The Peacemaker"ดร.ถนัด คอมันตร์"ความทรงจำแห่งอาเซียน เรื่องเล่าผ่านความคิด"อัมรินทร์ คอมันตร์"

18 ส.ค. 2561 | 08:35 น.
The nations of this area are small, we have been divided for many decades, even centuries. Therefore I thought the objective, not only of Thailand, but the nations of this area, should be look towards closer, more effective cooperation among themselves. Get to know one another better, get acquainted and try to find a basis for regional cooperation, for a Southeast Asian consciousness.

IMG_0204 ความตอนหนึ่งซึ่ง ดร.ถนัด คอมันตร์ ได้เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2512 ภายหลังจากความพยายามเพื่อสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สัมฤทธิ์ผลราว 2 ปี พลังแห่งวิสัยทัศน์ที่ไม่ได้ปรากฏเฉพาะเพียงถ้อยคำ ซึ่งได้รับการเรียบเรียงจากสุนทรพจน์ บทสัมภาษณ์ และบทความต่างๆ มากกว่า 1,600 หน้า ในหนังสือที่ระลึกในโอกาสครบรอบ 100 ปี ฯพณฯ ดร.ถนัด คอมันตร์จัดพิมพ์โดยกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนถูกนำมาคัดตัดตอนและจัดแบ่งหมวดหมู่ไว้ในหนังสือ “Dr.Thanat Khoman: The wit & Wisdom of Leading ASEAN Founder” โดย คุณอัมรินทร์ คอมันตร์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาฐานความคิดสู่การปฏิบัติจริงจนปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม ผู้นำปฏิบัติการทางการทูตเข้ามาเปลี่ยนแปลงความคิด เปลี่ยนแปลงสังคม ตลอดจนสร้างมิติการเมืองใหม่ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และที่สำคัญคือเป็นผู้ทำให้ความทรงจำของเดือนสิงหาคม กลายเป็นความทรงจำของประชากรมากกว่า 600 ล้านคนในอาเซียน และความพยายามในการผสานความร่วมมือเพื่อสร้างสันติสุขในภูมิภาคนี้ ทำให้ ดร.ถนัด คอมันตร์ ได้รับการขนานนามว่าเป็น “The Peacemaker” ผู้นำคำว่าสันติภาพมาสู่อาเซียนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ คุณอัมรินทร์ คอมันตร์ กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐเบนินประจำประเทศไทย และนักธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อนท่านคือคนรุ่นใหม่คนแรกที่มองเห็นโอกาสการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยการสร้าง “กองเรือพาณิชย์” ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย 100% เป็นคนแรกในประเทศไทย ด้วยคุณสมบัติการเป็นนักคิด นักพัฒนา รวมถึงการเป็นนักบุกเบิกที่สืบทอดผ่านทางสายตระกูล “คอมันตร์” และในฐานะหลานชาย คุณอัมรินทร์ติดตามการทำงานของ ดร.ถนัด มาอย่างต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่าเป็นหลานที่ “อ่านใจ” ดร.ถนัด ได้อย่างทะลุปรุโปร่งที่สุด การได้มีโอกาสสัมผัส ดร.ถนัด คอมันตร์ ในหลากหลายมิติ ทั้งในฐานะ “คุณอา” ในฐานะ “นักการทูต” และ ในฐานะ “นักธุรกิจ” จึงไม่แปลกเลยว่า หากต้องการทราบเรื่องราวและความคิดของ ดร.ถนัด คอมันตร์ คนแรกที่นึกถึง ต้องเป็นสุภาพบุรุษที่ชื่อ “อัมรินทร์ คอมันตร์” แต่เพียงผู้เดียว

IMG_0185_OK เมื่อปีที่แล้วในฐานะทายาท คุณอัมรินทร์ คอมันตร์ ได้รับเชิญจากรัฐบาลประเทศฟิลิปปินส์ ให้ไปรับเครื่องอิสริยาภรณ์สูงสุดและคำบันทึกสดุดีที่มอบให้ ดร.ถนัด คอมันตร์ ซึ่งทางรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ให้เกียรติอย่างสูงยิ่ง

“แนวทางการทำงานที่คนในตระกูลคอมันตร์ยึดถือมาตลอดคือ การทำงานบนหลักการ บนพื้นฐานการให้ความสำคัญกับประเทศและประชาชน สำหรับท่านถนัด ท่านเป็นคนรักประเทศชาติมาก ท่านรักสถาบัน รักความเป็นไทย รักษาเกียรติของความเป็นไทย ที่สำคัญคือการให้ความสำคัญกับการทำงานด้วยความซื่อสัตย์เป็นที่สุด”

จากคำถามที่ตั้งต้นว่า เพราะอะไรการดำเนินการทางการทูตของไทยในยุคของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ชื่อ“ถนัด คอมันตร์” คือยุคที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ยุคที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มีโอกาสพบปะผู้นำระดับโลก การพบปะซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การกล่าวสวัสดีและทักทายตามมารยาท แต่คือการร่วมปรึกษาหารือ สร้างข้อเสนอและเปิดทางการแก้ปัญหาระดับนานาชาติภายใต้กลวิธีและการปฏิบัติการทางการทูตอย่างแท้จริง  คุณอัมรินทร์ ได้เล่าถึงการค้นพบจดหมายอายุร่วมศตวรรษซึ่งเขียนด้วยลายมือกว่าร้อยฉบับ จดหมายที่พระยาพิพากษาสัตยาธิปไตย บิดาของ ดร.ถนัด คอมันตร์ เขียนถึงลูกชายขณะไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสระหว่างปี 2471-2483 ซึ่งขณะนั้น ดร.ถนัด มีอายุเพียง 14 ปี ว่า เนื้อความในจดหมายแต่ละฉบับนอกจากเล่าถึงสารทุกข์สุกดิบระหว่างพ่อลูกแล้ว จดหมายทุกๆ ฉบับได้แทรกคำสอนอันทรงคุณค่าเพื่อให้บุตรชายที่อยู่แดนไกลสำนึกรู้คุณในบ้านเกิดเมืองนอน เร่งใฝ่หาความรู้เพื่อนำมาพัฒนาประเทศอย่างถูกและควร ดังปรากฏในจดหมายลงวันที่ 14 ตุลาคม 2471 ความตอนหนึ่งว่า

b

“…เวลาที่ลูกอยู่ในปารีสคงสนุกสนานมาก เพราะได้ดู ได้เห็นของต่างๆ แปลกประหลาดซึ่งยากที่บางคนจะไปเห็นได้ เหมือนเช่นพ่อก็ไม่สามารถที่จะไปเห็นได้ เห็นการสิ่งใดต้องจดจำไว้และใช้ความคิดให้ละเอียด ว่าสิ่งนั้นๆ เขาทำเพื่อประโยชน์อะไรและเพราะเหตุใดเขาจึงทำ ที่ทำเช่นนั้นมีประโยชน์แก่เขาอย่างไร มีประโยชน์แก่เราอย่างไร สิ่งใดที่พอจะนำไปใช้ในบ้านเกิดเมืองนอนของเราได้ สิ่งใดใช้ไม่ได้ จึงต้องคิดให้มาก...”

นอกจากนั้นการศึกษาภาษาลาติน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษอย่างแตกฉาน ผสานปริญญาเอกด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ภายหลังการขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี 2502 คือการเปิดทางให้ ดร.ถนัด  คอมันตร์ ได้ใช้ความรู้ความสามารถรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทกับการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศซึ่งเริ่มขึ้นในปีเดียวกันนั้นเอง

“การเมืองระหว่างประเทศในยุคนั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้งอันเป็นผลพวงของสงคราม ความเข้มแข็งของลัทธิทางการเมืองในชาติมหาอำนาจกลายเป็นสถานการณ์ที่ล่อแหลมซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นการกำหนดลำดับของประเทศที่พระองค์เสด็จฯ เยือน ขั้นตอนพิธีการต่างๆ กิจกรรม บุคคลที่เข้าพบ ตลอดจน ทุกกระแสพระราชดำรัส ล้วนแต่มีความหมายและมีนัยถึงการเสริมสร้างสถานะความมั่นคงให้กับประเทศไทยทั้งสิ้น ภารกิจอันใหญ่หลวงนี้นับเป็นการสอดประสานการดำเนินงานทางการทูตร่วมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์โลก”

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ผลจากการติดตามการเสด็จฯในพระราชกรณียกิจทางการทูตนี้เองที่คุณอัมรินทร์ กล่าวว่า ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทำให้การดำเนินงานทางการทูตเพื่อร่วมสร้างความมั่นคงให้กับชาติในอาเซียนซึ่งกำลังประสบปัญหาวิกฤติความขัดแย้งรุนแรงจากการได้รับเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประสบความสำเร็จสูงสุด  เป็นกลุ่มประเทศที่สร้างความมั่นคงร่วมกันภายใต้กรอบความร่วมมือใหม่ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง แต่ยังหมายรวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เกิดเป็น 3 เสาหลักที่แข็งแกร่งให้ทุกชาติในอาเซียน คงสถานะแห่งชาติ พัฒนาทุกขีดความสามารถร่วมกันจนเป็นหนึ่งภูมิภาคที่เข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่งบนแผนที่โลก

“วิธีการทางการทูตของ ดร.ถนัด คือการรู้จักกำลังของตนเอง รู้จักดึงพลังของชาติมหาอำนาจมาใช้ให้เป็นประโยชน์ รู้ว่าตอนไหนควรบุก ตอนไหนควรรุก ตอนไหนควรรับ ตอนไหนควรนิ่งและวางเฉย ต้องรู้จักการอดทนและข่มความรู้สึกเพื่อให้ชาติบรรลุเป้าหมายสูงสุดของการเจรจา”

090861-1927

ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล ได้บรรยายถึงบรรยากาศก่อนการลงนามร่วมก่อตั้ง “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations” หรือ ASEAN ไว้ว่าคือการหารือแบบเป็นกันเองของผู้แทน 5 ประเทศ อันประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ไม่มีพิธีรีตองอะไร นั่งคุยกันไป เหนื่อยก็พัก ออกมาระเบียงบ้าน เดินคุย-ยืนคุยไป ดูทะเลบางแสนไป เปลี่ยนบรรยากาศและสถานที่คุยไปที่สนามกอล์ฟบางพระก็ไป และการหารือตลอด 2 วัน2 คืนโดยมี “ดร.ถนัด คอมันตร์” เป็นผู้ริเริ่ม ด้วยพลังความรู้ความสามารถที่หลอมรวมผ่านการลงไปศึกษาการเมืองระหว่างประเทศอย่างจริงจัง ร่วมกับการปฏิบัติจริงในทุกๆ รายละเอียด ผลสำเร็จจากการปฏิบัติการทางการทูตในวันที่ 8 สิงหาคม 2512 คือการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ไทยในฐานะเสาหลักแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคที่เต็มไปด้วยหมอกควันของปมความขัดแย้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ภายใต้ภาพลักษณ์แห่งสุภาพบุรุษ ความสง่างามในทุกอิริยาบถและถ้อยคำ “ดร.ถนัด คอมันตร์” คือนักการต่างประเทศผู้พิสูจน์ว่า “ความขัดแย้งทุกเรื่องบนโลกใบนี้ ล้วนยุติได้ที่โต๊ะเจรจา” ผู้นำสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง ความมั่นคงในภูมิภาคนี้มาเป็นความทรงจำของอาเซียนอย่างแท้จริง

หน้า 25 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,393 (853) วันที่ 19 - 22 สิงหาคม พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62