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัย หรือองค์กรต่างๆ หรือแม้กระทั่งจากต่างประเทศ นะครับเพื่อนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ควบคุมการจราจร ให้มากยิ่งขึ้นนะครับ จะเร่งดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ถึงจุดนั้น รัฐบาลก็ได้จัดทำมาตรการรองรับเพื่อจะแก้ปัญหาการจราจร เป็นแผนระยะสั้นนะครับ ระยะกลาง และระยะยาว ดังนี้...

tutr4

แผนระยะสั้น ก็ได้แก่การบริหารจัดการกระแสการจราจรบนท้องถนน เช่น ไฟจราจร จุดกลับรถ จุดตัดรถไฟ เหล่านี้ เป็นต้นนะครับ การเข้มงวดกวดขันวินัยจราจร ถ้ารถติดแล้วทุกคนไม่มีการละเมิดก็พอจะอดทนกันได้บ้างนะครับ แต่หลายอย่างก็ไม่อดทนกัน บางคนก็แซงซ้าย แซงขวา รถช้าก็วิ่งเลนกลาง วิ่งเลนขวา อะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้นทุกคนต้องเคารพกฎจราจรนะครับ แล้วก็ การบังคับใช้กฎหมายที่เหมาะสม ผมก็ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเร่งดำเนินการให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพิ่มมาตรฐานเรือโดยสาร เพื่อให้การสัญจรทางน้ำ เป็นทางเลือกให้กับประชาชน ปัญหาก็คือว่าเราจะต้องหาเส้นทางที่คู่ขนานกันให้ได้ ทางบก กับทางน้ำนะครับ ถ้าทางบกแน่น เราสามารถให้บริการทางน้ำคู่ขนานกันไปได้ไหม ก็ต้องไปดูคูคลอง แม่น้ำ อะไรต่างๆ ที่คู่ขนานไปนะครับ เพื่อจะลดเวลาในการเดินทาง

ปัญหาของเราอีกอย่างหนึ่งก็คือ ครอบครัวของเรานี่เป็นครอบครัวใหญ่นะครับ ที่ต้องใช้รถ เพราะต้องดูแลครอบครัวของเขา สามีทำงาน ภรรยาทำงาน ลูกไปเรียนหนังสือ คนละที่กันหมด เพราะฉะนั้นการใช้การบริการขนส่งภาครัฐบางทีอาจจะไม่ตอบสนองครอบครัวของเขาได้โดยสมบูรณ์นะครับ เขาก็เลยต้องมาขับรถเอง แล้วก็ส่งลูก ส่งหลาน กว่าจะไปถึงที่ทำงานได้ เพราะฉะนั้นเราต้องหาทางเลือกให้ประชาชน ให้มากยิ่งขึ้นนะครับ ปรับหรือเพิ่มเส้นทางรถ ขสมก. ทำรถที่จะเชื่อมต่อให้มีการ ที่เรียกว่า “ฟีดเดอร์” นะครับ เพื่อจะเอาคนจากตรงนี้ ไปขึ้นรถไฟฟ้าให้ได้ ไม่อย่างนั้นระยะทางก็ไกลเกินไปนะครับ รถไฟฟ้าก็ต้องเชื่อมต่อกับเส้นทางรถ ขสมก. ที่เราต้องปรับหรือเพิ่มเส้นทางให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มรถโดยสารรับส่งระยะสั้น ที่ส่งต่อไปขึ้นรถไฟฟ้าเหล่านี้ ในรอบเขตพื้นที่วิกฤตนะครับ และมีมาตรการเคลื่อนย้ายรถเสีย รถจอดข้างทางผิดกฎหมาย รถที่เกิดอุบัติเหตุให้ได้เร็วที่สุดเป็นต้น

แผนระยะกลาง 1 - 3 ปี นอกจากเราต้องเร่งลงทุนสร้างระบบขนส่งสาธารณะ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว เราต้องกำหนดสิทธิการผ่านในบางพื้นที่ เช่น พื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ เพื่อลดปริมาณการจราจร ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงข่ายการจราจร และการขนส่งสาธารณะ ให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกัน เช่น การทำช่องทาง "บัสเลน" ซึ่งบางทีก็มีปัญหานะครับ เพราะถนนเราแคบ ที่ผ่านมาก็ทำหลายเส้น ก็ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลกวดขันการปฏิบัติตามกฎกติกาอย่างเคร่งครัดด้วยนะครับ
และ แผนระยะยาว 3 ปีขึ้นไป อาทิ ใช้มาตรการจำกัดสิทธิ์ มาตรการด้านการเงิน ในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นโครงข่ายรถไฟฟ้า ไม่ต่ำกว่า 0.2 กิโลเมตร ต่อตารางกิโลเมตร เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การเดินทางที่ไม่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และ การปลูกฝังจิตสำนึก วินัย น้ำใจการใช้รถใช้ถนน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาจราจรได้อย่างยั่งยืนนะครับ

tutr3

ทั้งนี้ ผมก็ได้สั่งการให้เพิ่มเส้นทางคมนาคมทางน้ำในการเดินทาง คู่ขนานไปกับถนนสายหลัก เพื่อให้ประชาชนเลือกใช้บริการได้สะดวกขึ้น บรรเทาจราจรติดขัดทางถนน ซึ่งทั้งกรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ต้องร่วมกันนะครับดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในระยะแรก ควบคู่กันไปกับการก่อสร้าง และในเรื่องของการเตรียมการจัดหาการใช้ระบบดิจิทัลมาควบคุมการจราจร ในเขตเมือง - ทางด่วน - เส้นทางที่แออัด - ไฟเขียวไฟแดง - เส้นทางอ้อมผ่าน ในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ก่อสร้างให้ได้โดยเร็ว ขอทำความเข้าใจกับประชาชนด้วยว่า บางครั้งการอ้อมผ่านบ้างจะดีกว่ารถติดนานๆ นะครับ บนเส้นทางเดิมๆ ที่เสียเวลา เสียเชื้อเพลิง เป็นต้นนะครับ

นอกจากนี้ ผมอยากจะขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ก่อสร้างถนน ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการลดช่องทางจราจร ให้มีการตั้งป้าย ให้สัญญาณล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เมื่อก่อสร้างไปแล้ว ตรงไหนสร้างเสร็จแล้ว ก็บีบให้เล็กลงนะครับ ไม่ใช่รักษาพื้นที่ก่อสร้างมากไปตลอดนะครับ จนกว่าจะสร้างเสร็จ อย่างนี้ไม่ได้นะครับ
ก็ต้องค่อยๆ ลดพื้นที่ลงไปให้ได้ตลอดระยะเวลาที่มีการก่อสร้าง ตรงไหนเสร็จ ก็รีบแก้ไขตรงนั้นนะครับ เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุด้วย ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ในส่วนของตนในการเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัดนะครับ ผู้ใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ต้องมีวินัย คิดถึงเพื่อนร่วมทางให้มากยิ่งขึ้น

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ผมยกตัวอย่างเช่นเวลาติดไฟแดงนี่ ควรจะติดตรงไหน ก็ติดตรงนั้น ไม่ใช่ว่าถึงเวลามอเตอร์ไซค์ก็แทรกไป แทรกมา ก็เกิดกระทบกระทั่งกันขึ้นมา แล้วเพื่อจะไปถึงข้างหน้าให้มากที่สุด ถึงไฟเขียว ไฟแดง ให้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้นการออกตัวต่างๆ ช้าไปหมดนะครับ เมื่อเวลาเปิดไฟแดง เวลากำหนดไว้แล้ว ถ้าทั้งรถมอเตอร์ไซค์ พอไฟแดงข้างหน้า ตัวเองก็หยุดตรงนี้ก็ได้ ทำไมจะต้องขึ้นไปถึงข้างหน้า

ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ก็ไม่ได้เร็วไปกว่าเดิมเท่าไร แต่ทำให้การจราจรมีปัญหานะครับ ต้องคิดถึงเพื่อนร่วมทางให้มากขึ้นนะครับ รวมถึงคนเดินถนน ให้ใช้ทางข้ามที่ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของตนเอง และผู้อื่น ถ้าทุกคนช่วยกันปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน ก็อาจจะทำให้การจราจรลื่นไหลได้ดีขึ้น สื่อมวลชนเองนะครับ ก็ขอให้ช่วยกันในการนำเสนอข้อมูลการจราจรที่ถูกต้อง

นอกจากนี้ หากภาคเอกชน เห็นว่าพื้นที่ใด ควรสร้างเป็นพื้นที่จอดรถ เช่น พื้นที่ใกล้กับสถานที่ที่สำคัญ ก็สามารถเสนอมายังรัฐบาล เพื่อจะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ได้มากขึ้น และ ช่วยบรรเทาการจราจรติดขัดบนท้องถนนได้อีกทางหนึ่งนะครับ คือมีการลงทุนเรื่องที่จอดรถ ที่จอดรถใต้ดิน อะไรทำนองนี้นะครับ ให้มากยิ่งขึ้น การที่จะสร้างศูนย์การค้าใหม่ๆ ก็ต้องคำนึงถึงที่จอดรถด้วยนะครับ อันนี้ก็คงต้องกำหนดไปให้ชัดเจนขึ้น ต่อไปนะครับ

พี่น้องชาวไทยที่รักครับ, ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม เป็นต้นมา กรุงเทพมหานครได้เปิดทดลองเดินเรือเส้นทางใหม่ เพื่อจะเชื่อมโยงระบบคมนาคมทางน้ำกับ โครงข่ายสาธารณะอื่นๆ ตามนโยบาย "ล้อ ราง เรือ" นะครับ ตั้งแต่ท่าเรือสะพานตากสิน- เพชรเกษม (บางหว้า) คลองภาษีเจริญ ถึงท่าเรือวัดกำแพงบางจาก คลองบางกอกใหญ่

tutr5

ในระยะทดลองนี้ เป็นบริการประชาชนโดยไม่เก็บค่าโดยสาร ในทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00 - 18.00 น. นะครับ โดยเรือจะออกทุก 30 นาที มีท่าเรือที่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS บางหว้า และ จุดจอดรถโดยสารประจำทาง ซึ่งผ่านเส้นทางที่เป็นย่านท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ตลาดคลองบางหลวง บ้านศิลปิน และ ชุมชนร้านค้าโบราณเป็นต้น ในการทดลองใช้เส้นทางเดินเรือดังกล่าวของ กทม. ผมได้เห็นศักยภาพในการพัฒนาตามโครงการฟื้นวิถีชีวิตชุมชน ผ่านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ สมัยธนบุรี "ชุมชนคลองบางหลวง" ที่สามารถนำไปสู่การเป็นต้นแบบของ "เขตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม" ได้ในอนาคต ด้วยการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ - การท่องเที่ยว - การเชื่อมต่อของ "รถ ราง เรือ" ที่จะช่วยฟื้นวิถีชีวิต และกระตุ้นเศรษฐกิจคลองบางหลวง ย่านฝั่งธน ในรูปแบบการส่งเสริม startup ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และ วิถีชีวิตชุมชนนะครับ นอกเหนือจากเขตบางรัก ที่ในปัจจุบัน เริ่มมี Boutique Hotels ในย่านบ้านขุนน้ำขุนนาง คลองบางหลวง หรือการตั้งร้านอาหาร ตลาดน้ำชุมชน เป็นต้น

ทั้งนี้ในปัจจุบัน เรารู้จักคลองบางหลวง "ช่วงปลาย" บริเวณวัดกำแพงบางจาก ที่มีบ้านศิลปิน แต่หากมีการพัฒนาช่วงต้นคลองบางหลวง ด้านวัดกัลยาณมิตรฯ วัดอรุณราชวรารามฯ ซึ่งเป็นหัวใจของประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี ก็จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว จากฝั่งพระบรมมหาราชวังได้อีกมาก นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีสถานี MRT ใกล้เคียง เช่น สถานีสนามไชย สถานีอิสรภาพ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้สามารถเชื่อมต่อโปรแกรมการท่องเที่ยว ระหว่างเกาะรัตนโกสินทร์ กับธนบุรี ได้มากขึ้น

tutr6

เราต้องวางแผนนะครับร่วมกัน เพื่อจะเตรียมการ ทั้งในเรื่องแหล่งท่องเที่ยว และการเดินทาง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวดังกล่าว ให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ และยั่งยืน แล้วก็ปลอดภัยด้วยนะครับ ด้วยการบูรณาการกัน ระหว่าง กทม. - กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา - กระทรวงวัฒนธรรม - กระทรวงคมนาคม ร่วมกันเป็น "เจ้าภาพหลัก" ร่วมมือกันสร้างเส้นทาง - เรื่องราวการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ - และ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆนะครับให้สามารถรองรับความต้องการ และ ปริมาณนักท่องเที่ยว ในอนาคตให้ได้ด้วยนะครับ โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือ สุขา การบริการเรื่องน้ำดื่ม สุขาภิบาลอะไรต่างๆ ทั้งหมดนะครับ จะต้องมีการให้บริการเรื่องเหล่านี้ ตามจุดท่องเที่ยวที่สำคัญ ควบคู่กับการวางมาตรการความปลอดภัย ในการสัญจรทางลำน้ำ คู คลอง อีกทั้ง ให้พิจารณาในเรื่องการออกแบบก่อสร้าง ให้เป็น "อารยสถาปัตย์" ที่จะช่วยให้เด็กเล็ก - ผู้สูงวัย - และผู้พิการ ได้เข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวของเรา อย่างเท่าเทียมกัน ด้วยนะครับ

โดยพื้นที่ย่านนี้ ในทางประวัติศาสตร์แล้วเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ทรงมีต่อคนทุกชาติ ทุกศาสนา ชาวจีน แขก ฝรั่ง ที่ติดตามพระองค์มาจากอยุธยา ด้วยมีศรัทธาในพระองค์ เป็นอย่างมาก เห็นได้จากที่พระองค์ทรงสร้างวัดไทย วัดจีน โบสถ์ และมัสยิด รอบๆ บริเวณนี้ ตัวอย่างนักท่องเที่ยวชาวจีน มักเดินทางมาเพื่อสักการะ "พระพุทธไตรรัตนนายก" ที่คนจีนเรียกกันติดปากว่า "ซำ-ปอ-กง" ส่วนคนไทยมักเรียกว่า "พระโต" ที่วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร นอกจากนี้ ยังมีวัดซางตาครู้ส โบสถ์ซางตาครู้ส หรือวัดกุฎีจีน ที่เป็นโบสถ์คริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับพระราชวังเดิม สมัยธนบุรี ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราชทานที่ดินให้แก่ชาวโปรตุเกส ซึ่งร่วมทำการศึกต่อต้านพม่าจนได้รับชัยชนะ อีกทั้ง "มัสยิดต้นสน" ซึ่งล้วนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ สำหรับผู้มาเยือนจำนวนมาก”

e-book-1-503x62