งบสุขภาพ ปี 62 พุ่งทะลุ 2.2 แสนล้าน!! 'ฉัตรชัย' สั่งลดซ้ำซ้อน-ห้ามงบเกินกว่านี้

18 ส.ค. 2561 | 03:20 น.
วันที่ 17 ส.ค. 2561 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 คณะที่ 5 องค์ประกอบที่ 5.2 การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ ครั้งที่ 2/2561 โดยมีคณะกรรมการและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

รายงานข่าวจากที่ประชุมระบุว่า ช่วงหนึ่ง พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ขอให้ทุกหน่วยงานร่วมเน้นบูรณการลดความแตกต่างอัตราการใช้บริการผู้ป่วยในแต่ละระบบ ทั้งการกระจายความแออัดผู้ป่วย สร้างความเข้มแข็งให้กับโรงพยาบาลระดับท้องถิ่น และสร้างความมั่นใจคุณภาพการรักษา พร้อมขอให้ร่วมวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณอย่างครบถ้วน ให้รักษางบประมาณในระดับนี้ไว้ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร ลดความซ้ำซ้อนและใช้ยาที่จำเป็น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ นอกจากนี้ ขอฝากให้ช่วยกันดูแลกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิ เช่น พระภิกษุสงฆ์ กลุ่มผู้ต้องขัง ผู้พิการ และผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมในระบบสุขภาพ

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการดำเนินงานการใช้จ่ายงบประมาณและการกำกับติดตามแผนบูรณาการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบในปี 2561 เช่น ช้า รอนาน ไม่แน่ใจคุณภาพยา และสิทธิสวัสดิการไม่ครอบคลุมฯ

นอกจากนี้ ในที่ประชุมรายงานภาพรวมงบประมาณด้านสุขภาพงบประมาณ พ.ศ. 2562 ของ 7 หน่วยงานในระบบสุขภาพทั้งหมด คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) อยู่ที่ 223,933 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 16,836.49 หรือ 8.13%

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนบูรณาการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ ปีงบประมาณ 2561 โดยผลการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2561 ของทั้ง 5 กองทุนสุขภาพ ทั้งสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ และบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ภาพรวมการเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมาย 99.37% มีการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 205,783.21 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดจำนวน 207,096.60 ล้านบาท ซึ่งผลดำเนินการตามตัวชี้วัดที่เป็นเป้าหมายของการบูรณาการ นอกจากจำนวนครัวเรือนที่ยากจนหลังการจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เลขาฯแพทยสภา แนะองค์กรสื่อทำ 'สมุดสุขภาพ' ให้นักข่าว
Soupper Pot ชาบูสุขภาพ


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว