ธปท.หวั่นสังคมสูงวัยฉุดจีดีพีโต

18 ส.ค. 2561 | 08:25 น.
 ธปท.ห่วงแรงงานหายจากระบบ ฉุดการเติบโตเศรษฐกิจ เหตุเกษียณเร็วตั้งแต่อายุ 45 ปี จี้รัฐหาแนวทางดึงแรงงานเข้าระบบ โดยเฉพาะผู้หญิง ต้องปรับทั้งการศึกษา เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน อีก 10 ปี แรงงานกายอีก 1.5%

สังคมสูงวัย หรือ Aging Society ถือเป็นประเด็นท้าทายอย่างมากสำหรับประเทศไทยที่กำลังเผชิญและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะตลาดแรงงานไทยที่จะหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากแรงงานไทยไหลออกสู่นอกระบบก่อนถึงวัยอันควรในอายุเพียง 45 ปี ที่สำคัญรายได้เฉลี่ยของคนที่ทำงานนอกระบบอยู่ที่ 7,922.953 บาทต่อเดือน น้อยกว่าคนที่ทำงานในระบบ 13,612.42 บาทต่อเดือนด้วย รวมถึงแรงงานที่ไหลออกนอกระบบยังมีหนี้สะสมอยู่ 30% จึงเกิดปัญหา “แก่ก่อนรวย” ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต่อเศรษฐกิจไทย

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า หากไม่มีนโยบายมารองรับหรือฉุดรั้งแรงงานเหล่านี้เข้าระบบได้ ซึ่งมีการคาดการณ์จากองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า หากตัวเลขแรงงานไทยหายไปจากระบบประมาณ 1.5% ภายใต้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ระดับ 5% จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตเหลือเพียง 3.5% เท่านั้น

“เราต้องหาทางที่จะดึงกลุ่มแรงงานอายุ 45-60 ปี โดยเฉพาะผู้หญิงให้กลับมาที่ตลาดแรงงาน ซึ่งต้องปรับทั้งเรื่องการศึกษาและเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน เพื่อจูงใจกลุ่มนี้”

090861-1927

ทั้งนี้จากการศึกษาด้านโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีนัยต่อการดำเนินนโยบาย สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้หัวข้อ “สังคมสูงวัยกับความท้าทายของตลาดแรงงานไทย” โดยนางสาวณัคนางค์ กุลนาถศิริ เศรษฐกร ธปท.กล่าวว่า รายได้ต่อหัวของไทยและระดับการศึกษาของผู้สูงอายุไทยปัจจุบันตํ่ากว่าประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยไปแล้ว จึงเป็นปัญหา “แก่ก่อนรวย” เพราะจากข้อมูลพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของคนไทยที่มีอายุ 60 ปียังเป็นหนี้ ขณะที่การเตรียมความพร้อมในการรับมือสังคมสูงวัยของไทยยังไม่มีเป็นรูปธรรม ทำให้ปัญหาเกิดกระชั้นชิดและแก้ได้ยาก

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,393 วันที่ 19 - 22 สิงหาคม พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62