"คนแก่ยุค 4.0" อย่าแก่แล้วแก่เลย

17 ส.ค. 2561 | 09:31 น.
170861-1618

… มีเรื่องให้น่าตกอกตกใจอีกแล้ว เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยผลศึกษาเรื่อง "สังคมสูงวัยกับความท้าทายของตลาดแรงงานไทย" ออกมา แล้วพบว่า ไทยเป็นประเทศที่แก่เร็วมาก เพราะสัดส่วนผู้สูงอายุของคนไทยเพิ่มเป็น 2 เท่า โดยใช้เวลาเพียง 20 ปีเท่านั้น ขณะที่ ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้เวลาร่วม 100 ปี

ไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอยู่ในระดับที่ 1 หรือ Aging Society ที่มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 7% มาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับประเทศสิงคโปร์ และอีก 4 ปี คือ ปี 2565 คาดว่าจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยในระดับที่ 2 หรือเรียกว่า Aged Society ที่มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 14% ใกล้เคียงกับประเทศเกาหลีใต้

 

[caption id="attachment_306707" align="aligncenter" width="503"] © Pixabay © Pixabay[/caption]

และภายในปี 2578 ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับที่ 3 หรือเรียกว่า Hyper-Aged Society ที่มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ซึ่งเป็นระดับเต็มรูปแบบและมีความรุนแรงเหมือนประเทศญี่ปุ่นในขณะนี้

ที่บอกว่าน่าตกใจ ก็เพราะถ้าหันมาดูรายได้ประชาชาติต่อหัวของไทยเทียบกับประเทศเหล่านี้ล่ะก็ ห่างไกลกันลิบลับ โดยข้อมูลจากกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศบอกว่า ปี 2560 นั้น สิงคโปร์มีรายได้ประชาชาติต่อหัวที่ 92,642 ดอลลาร์สหรัฐฯ , ญี่ปุ่นอยู่ที่ 38,550 ดอลลาร์สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ 29,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ ไทยเรามีเพียง 5,390 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น

และข้อมูลยังยืนยันชัดเจนว่า ไทยไม่ใช่แค่ประเทศที่ "แก่ก่อนรวย" เท่านั้น แต่ยังเป็นประเทศที่เกือบครึ่งหนึ่งของคนไทยที่มีอายุ 60 ปี ยังเป็นหนี้ เสียดายที่ผลศึกษาไม่ได้ลงลึกว่า หนี้ต่อหัวของคนสูงวัยไทยนั้นสูงเท่าไหร่

 

[caption id="attachment_306708" align="aligncenter" width="503"] © Matthias Zomer © Matthias Zomer[/caption]

ที่เขียนมา ก็เพราะอยากบอกว่า นับเป็นสถานการณ์ที่อันตรายมากทีเดียว ถ้าเราไม่เตรียมตัวอะไรรองรับ ลำพังจะอาศัยเงินงบประมาณจากภาครัฐมาใช้ในการดูแลคนสูงวัยนั้นไม่เพียงพอแน่ ๆ และจากข้อมูลล่าสุด พบว่า จำนวนผู้มีงานทำทั้งหมดของไทยอยู่ที่ 38.67 ล้านคน เป็นลูกจ้างเอกชน 14.84 ล้านคน มีเพียง 3.32 ล้านคนเท่านั้น ที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่า เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเพียงพอกับจำนวนเงินที่จะใช้ในวัยเกษียณหรือไม่

การวางแผนจึงเป็นเรื่องสำคัญและควรเริ่มแต่เนิ่น ๆ เพราะคนเขียนเองขาก็ก้าวไปข้างหนึ่งแล้ว จะย้อนกลับก็ไม่ได้ The Show Must Go On แต่จะทันหรือไม่ ก็ยังไม่รู้


app32329977_s

การคำนวณว่า เราจะมีเงินเพียงพอใช้ในวัยเกษียณหรือไม่ มันยุ่งยากหลายวิธี แนะนำง่าย ๆ ตามสมัยยุค 4.0 และสำหรับคนที่ไม่ชอบคณิตศาสตร์ คือ เดี๋ยวนี้หน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมต่าง ๆ จะพัฒนาแอพพลิเคชันช่วยในการคำนวณ อย่าง K my PVD ง่าย ๆ กรอกตัวเลขเงินออม ค่าใช้จ่าย ลงไป ระบบจะบอกออกมาเองว่า เราจะมีเงินใช้ไปได้อีกกี่ปีหลังเกษียณ

อันนี้มาบอกต่อ ไม่ได้โฆษณาแอบแฝง แต่เพื่อการเตรียมตัว อยากใช้โปรแกรมใครก็เอาที่สบายใจ


……………….
รายงานพิเศษ โดย โต๊ะข่าวการเงิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
รับสังคมสูงวัยไฟเขียวอปท.จ้างงานดูแลคนแก่
เตรียมนับถอยหลัง! 'คนไทย' เตรียมขึ้นอันดับ 1 "สังคมคนแก่" เร็วสุดในอาเซียน


เพิ่มเพื่อน
e-book-1-503x62