สนข.บูมรถไฟฟ้าเชียงใหม่ มีลุ้นใช้ระบบแทรมให้บริการ

17 ส.ค. 2561 | 09:17 น.
สนข.ดีเดย์โหมโรงโครงการรถไฟฟ้ารางเบาเมืองเชียงใหม่ นำร่องสายสีแดงระยะทาง 12 กม.ก่อนเร่งชงครม.อนุมัติให้ดำเนินการ มีลุ้นชงเปิดประมูลปี 62 รูปแบบร่วมทุนพีพีพีโดยรฟม.เป็นเจ้าของโครงการ

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในวันที่ 8-9 กันยายน 2561 นี้จะจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่หลังจากที่ได้ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว

[caption id="attachment_306703" align="aligncenter" width="335"] ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ  ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)[/caption]

โดยตามผลการศึกษาได้เสนอทางเลือก 2 โครงข่าย คือโครงข่าย A วงเงินลงทุน 9.5 หมื่นล้านบาท และโครงข่าย B วงเงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่ละโครงข่ายประกอบด้วยระบบหลัก ระบบรอง และระบบเสริม โดยโครงข่าย A ระบบหลัก เป็นรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา(Light Rail Transit: LRT) 3 เส้นทาง รวมระยะทาง 34.93 กิโลเมตร ได้แก่ สายสีแดง วิ่งแนวทิศเหนือ-ใต้ ระยะทาง 12.54 กิโลเมตร สายสีนํ้าเงิน วิ่งแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ระยะทาง 10.47 กิโลเมตร และสายสีเขียว วิ่งเชื่อมย่านธุรกิจ ระยะทาง 11.92 กิโลเมตร ส่วนโครงข่าย B มีแนวเส้นทางเช่นเดียวกับโครงข่าย A แต่โครงสร้างทางวิ่งเป็นระดับดินทั้งหมด รวมระยะทาง 41.49 กิโลเมตร โดยสายสีนํ้าเงินจะมีเส้นทางอ้อมคูเมืองทางด้านทิศใต้ ไม่พุ่งเข้ากลางคูเมืองเหมือนโครงสร้าง A ส่วนโครงข่าย B สายสีแดง ระยะทาง 15.75 กิโลเมตร สายสีนํ้าเงิน ระยะทาง  11 กิโลเมตร และสายสีเขียว ระยะทาง 14.74 กิโลเมตร
Tram ทั้ง 2 โครงข่ายมีจำนวน 35 สถานี ได้แก่ สายสีแดง 12 สถานี สายสีนํ้าเงิน 13 สถานี และสายสีเขียว 10 สถานี ผลการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์พบว่าโครงข่าย A มีค่า NPV เท่ากับ 2,172,511 ล้านบาท ค่า EIRR 33.74% ค่า B/C 16.51 โครงข่าย B มีค่า NPV เท่ากับ 654,990 ล้านบาท ค่า EIRR 49.57% ค่า B/C 13.76

“จะคัดเลือกโครงข่าย A สายสีแดง นำร่องโครงการดังกล่าวนี้ก่อนเพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบถึงความคืบหน้าและรูปแบบการดำเนินโครงการ มีทั้งโครงสร้างทางวิ่งผสมระหว่างระดับดิน (ในเขตชานเมือง) ที่วิ่งร่วมกับการจราจรปกติบางส่วน เช่นทางแยกและจุดกลับรถ และใต้ดิน (ในเขตเมือง) เนื่องจากข้อจำกัดของเขตทาง และความเห็นของประชาชนชาวเชียงใหม่ที่ต่อต้านโครงสร้างทางยกระดับในเขตเมือง”